ตัดใจทิ้งอะไรไม่ค่อยได้ ระวังเข้าข่ายป่วยเป็น ‘โรคชอบสะสมสิ่งของ’

ตัดใจทิ้งอะไรไม่ค่อยได้ ระวังเข้าข่ายป่วยเป็น ‘โรคชอบสะสมสิ่งของ’

ถ้าหยุดสงกรานต์แล้วได้จัดบ้าน แต่กลับพบว่า ไอ้นี่ก็ทิ้งไม่ได้ ไอ้นั่นก็ทิ้งไม่ลง ลองสำรวจว่าเข้าข่าย ‘โรคชอบสะสมสิ่งของ’ หรือไม่?

วันหยุดสงกรานต์ นอกจากจะเป็นเทศกาลดีๆที่เราได้พักผ่อน และใช้เวลาร่วมกับครอบครัวแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รีเซ็ตสิ่งรอบตัว สำรวจที่พักอาศัย โดยเฉพาะการจัดการทำความสะอาดทิ้งของที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้บ้านหรือคอนโดต้องรกจนเกินไป

การจัดบ้านให้เรียบร้อย เป็นประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้บ้านง่ายต่อการทำความสะอาด เพิ่มพื้นที่ใช้สอย รู้จักลำดับความสำคัญในชีวิต ทำให้เรามองเห็นตัวตน รสนิยมของเรามากขึ้น

แต่ถึงเช่นนั้น สิ่งที่ใครต่อใครไม่อยากจะเจอในระหว่างที่จัดเก็บบ้าน นั่นคือความรู้สึกที่ว่า ไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งไหนลงได้เลย ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้ ที่ต้องชวนทำความเข้าใจและสำรวจตัวเองว่า คุณเข้าข่ายเป็นโรคชอบสะสมของหรือไม่”

โรคชอบเก็บสะสม หรือ Hoarding Disorder

นี่ไม่ใช่ชื่อที่คิดมาเพื่อเท่ๆ หรือพูดกันเล่นๆ เพราะอาการอยากเก็บของทุกอย่างเอาไว้ ไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งไหนลงได้เลยมีขึ้นจริงๆ สำหรับบางคน

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของหรือที่เรียกว่า Hoarding Disorder นั้น เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากเก็บของทุกอย่างเอาไว้ ไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งไหนลงได้เลย ซึ่งแรงจูงใจในการเก็บสิ่งของ ประกอบไปด้วย

  • คิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ที่สามารถเก็บไว้ใช้งานในอนาคตได้
  • มีปัญหาเรื่องการแยกแยะ ว่าสิ่งใดจำเป็นหรือไม่
  • บางสิ่งเก็บมาปนกันไม่มีหมวดหมู่ จนบ้านรกหรือกินพื้นที่ใช้สอยในบ้านไปหมดจนกระทั่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและคนในครอบครัว บางครั้งส่งกลิ่นเหม็นที่ทำให้เกิดปัญหาไปยังบ้านข้างๆ อีกด้วย

สาเหตุของโรค

ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้น้อย แต่พบว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดหลักๆ คือ

  • โรคทางพันธุกรรม เนื่องจากร้อยละ 50 ของคนที่เป็นโรคพบว่าคนในครอบครัวก็เป็นโรคนี้ด้วย
  • การบาดเจ็บทางสมอง กลุ่มบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้าจนถึงสมองส่วนกลาง มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและกลายเป็นโรค Hoarding disorder
  • โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่อาการจะแสดงชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงวัย 30 ปี ข้าวของเครื่องใช้จะเยอะขึ้น และเริ่มแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยไม่ยอมทิ้งอะไรเลย โดยจะเก็บเอาไว้จนบ้านรก ตรงข้ามกับคนทั่วไปที่ส่วนใหญ่ในวัยนี้จะเริ่มแยกแยะของเพื่อทิ้งและเพื่อเก็บ แต่ผู้ที่ป่วยจะตัดใจทิ้งสิ่งของได้ยาก เพราะคิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ต่อตนเองอยู่

ทั้งนี้สำหรับสิ่งของที่ผู้ป่วยเลือกเก็บ ก็จะเป็นสิ่งของทั่วไปไม่ได้มีค่าหรือมีราคาอะไร เช่น หนังสือ นิตยสาร เสื้อผ้า ขวดพลาสติก ขวดน้ำ ถุงพลาสติก เป็นต้น

การรักษา

  • ให้ยาที่จะช่วยปรับสารเคมีในสมองเกี่ยวกับวิธีคิด
  • รักษาได้ด้วยการบำบัด พฤติกรรมและความคิด เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาในเรื่องของการแยกประเภท ก็ต้องปรับความคิดใหม่เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วย อาจเป็นการให้เหตุผลและอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยยอมตัดใจทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็น
  • ให้ผู้ป่วยลำดับความสำคัญของสิ่งของเพื่อแยกประเภทออกจากกัน อันไหนทิ้งอันไหนควรเก็บต่อไป

คุณเข้าข่ายมีอาการชอบสะสมของมากน้อยแค่ไหน

  • เก็บของไม่จำเป็นเอาไว้เยอะมาก จนคนอื่นทัก แต่เรามักคิดว่ามันสมเหตุสมผล
  • มีความกังวลและไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะต้องทิ้งข้าวของชิ้นไหนบ้าง และมักจะคิดเสมอว่า ยังอาจจะจำเป็นต้องใช้งาน จนรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องทิ้งข้าวของเหล่านั้น
  • ไม่สามารถจัดเรียงข้าวของภายในบ้านให้เป็นระเบียบ หรือเป็นหมวดหมู่ได้
  • หวงของที่เก็บไว้ ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาหยิบจับ
  • รู้สึกแย่กับสิ่งพฤติกรรมนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

สงกรานต์นี้ถ้าได้มีโอกาสจัดบ้าน และพบว่าลิสต์ที่กล่าวมาตรงกับคุณมากกว่า 2 หรือ 3 ข้อ ขอให้คุณเฝ้าระวังไว้เพราะไม่แน่ว่าคุณอาจเข้าข่าย โรคชอบสะสมสิ่งของก็เป็นได้

อ้างอิง : ชอบเก็บสะสมสิ่งของ ถือเป็นโรคทางจิตที่ควรรักษา