สวนผักของ"หนูดี"และพี่โพ บันทึกคนเมืองหัดปลูก"ผักอินทรีย์"

สวนผักของ"หนูดี"และพี่โพ  บันทึกคนเมืองหัดปลูก"ผักอินทรีย์"

หลายปีที่แล้ว "หนูดี"จ้างผู้จัดการสวนผักเดือนละห้าหมื่น เพราะอยากให้เด็กๆ เรียนรู้จากมืออาชีพ แต่ไม่เป็นอย่างที่คิด ในที่สุดรู้แล้วว่า จะปลูกผักต้องลงมือทำด้วยตัวเองและหาความรู้

"ตอนทำโรงเรียน หนูดีคิดว่า ถ้าไม่มีความรู้ ก็จ้างคนมีความรู้ ตอนนั้นจ้างผู้จัดการสวนผัก เดือนละห้าหมื่นบาท แม่ก็ถามว่า “ต้องขนาดนี้เลยหรือ”

สุดท้ายเขาพยายามปรับโน้นนี่ ก็เลยอยู่ด้วยกันไม่ได้ นอกจากเสียเงิน ยังทิ้งสวนที่เราทำไม่เป็นไว้อีก...“หนูดี-วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เจ้าของโรงเรียนวนิษา 2 สาขา ผู้เขียนหนังสือ อัจฉริยะสร้างได้ และดร.พสุธ รัตนบรรณางกูร คู่ชีวิต มาร่วมกันเล่าเรื่อง (ผ่านZoom) หัวข้อการบริโภคอาหารปลอดภัยและการทำสวนผัก ในเมืองอย่างจริงจังในเทศกาล “หมุนเวียน/เปลี่ยนเมืองครั้งที่ 1” จัดที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ

ทำสวนแบบคนรวยหรือเปล่าเนี่ย...

หนูดียอมรับว่า เริ่มแรกที่ทำสวนผัก วิธีที่เธอใช้ไม่ได้ถูกต้องนัก ตอนนั้นคิดว่าไม่มีความรู้ ก็จ้างมืออาชีพมาให้ความรู้เด็กๆ ทำได้สองเดือน ผู้จัดการสวนก็จากไป

“รู้เลยว่า ความรู้ต้องมาจากตัวเรา อย่าใช้เงินแก้ปัญหา จากเหตุการ์นั้นใช้เงินให้น้อยที่สุด ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เยอะ”

5 ปีที่แล้ว เมื่อหนูดีและดร.พสุธ ตัดสินใจว่า จะปลูกผักกินเอง ทั้งสองออกไปเรียนรู้หลายแห่ง ทั้งสวนผักบ้านคุณตา สวนผักดาดฟ้าเขตหลักสี่ ดูยูทูป อ่านหนังสือ จนค้นพบเคล็ดลับ

สวนผักของ\"หนูดี\"และพี่โพ  บันทึกคนเมืองหัดปลูก\"ผักอินทรีย์\"

“เราเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นดินโอชะ เลี้ยงผักในสวน เราได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง”

เมื่อทั้งสอง เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง 60 ตารางวาในกรุงเทพฯ ปลูกผัก ก็มีคนถามว่าคุ้มค่าหรือ เอาเงินไปซื้อผักไม่ถูกกว่าหรือ

ดร.พสุธ หรือพี่โพ คู่ชีวิตหนูดี มองว่า ถ้าคิดเป็นมูลค่าตัวเงิน การซื้อผักถูกกว่า เพราะการทำสวนต้องใช้เงิน แต่มีค่าใช้จ่ายที่เราไม่ได้คิด (สุขภาพ)

"สิ่งที่เราได้คือ สุขภาพจิตที่ดี ในขณะที่คนส่วนใหญ่เครียด ออกไปชอปปิ้ง เราปลูกผักช่วงโควิดไม่ต้องซื้อผักจากข้างนอกเลย"

สวนผักของ\"หนูดี\"และพี่โพ  บันทึกคนเมืองหัดปลูก\"ผักอินทรีย์\"

ไลฟสไตล์ปลูกผักแบบหนูดี

สำหรับหนูดีแล้ว การปลูกผักไม่ได้เป็นแค่อาหาร แต่เป็นไลฟสไตล์ งานอดิเรก ทำค่อนข้างจริงจัง ไม่ได้ออกไปไหนเป็นเดือนๆ ก็มีผักกิน

“แรกๆ ที่ปลูกผัก หนูดีเน้นเมล็ดผักที่ไม่ค่อยมีคนปลูก 10 ปีที่แล้วคนไทยไม่พูดถึงผักเคลเลย เราซื้อเมล็ดพันธุ์แปลกๆ มา 5ปีที่แล้วลองปลูกแครอทดำ ตอนถอนใบใหญ่โตมาก แต่หัวแครอทนิดเดียว

หลังจากนั้นเราเรียนรู้ว่า ไม่ใช่แค่ปลูกที่ชอบกิน กินที่ปลูก ปลูกตามฤดูกาล ต้องปลูกพืชตามทักษะที่เราเรียนรู้ด้วย คนเมืองที่ไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรตัวจริง สิ่งที่เราไม่มีคือ ความสามารถ เวลา และที่ดิน

พอทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ความรู้ที่อ่านหรือฟังมา ทุกวันนี้เรารู้แล้วว่า ปลูกผักชนิดไหน รอดแน่ๆ ผักชนิดไหนเหมาะกับฤดูกาล เราเคยคิดจะก้าวข้ามข้อจำกัด หน้าร้อนมีคนบอกว่าปลูกผักชนิดนี้ไม่ได้ ก็ลองหาตัวช่วย ในที่สุดก็แพ้ธรรมชาติ เพราะไม่ได้ปลูกในเรือนควบคุมทุกอย่าง"

ตามประสาคนเมือง หนูดียอมรับว่า ปลูกแคสตัสยังตายเลย จนได้ฉายา เพชรฆาตแคสตัส แต่เมื่อหันมาปลูกผักจริงจัง ก็มีผักกินทั้งปี ส่งให้เพื่อนได้ด้วย แต่ผักจะหน้าตาไม่สวย เพื่อนๆ ก็กินกันทุกคน เพราะรู้ว่าเป็นผักอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วน ดร.พสุธ พอเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น ว่างจากงานประจำ ก็หัดหมักดิน จึงไม่จำเป็นต้องซื้อดินหรือปุ๋ย

“สิ่งที่เราทำคือ นำเศษอาหารในครัวเรือน ใบไม้จากสวน มาหมักเป็นดิน จนใบไม้ในบ้านไม่พอหมักดิน ต้องบอกเพื่อนบ้านว่า ถ้าจะทิ้งเศษใบไม้ เอามาให้เรา แล้วเราก็เอาผักไปให้เขา”

ก่อนหน้านี้ หนูดีก็ปลูกผักชนิดเดียวบนแปลงยาวๆ เมื่อกินไปพักหนึ่ง ผักที่เหลือในแปลงแก่ กินไม่ทัน

"ตอนนี้เลิกปลูกผักทีเดียวทั้งแปลง ค่อยๆ ปลูก สองอาทิตย์ปลูกไป 20 เปอร์เซ็นต์ โตพอที่จะกินและตัดแจกไปเรื่อยๆ ”หนูดีเล่า

สวนผักของ\"หนูดี\"และพี่โพ  บันทึกคนเมืองหัดปลูก\"ผักอินทรีย์\"

ปลูกดอกไม้ เรียกผีเสื้อ

อีกแรงบันดาลใจที่ทั้งสองได้จากการไปเที่ยวบ้านไร่ไออรุณ จ.ระนอง ก็คงจะเป็นเรื่องการปลูกดอกไม้ในสวนผัก และนำดอกไม้มาปักแจกัน

“เมื่อเราปลูกดอกไม้หลายๆ ชนิด ผีเสื้อและผึ้งเมือง ก็มีจุดพักหาอาหารในเมืองใหญ่ ผลที่เราได้รับก็คือ ผลิตผลของเราที่ต้องใช้ผึ้งผสมเกสร ดีขึ้นเยอะมาก ”หนูดี เล่า ส่วนดร.พสุธ เล่าต่อว่า เราจริงจังมากในการสร้างระบบนิเวศน์ แม้จะมีพื้นที่ 60ตารางวา เราพยายามปลูกพืชและดอกไม้หลากหลาย

"ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่กำจัดวัชพืช ปล่อยไว้คลุมดิน เราก็พบว่าสวนผักของเรา มีสัตว์หลากหลาย ทั้งแมลง นก คางคก พวกมันช่วยควบคุมกันเอง เห็นชัดเลยว่าระบบนิเวศน์ดีขึ้น ศัตรูพืชน้อยลง”

สวนผักของ\"หนูดี\"และพี่โพ  บันทึกคนเมืองหัดปลูก\"ผักอินทรีย์\"

ปลูกผักภายใต้ข้อจำกัด

เรื่องการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ทั้งสองทำมาอย่างต่อเนื่อง ตอนหนูดีไปเรียนปลูกผักที่อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เขาสอนว่าให้คิดอย่างคนจน คนไม่มีเงินที่มีข้อจำกัดทุกอย่าง แล้วดูว่าข้อจำกัดที่มากสุด จะหาทางออกได้อย่างไร

“ตอนเริ่มตั้งสวนผักใหม่ๆ อะไรที่ญาติพี่น้องไม่ใช้ เราก็ขอรับบริจาค นำมาใช้ในสวน ทำยังไงให้เปลืองน้อยที่สุด ตอนนั้นอยากทำดิน ก็คิดถึงเครื่องทำดิน ไปสอบถามราคา 7 หมื่นบาท แต่เราก็คิดว่าแค่ทำดิน ต้องไม่ใช้เงินเป็นหมื่น”

เมื่อคิดภายใต้ข้อจำกัด จึงเป็นหน้าที่ของดร.พสุธ เขาหาลวดตาข่ายมาล้อมเป็นวง มีไม้ไผ่ค้ำยัน เพื่อใช้ใส่เศษอาหาร ใบไม้ ลังกระดาษ อะไรที่ย่อยสลายได้

"ใช้เงินแค่ร้อยกว่าบาท ไม่ต้องดูแล คอยลดน้ำไม่ให้แห้ง สองเดือนก็กลายเป็นดิน ตอนนั้นเราทำวงบ่อ 5 วงใช้เงิน 500 บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับใบไม้และเศษอาหารทั้งหมด นำมาทำปุ๋ยและดิน"

“5ปีแล้วที่เราไม่เคยทิ้งขยะเปียกจากเศษอาหารในบ้านไปสู่การฝังกลบเลย หนูดีคิดว่า ถ้าอยากเริ่มต้นเป็นเกษตรอินทรีย์ในเมือง ให้คิดแบบคนไม่มี ลงมือสเต็บแรกแบบง่ายๆ ” หนูดี เล่า

สวนผักของ\"หนูดี\"และพี่โพ  บันทึกคนเมืองหัดปลูก\"ผักอินทรีย์\" (ภาพทั้งหมดจากเพจ From Farm to Fork – Bangkok)

ชีวิตที่ปกติ คือชีวิตที่มีความสุข

ในฐานะเจ้าของโรงเรียนวนิษา ที่เน้นเสมอว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ถ้าจะปลูกฝังให้เด็กปลูกผัก หนูดี บอกว่า ควรสอนให้เด็กมีไลฟ์สไตล์ปลูกผัก เพื่อให้เขาเห็นตัวเลือกในชีวิตที่มีความเรียบง่าย สงบและความสุข

“สำหรับหนูดี ชีวิตที่ปกติ คือชีวิตที่มีความสุข ตื่นมายังใช้ชีวิตปกติได้ การปลูกผักทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตปกติทุกวัน อันนี้สำคัญมากๆ

ตอนปลูกผักกับเด็กๆ ที่โรงเรียนวนิษา สาขารังสิต เด็กบางคนไม่ชอบกินผักเลย พอปลูกผักเอง เขากินผักจากต้นไปยันรากเลย

ถ้าเราอยากให้เยาวชนรุ่นต่อไป มีความผูกพันกับดิน หวงแหนดิน มีความตื่นเต้น มีความภูมิใจที่จะกินพืชผัก ต้องให้เขาคลุกคลีและปลูกผักเอง"

แม้จะคุยเรื่องผักๆ ก็อดไม่ได้ที่จะโยงถึงเรื่องราวในชีวิต ทั้งสองเลือกที่จะไม่มีลูก โดยมีความคิดว่า

"เราพยายามทำชีวิตให้ดีที่สุด ให้เด็กคนหนึ่งมองมาแล้วเห็นเรา เป็นอีกทางเลือกในชีวิต เพราะชีวิตแบบเราคนทั่วไปก็ไม่เลือก

คำว่า ความสุขกับความสำเร็จในชีวิต เราต้องนิยามเอง แบบอย่างชีวิตของเรา อาจเป็นตัวเลือกให้เด็กๆ เห็นว่า ชีวิตแบบนี้ก็มีอยู่ในโลก"

............

ใครอยากรู้ว่า หนูดีและพี่โพ ปลูกผักอย่างไร ดูได้ที่เพจ From Farm to Fork – Bangkok