บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6

บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6

บ้านพิษณุโลก เดิมชื่อบ้านบรรทมสินธ์ุ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซื้อบ้านหลังนี้จากพระยาอนิรุทธเทวา และต่อมาใช้เป็นบ้านพักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ค่อยมีนายกรัฐมนตรีคนใดอยากพักที่นี่

ได้ยินได้ฟังเรื่องราว บ้านพิษณุโลก มาเนิ่นนาน เพิ่งมีโอกาสเยี่ยมชมร่วมกับศิษย์เก่าจุฬาฯ แม้ปัจจุบันยังเป็น บ้านพักตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แทบจะไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนอยากพักอาศัยเลย เคยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนพักอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ 

บ้างก็ว่าอาถรรพ์ต่างๆ นานา แต่ด้วยลักษณะบ้านพิษณุโลกที่ดูเป็นทางการ เหมาะกับการเป็นบ้านรับรองแขกบ้านแขกเมืองมากกว่าการพักอาศัย จึงไม่แปลกที่ไม่มีผู้นำคนไหนอยากพักที่นี่

แต่อย่างไรก็ตาม บ้านหลังนี้จำต้องมีการดูแลและบูรณะอยู่เรื่อยๆ เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันงดงามเอาไว้

 

 

  • บ้านพิษณุโลก สร้างพร้อมตึกไทยคู่ฟ้า(บ้านนรสิงห์)

บ้านพิษณุโลก เดิมชื่อ“บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นบ้านพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) บุตรชายของ พระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ)

ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ คัดเลือกให้เป็น “แม่นม” ถวายแด่ทูลกระหม่อมโต เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ว่ากันว่าบ้านบรรทมสินธุ์ สร้างขึ้นพร้อมกับ “บ้านนรสิงห์” ของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ปัจจุบันคือตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงวางผังด้วยพระองค์เอง โปรดเกล้าฯ ให้มาริโอ ตามาญโญ นายช่างสถาปนิกชาวอิตาลีที่เข้ามารับราชการในกระทรวงโยธาธิการ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ 2465-2467 

บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6 บ้านพิษณุโลกทางทิศใต้ เชื่อมกับเรือนเย้าใจ

 

ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงบ้านบนพื้นที่ 50 ไร่ ประกอบด้วยอาคารประธาน เรียกกันว่า “ตึกไทยพันธมิตร” และอาคารบริวาร อาทิ เรือนเย้าใจมีสะพานทอดเชื่อมจากอาคารประธาน เป็นที่ฝึกซ้อมบทละครพระราชนิพนธ์ เรือนคู่ใจ ตึกธารกำนัล เรือนกลัมพากร ฯลฯ

  • ตึกธารกำนัลเคยใช้เป็นสถานที่ดูการแข่งขันฟุตบอล

ในประวัติกล่าวไว้ว่ามีการสร้างตึกธารกำนัลก่อน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอล ที่สนามหน้าอาคารทางฝั่งซ้ายของอาคารประธาน โดยตึกธารกำนัลจะอยู่ทางทิศตะวันตกเป็นทิศที่แสงจะไม่แยงตาในยามบ่าย หลังจากนั้นจึงสร้างอาคารประธาน

บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6 ตึกธารกำนัล เคยใช้เป็นสถานที่ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอล

บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6 สถาปัตยกรรมด้านในตึกธารกำนัล

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.พีรศรี มีความเห็นว่าอาคารที่ก่อสร้างก่อน น่าจะเป็นเรือนเย้าใจและเรือนคู่ใจ อาคารเล็กๆ 2 หลังที่เจ้าของบ้านใช้เป็นที่พักอาศัย อยู่ชิดขอบที่ดินทางด้านหลัง ขณะที่เรือนประธานจะสร้างอยู่ริมถนน

โดยเทียบรูปแบบการใช้งานกับบ้านพิบูลธรรม บ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพลังงาน ที่เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ยศเส ที่นั่นมีเรือนหลังใหญ่ใช้เป็นโรงละคร เจ้าของบ้านจะพักอาศัยอยู่ที่เรือนอีกหลัง เชื่อว่าที่นี่ก็เป็นในลักษณะเดียวกัน

ตึกธารกำนัล นอกจากเป็นที่ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลแล้ว ยังเป็นที่ซ้อมละครในบางโอกาส และเป็นสถานที่รอเฝ้า โดยเหล่านางกำนัลผู้ติดตามจะรวมกันอยู่ที่นี่ก่อนจะมีเรือนพัก 39 คูหาที่รายล้อมอยู่ทางด้านหลังนอกเขตบ้าน ซึ่งบริเวณด้านข้างของอาคารทางตะวันตกในอดีตจะมีประตูทางเข้าออกของข้าราชบริพาร

  บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6

  • “บ้านพิษณุโลก”ประติมากรรมสไตล์อิตาเลียน

ถ้าจะเล่าถึงที่มาของชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” ว่ากันว่า ตั้งตามประติมากรรมสไตล์อิตาเลียนรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบ้าน ที่ด้านหน้าของอาคารประธานหลัก ในช่วงสงครามโลกครอบครัวอนิรุทธเทวาย้ายไปพักอาศัยที่วัดตำหนักเหนือ เลยปากเกร็ดไปทางอยุธยา

ในช่วงนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องการบ้านพักรับรองนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นมีข่าวว่าจะมาเยือนไทย จึงติดต่อขอซื้อบ้าน พระยาอนิรุทธเทวาขายให้เพียงบางส่วนคือในส่วนของบ้านบรรทมสินธุ์ในปัจจุบัน โดยในส่วนของโรงพยาบาลมิชชันในปัจจุบันขายให้นายแพทย์ฝรั่งหลังสงครามโลกสงบลง

ต่อมาบ้านบรรทมสินธุ์ถูกใช้เป็นที่ทำการกรมประสานงานไทยญี่ปุ่น มีการเปลี่ยนชื่ออาคารประธานเป็น “ไทยพันธมิตร” และเปลี่ยนชื่อบ้านเป็น “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนน

บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6

  • สถาปัตย์งดงามบ้านพิษณุโลก

บ้านบรรทมสินธุ์เป็นงานออกแบบของมาริโอ ตามาญโญ นายช่างสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในสยามประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นสถาปนิกที่ฝีมือดี สามารถผสมผสานความรู้เรื่องวัสดุโครงสร้างสมัยใหม่อย่างคอนกรีต เหล็ก กระจก เข้ากับงานสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ได้อย่างงดงามหลากหลาย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม ตึกไทยคู่ฟ้า วังปารุสกวัน ทำเนียบรัฐบาล พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และห้องสมุดนีลเซนเฮส์ เป็นต้น

สำหรับอาคารประธานที่บ้านบรรทมสินธุ์นั้น ผศ.ดร.พีรศรี อธิบายว่าเป็นสไตล์เวเนเชียนกอธิค (Venetian Gothic Architecture) คือกอธิคในแบบเมืองเวนิส

มีลักษณะพิเศษคือ มีรายละเอียดการตกแต่งที่ระยิบระยับ ประณีตสวยงาม เช่น การใช้เสาเกลียวทรงผอมเข้ามาตกแต่งผนังอาคารด้านนอก ผสานกับชายคาที่ยื่นออกมาเป็นกันสาดซึ่งเป็นการปรับรูปแบบให้เข้ากับสภาพอากาศของเมืองไทย

บนยอดอาคารมีเสาเล็กๆ เรียงต่อกันเหมือนรั้วกำแพงเชิงเทิน (parapet) อันเป็นสไตล์เฉพาะของการตกแต่งที่ขอบหลังคา รวมถึงการตกแต่งหน้าต่างด้วยการทำโค้งยอดแหลมและช่องกระจกทรงกลมมีรอยหยักคล้ายกลีบดอกไม้

“ลักษณะการทำซุ้มมีหลังคาโดม (ชั้นบนสุดของอาคาร) ยังเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของกอธิคแบบเวนิส เพราะเวนิสเป็นประตูไปสู่เอเชียของยุโรป จึงได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตุรกีหรือโลกอาหรับ ซึ่งไม่มีในกอธิคที่อื่นอย่างในฝรั่งเศสหรือเยอรมัน” ผศ.ดร.พีรศรี กล่าว

ในสมัยรัชกาลที่ 6 งานสถาปัตยกรรมเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว งานโดยมากจะมีความเรียบ ไม่มีการตกแต่งมากมาย เช่น เรือนเย้าใจที่การออกแบบกันสาดเป็นแบบเรียบ ๆ และมีการใช้วัสดุสมัยใหม่เป็นคอนกรีต ราวกันตก ซีเมนต์หล่อ ลาดลายของลายฉลุที่ตกแต่งภายในห้องยังเป็นลายไม่มาก ซึ่งถ้าเป็นงานสมัยรัชกาลที่ 5 จะค่อนข้างฉวัดเฉวียน

บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6

  • บ้านพิษณุโลก เรือนพักนายกรัฐมนตรี

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 รัฐบาลได้กำหนดให้ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้ง ในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่ง 3 สมัยปีพ.ศ.2523-2531) ได้ดำเนินซ่อมแซมเพื่อใช้เป็นบ้านพัก 

หลังจากที่ พล.อ.เปรมย้ายเข้าไปพักได้เพียง 7 คืนก็ย้ายกลับไปพักบ้านสี่เสาเทเวศน์เหมือนเดิม โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ

จากนั้นในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย พ.ศ.2531-2534) มีการบูรณะตกแต่งบ้านพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นที่ทำงานของทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก

แต่ถูก คณะ รสช.กล่าวหาว่า รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และในการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534คณะ รสช.ก็ได้เข้ายึดและตรวจค้นบ้านพิษณุโลกอย่างละเอียด

บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีผู้นำอยากอยู่ สร้างในสมัยร.6 สมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี(พ.ศ.2534-2535) ท่านได้แสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าพำนักที่บ้านพิษณุโลก แต่ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกต่างบ้านต่างเมือง ต่อมาสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี (เม.ย.-พ.ค. 2535) ก็ไม่ได้ย้ายมาพำนักที่บ้านพิษณุโลกแต่อย่างใด

สมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี (2 สมัย พ.ศ.2535-2538 และ พ.ศ. 2540-2544) เคยพำนักอยู่ในบ้านหลังนี้ได้นานกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ และช่วง พ.ศ.2538 รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2538-2539) บ้านพิษณุโลกไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์มากนัก

สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ย.2539-พ.ย.2540) รัฐบาลได้ดำเนินการซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อจะเปิดใช้บ้านพิษณุโลกอีกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าพัก และล่าสุดปี 2565 นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ปฎิเสธการเข้าพักบ้านพิษณุโลก

.............

-จากกิจกรรมในวาระเปิด CU Alumni Connex คอมมูนิตี้เล็กๆ สำหรับสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ  กิจกรรมแรกศึกษาสถาปัตยกรรม “บ้านพิษณุโลก -วังพญาไท" เมื่อวันที่ 14 พย.65  และจะมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมา

-ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม : บ้านพิษณุโลก สถาบันพระปกเกล้า