เครื่องแต่งกายประติมากรรมเทพอินเดีย อิทธิพลต่อศิลปะพื้นที่เอเชียอาคเนย์

เครื่องแต่งกายประติมากรรมเทพอินเดีย อิทธิพลต่อศิลปะพื้นที่เอเชียอาคเนย์

ส่อง ‘เครื่องแต่งกาย’ บนประติมากรรมเทวรูปอินเดีย แยกความแตกต่างเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ล้วนส่งอิทธิพลต่อศิลปะในพื้นที่เอเชียอาคเนย์ 'สุราษฎร์ธานี' หมุดหมายแรกที่ชาวอินเดียพุทธศตวรรษที่ 8 เดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก

ศ.ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี กล่าวในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เครื่องแต่งกายประติมากรรมอินเดีย ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะในพื้นที่เอเชียอาคเนย์" ว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะพบว่า ในสมัยโบราณ เมื่อคนอินเดียเดินทางออกจากอินเดียครั้งแรก ได้เดินทางมายังดินแดนที่ต่อมาคือจังหวัดสุราษฎร์ธานีของประเทศไทยเป็นจุดหมายแรก และเป็นพราหมณ์ในไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด

“ที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เราพบประติมากรรมพระวิษณุที่เก่าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศิลปะราวสมัยพุทธศตวรรษที่ 8-9 มีลักษณะเดียวกับศิลปะสมัยมถุราของอินเดีย” ศ.ดร.เชษฐ์ กล่าว 

สังเกตได้จากการถือสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ในมือเทวรูป มีความละม้ายกับเทวรูปที่พบในเมืองมถุรา (Mathura) ของ อินเดีย อาทิ พระหัตถ์ซ้ายถือ ‘สังข์’ ไว้ระดับสะโพก เนื่องจากสังข์เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ จึงกำหนดตำแหน่งไว้เบื้องล่าง ขณะที่พระหัตถ์ขวาถือ ‘คฑา’ ในท่วงท่าชูขึ้น เพื่อแสดงถึงอำนาจ

ศิลปะวัตถุของเมืองมถุราได้รับการจัดอันดับให้เป็นศิลปะอินเดียยุคที่สองต่อจากยุคคันธารราฐ (พุทธศตวรรษที่ 6-7) และได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะอินเดียอย่างแท้จริง เรียกขานว่า ‘ศิลปะสมัยมถุรา’ เนื่องจากเทวรูปยุคคันธารราฐได้รับอิทธิพลของศิลปะกรีกและอิหร่านอย่างชัดเจน

เครื่องแต่งกายประติมากรรมเทพอินเดีย อิทธิพลต่อศิลปะพื้นที่เอเชียอาคเนย์ ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี

 

ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความชำนาญด้านศิลปะและประวัติศาสตร์อินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะศิลปะอินเดีย พม่า และเนปาล

“คนอินเดียโบราณทำงานศิลปะตามความเป็นจริงของร่างกายมนุษย์ ที่ไม่ได้มีกล้ามล่ำแบบกรีกโรมัน เห็นอย่างไรก็ปั้นหรือแกะสลักออกมาอย่างนั้น” ศ.ดร.เชษฐ์ กล่าว

เทวรูปอินเดียยุคมธุราจึงมีลักษณะอกแบน ที่เอวถึงกับมีไขมันปริให้เห็นเล็กน้อยตามธรรมชาติที่เกิดจากการใช้ผ้ามัดไว้ตรงเอว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฝีมือการแกะสลักหินและการขัดจนเนียนของช่างอินเดียโบราณ

สำหรับเครื่องแต่งกายหลักๆ ประกอบด้วย พระมาลาทรงกระบอกโบราณ ผ้านุ่งแบบโจงกระเบนและบางเบาเหมือนผ้าเปียกน้ำจนเห็นองคเพศ

เครื่องแต่งกายประติมากรรมเทพอินเดีย อิทธิพลต่อศิลปะพื้นที่เอเชียอาคเนย์ การบรรยาย "เครื่องแต่งกายประติมากรรมอินเดียฯ"

ศิลปะถัดจากสมัยมถุรา คือสมัยคุปตะ นักประวัติศาสตร์ศิลปะยกให้เป็นยุคทองของศิลปะอินเดีย รูปสลักเทวรูปเน้นความเหมือนธรรมชาติ และเน้นความเรียบง่ายของรูปทรงมากขึ้นไปอีก มากถึงขนาดที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นเก่าใช้คำว่า ‘ความบริสุทธิ์ของเส้น’

กล่าวได้ว่า สิ่งใดที่ขัดขวาง ‘ความบริสุทธิ์ของเส้น’ ก็จะลดทอนออก เช่น ส่วนของร่างกายที่เรียกว่า ‘ไหปลาร้า’ ในสมัยนั้นถือเป็นภาพน่าเกลียด รบกวนสายตาและอาจทำให้คนสนใจมากกว่าใบหน้าเทวรูปหรือพระพักตร์พระโพธิสัตว์  เทวรูปยุคคุปตะจึงไม่มีไหปลาร้าให้เห็น

เช่นเดียวกับ ‘เครื่องแต่งกาย’ ยังคงความเรียบง่าย พระมาลาทรงกระบอกโบราณ ผ้านุ่งยังคงดูบางเบาแนบพระวรกายเหมือนเปียกน้ำ แต่เครื่องเพศลดหายไป

เครื่องแต่งกายประติมากรรมเทพอินเดีย อิทธิพลต่อศิลปะพื้นที่เอเชียอาคเนย์

ประติมากรรมเทวรูปอินเดียเน้นเพชรพลอย

 

หลังจากยุคชื่นชมความบริสุทธิ์ของเส้น ศิลปะประติมากรรมเทวรูปอินเดียก็เปลี่ยนอีกครั้งด้วยการประดับเพชรพลอยบนชฎามกุฎ ประดับสร้อยพระศอ พาหุรัด ยัชโญปวีต (เชือกหรือด้ายศักดิ์สิทธิ์คล้องลำตัว) ทำให้เกิดความอลังการบนร่างกายเทวรูปที่เรียบง่าย

การบรรยายครั้งนี้ ศ.ดร.เชษฐ์ ได้สรุปเนื้อหาจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีพ.ศ.2559 เกี่ยวกับอิทธิพลของศิลปะอินเดียในสมัยมถุรา คุปตะ ปัลลวะ และปาละ ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมของเทวรูปต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ อาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรศรีวิชัย เช่น

  • ทรงผมและศิราภรณ์ อาทิ ชฎามกุฎ ชฎาภาร กิรีฎมกุฎ (หมวกทรงกระบอก) ตาบประเภทต่างๆ
  • สร้อยพระศอและยัชโญปวีต อาทิ อชินยันชโญปวีต มุกตยัญโชปวีต 
  • กฏิสูตร เข็มขัด และผ้านุ่ง อาทิ เข็มขัดในศิลปะคุปตะสกุลช่างสารนาถ ศิลปะปาละ โจฬะ เป็นต้น

เครื่องแต่งกายประติมากรรมเทพอินเดีย อิทธิพลต่อศิลปะพื้นที่เอเชียอาคเนย์ หนังสือของ ศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี

 

“ผมศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและประวัติศาสตร์อินเดียมานานกว่า 15 ปีแล้วครับ เพราะศิลปะอินเดียมีเสน่ห์บนความซับซ้อน น่าหลงใหล และน่าตื่นเต้น จะเห็นได้จากการแต่งกายและเครื่องประดับของประติมากรรมต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวอินเดียในสมัยโบราณ ทั้งยังส่งอิทธิพลมาถึงประติมากรรมของเทวรูปและรูปเคารพต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ได้อย่างน่าทึ่ง” ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี กล่าว

การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “เครื่องแต่งกายประติมากรรมอินเดีย ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะในพื้นที่เอเชียอาคเนย์" จัดโดย พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2566  ท่ามกลางความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังมากมายภายในห้องประชุมของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ พร้อมเปิดโอกาสให้ร่วมพูดคุยซักถามในบรรยากาศเป็นกันเอง

 

เครื่องแต่งกายประติมากรรมเทพอินเดีย อิทธิพลต่อศิลปะพื้นที่เอเชียอาคเนย์ นิทรรศการ สิริราชพัตราบรมราชินีนาถ 

ขณะนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังจัดแสดงนิทรรศการ "สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ" พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมสนุกกับการเรียนรู้เรื่องผ้าในห้องกิจกรรม “ปัก : ถัก : ทอ” (Woven Dialects) เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนพระราชกรณียกิจด้านศิลปาชีพกว่า 46 ปี 

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น. บัตรเข้าชมผู้ใหญ่ ราคา 150 บาท ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ราคา 80 บาท นักเรียนหรือนักศึกษา (โปรดแสดงบัตรประจำตัว) และเด็กอายุ 12 - 18 ปี ราคา 50 บาท เด็กอายุต่ำว่า 12 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย