“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”

“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”

ในช่วงเดือนเมษายน นอกจากเป็น “วันสงกรานต์” แล้ว ยังเป็นที่รับรู้กันดีว่านี่คือ “วันผู้สูงอายุ” อีกด้วย สังคมสูงวัยหน้าตาเป็นอย่างไร? การเป็นสังคมสูงวัยนั้นเกิดผลกระทบมากน้อยต่อตัวเราเพียงใด ต้องติดตาม

โลกกำลังก้าวสู่ สังคมสูงวัย อย่างเต็มตัว รวมถึงประเทศไทยเอง ที่มีการคาดการณ์ในปี 2565 นี้ เป็นปีที่ผู้สูงอายุมีมากกว่า 13 ล้านคน นั่นแสดงว่า เราได้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออก สังคมสูงวัยหน้าตาเป็นอย่างไร? ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ว่าการเป็นสังคมสูงวัยนั้นเกิดผลกระทบมากน้อยต่อตัวเราเพียงใด แต่อย่าลืมว่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราเองล้วนต้องเป็นหนึ่งในผู้สูงอายุด้วย..เช่นกัน

ข้อจำกัดสำคัญของความสูงวัยคือความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ด้วยไม่มีสุขภาพร่างกายที่กำลังถดถอย ไม่สมบูรณ์แข็งแรงเช่นวัยหนุ่มสาว ทำให้ผู้สูงอายุจำต้องเป็นคนที่พึ่งพาคนอื่นมากขึ้น ทั้งในแง่แรงกาย หรือแม้แต่เศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบัน ไทยมี ผู้สูงอายุ ที่ต้องพึ่งพิงไม่น้อย ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของด้านสุขภาพใจ สังคม ภูมิปัญญา และสภาพแวดล้อม ที่จำเป็นต้องถูกนำมาคำนวณรวมด้วยว่า เป็นสุขภาวะที่ผู้สูงวัยควรพึงมี ทว่าปัจจุบัน สังคมไทยยังมีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังไม่น้อย และบางรายอาจต้องเลี้ยงตัวให้รอดอย่างยากลำบาก

มีรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2563 พบปัญหาในผู้สูงอายุที่สำคัญ ด้านสุขภาพพบว่า ร้อยละ 95 มีโรคเรื้อรังต่างๆ แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ ด้านเศรษฐกิจร้อยละ 34.3 เป็นผู้สูงอายุที่ยากจน ด้านสังคมมีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวลำพังในครัวเรือน ร้อยละ 10.8 และร้อยละ 23.3 อยู่ลำพังกับคู่สมรส ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้านสภาพแวดล้อมพบว่า ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตก หกล้มปีละ 900- 1,000 คน

ดังนั้น ก่อนที่จะสายเกินไป เราทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมในการออกแบบสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ และหันมาเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เดินหน้าไปสู่สังคมแห่งความสุขเสียตั้งแต่เนิ่นๆ วันนี้

หากย้อนไปยี่สิบปีที่แล้ว ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ผู้สูงอายุ ภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2545 และประกาศพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ออกมาบังคับใช้ เพื่อให้การคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนผู้สูงอายุตามสิทธิที่พึงได้รับ แต่การดำเนินงานด้านผู้สูงอายุที่ผ่านมายังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศให้สังคมสูงวัยเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ มอบหมายให้หน่วยงานหลักใน 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงาน

การจะสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ “การเรียนรู้งานระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับพื้นที่” ก็เป็นอีกแนวทางสำคัญที่ควรศึกษา และถูกนำมาถอดบทเรียน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสังเคราะห์พัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยที่สร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่นโยบายผู้สูงอายุระดับชาติ

“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”

ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้นำคณะผู้บริหารกรรมการกองทุน สสส. สำนักงานผู้ตรวจการแผนดิน (สผผ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ที่เทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

ทำไมเราต้องดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ เพราะครั้งหนึ่งเราเคยไปศึกษาดูงานที่พื้นที่หนึ่งในจังหวัดเชียงรายแล้ว ได้ทราบเรื่องราวของผู้สูงอายุรายหนึ่งที่กระโดดน้ำตาย เพราะรู้สึกโดดเดี่ยว ลูกหลานไม่ดูแล ทำให้เรากลับมาดูในชุมชนของเรา พบว่าชุมชนเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุถึง 1,272 คน เราก็ไม่อยากให้ผู้สูงอายุในตำบลของเราเป็นเหมือนที่เราได้รับฟังมา” ลัดดา ไชยชนะ นายกเทศมนตรีตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เล่าถึงที่มาพัฒนาให้ตำบลสองแควไปสู่เป้าหมาย “ตำบลแห่งความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิต สังคมแห่งจิตอาสา รู้คุณค่า สมานฉันท์ แบ่งปัน เอื้ออาทร” 

ตำบลสองแคว มีพื้นที่ 8.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,818 ไร่ แบ่งการปกครอง 8 หมู่บ้านพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นราบลุ่ม ตั้งชุมชนอยู่ริมแม่น้ำขาน ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เป็นชุมชนสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว เพราะมีผู้สูงอายุสัดส่วนมากถึงร้อยละ 25 จึงมีแนวคิดในการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุสู่ความเป็นเลิศ โดยได้มีการดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน

เราเริ่มวางแผนงานด้วยการทำวิจัยผู้สูงอายุในตำบลว่าเขามีปัญหาเรื่องใดและต้องการสิ่งใดบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ อาชีพ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย การเข้าไม่ถึงในเรื่องการออม และต้องการสถานที่ออกกำลังกาย

“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”

การพัฒนาระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ ขับเคลื่อนด้วยศักยภาพชุมชนท้องถิ่น

หลังทราบปัญหาที่แท้จริงของผู้สูงอายุในตำบลเรา จึงได้มาทำงานวางแผนร่วมกับท้องที่และท้องถิ่นในชุมชน ทั้งฝ่ายสาธารณสุข การศึกษา วัด เรานำมาเป็นเครือข่ายที่ประชุมวางแผน เราจึงได้ระบบการดูแลผู้สูงอายุทั้งหมด 7 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบการพัฒนาศักยภาพและการนำใช้ข้อมูล ด้วยระบบข้อมูลตำบล หรือ TCNAP และการวิจัยชุมชน หรือ RECAP 2) ระบบการจัดพื้นที่ 3) ระบบบริการสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ 4) ระบบจัดสวัสดิการและการช่วยเหลือ 5) ระบบการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต 6) ระบบการส่งเสริมอาชีพและลดรายจ่าย 7) ระบบการสร้างเสริมภาวะผู้นำและการช่วยเหลือกัน ทำให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ครบทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพกายใจ สังคม ภูมิปัญญา และสภาพแวดล้อม

ที่นี่ ผู้สูงอายุ 1 คน สามารถเข้าถึงบริการอย่างน้อย 1 ระบบ ทำให้ผู้สูงอายุได้รับบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง

สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ เช่นรถรับส่งเมื่อเขาเจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมง เราจึงจัดบริการ โดยเฉพาะกลุ่มติดบ้านติดเตียง โดยเราจะมีธงสีเหลืองปักหน้าบ้านที่เป็นผู้สูงอายุป่วยติดเตียง เพื่อให้เพื่อนบ้านหรือสมาชิกชุมชนทราบว่าบ้านนี้มีผู้ป่วยติดเตียงจะได้ให้ความช่วยเหลือดูแล เช่นการเข้าไปช่วยเปิดไฟฟ้าในยามค่ำคืน เนื่องจากเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รวมถึงมีการจัด care giver เข้าไปดูแลผู้ป่วยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทั้งการช่วยเหลือและเรื่องกายภาพบำบัด ป้อนอาหาร ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”

ในแง่เศรษฐกิจมีการตั้งกองทุน วันละบาท โดยผู้สูงอายุเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกก่อตั้งรุ่นแรก ซึ่งเป็นกองทุนในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน โดยในยามที่มีผู้สูงอายุไปนอนโรงพยาบาลจะได้รับเงินช่วยเหลือคืนละ 100 บาท เมื่อมีสูงอายุเสียชีวิตก็จะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 9,000 บาท 

นอกจากนี้ ยังเป็นเงินทุนช่วยเหลือสมาชิกผู้สูงอายุผู้ยากไร้ กลุ่มเปราะบาง ในเรื่องการปรับปรุงที่พักอาศัย ห้องน้ำให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีสภาจิตอาสาในชุมชน เป็นผู้ช่วยสร้างปรับปรุง และในส่วนของเงินกองบุญที่ผู้สูงอายุช่วยกันบริจาคเพิ่มเติมก็จะนำไปสร้างสนามออกกำลังกาย สนามกีฬาเปตอง เป็นต้น

ในด้านการออมเพื่อตัวเองนั้น เรายังมีสถาบันการเงินบ้านสามหลัง ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบโดยเฉพาะหรือช่วยคนที่ไม่มีทุนในการประกอบอาชีพ ด้วยการบริหารจัดการดีเด่น โปร่งใส ตรวจสอบได้รับการยกระดับจากเงินออมกลายเป็นกองทุนหมู่บ้าน และพัฒนาเป็นสถาบันการเงินในที่สุด 

สถาบันฯ จะเปิดโอกาสให้สมาชิกมากู้เงินได้โดยเสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7 บาทต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ถูกมากกว่าการกู้ยืมจากภายนอก ลดปัญหาหนี้นอกระบบ นอกจากนี้เงินยังนำไปช่วยในด้านสวัสดิการ และประกันความเสี่ยงกองทุน ซึ่งที่เราทำมายี่สิบปี ยังไม่เคยมีปัญหา และปัจจุบันสมาชิกในหมู่บ้านก็แทบไม่มีใครเป็นหนี้สินอีก

ลัดดาเอ่ยต่อว่า เงินบางส่วนจากกองทุนยังนำไปช่วยการศึกษา ปรับสภาพบ้านผู้ยากไร้ จัดตั้งตลาดนัดชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้นำผลิตผลมาขาย แต่นัยยะที่แท้จริงคือการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะเจอกัน มีกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกัน เราอยากให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่อยากให้เค้าเป็นโรคซึมเศร้า

“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”

ระบบต่อไปที่เรามองคือการสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้กับผู้สูงอายุ มองว่าผู้สูงอายุชุมชนเรามีศักยภาพ เพราะสามารถเกิดความเปลี่ยนแปลง หลายอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมออมวันละบาท การคัดแยกขยะ ธนาคารความดี จะสะท้อนให้เห็นว่าเค้าไม่ได้เป็นแค่เฉพาะผู้รับแต่เค้ายังเป็นผู้ให้ แต่ยังมาเป็นวิทยากร และให้ความรู้ถ่ายทอดคนในชุมชน แม้แต่คนพิการเองก็ยังมีความสามารถในการมาสอนงานฝีมือ จักรสานสมาชิกในชุมชน บ่งบอกว่าเค้าไม่ได้เป็นภาระของชุมชน เรามองว่าศักยภาพเหล่านี้ เขาสามารถเปลี่ยนเป็นผู้สูงอายุสร้างเมืองได้

โรงเรียนผู้สูงอายุ” เป็นกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในชุมชนยินดีที่จะออกมาให้ความร่วมมือและพัฒนาศักภาพตัวเอง
ลัดดา กล่าวว่า โรงเรียนผู้สูงอายุสามารถดึงเขาออกมา อย่างที่ทราบกันว่า ผู้สูงอายุเองก็มีพฤติกรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุประเภทติดสังคม ติดเตียง และติดบ้าน เราเริ่มจากการดึงกลุ่มที่ติดสังคมชอบสังสรรค์นอกบ้าน มาเข้าโรงเรียนผู้สูงอายุ เมื่อกลุ่มนี้ได้รับสิ่งดีๆ จากโรงเรียนก็ไปเชิญชวนผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านออกมา

ปัจจุบันบ้านดอยหล่อยยังมีการทำแผนเตรียมความพร้อมประชากรอายุ 50 ถึง 59 ปีที่กำลังก้าวสู่วัยผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งมีประมาณ 925 คน    

“ตอนนี้เราวางแผนว่าจะอบรมคนที่ย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเพื่อให้เค้าเตรียมตัว ในเรื่องการดูแลสุขภาพเพื่อให้ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานมากเกินไป ต่อไปเราจะแนะนำอาหารปลอดภัย ปัจจัยความสำเร็จของชาวสองแคว ดอยหล่อนั้นเกิดจากการนำข้อมูลมาแปรเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาชุมชน เราดีใจที่ได้เข้าเป็นเครือข่าย สสส. เพราะความสำเร็จของเราส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากที่ สสส.ให้งบประมาณเรามาทำวิจัยชุมชน เราได้สำรวจพื้นที่ ได้ข้อมูลชุมชน ผ่านระบบ TCNAP และ RECAP ซึ่งเป็นข้อมูลจริงที่ช่วยให้เราวางแผนต่อได้ ขณะเดียวกัน ต้องได้รับความร่วมมือต้องมีเครือข่าย”

“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยถึง ในภาพรวมว่า สสส. พัฒนาองค์ความรู้และข้อเสนอทางนโยบายทั้งการสนับสนุนกลไกเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ การสื่อสาร และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการมีสุขภาวะที่ดี เน้นการออกแบบเพื่อทุกคน

งานแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในระดับภาพรวมในระดับประเทศ สสส. เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันระดับนโยบาย ขยายผ่านกลไกที่เรามี ซึ่งงานระดับพื้นที่ เราทำควบคู่กัน โดยมีชุมชนท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่นหรือ ตำบลต้องใช้ความเข้มแข็งของชุมชนเอง” ดร.สุปรีดากล่าวต่อว่า

การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนของ สสส. เป็นการพัฒนาศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดการตนเอง ปัจจุบันจับคู่สถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือ 12 แห่ง กับศูนย์เรียนรู้ระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น 67 แห่ง เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ 10 แห่ง ผ่านการดำเนินงานของ 4 องค์กรหลัก ประกอบด้วย ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ 

เราส่งเสริมให้พัฒนาข้อมูล ดึงศักยภาพคนในชุมชน และทำอย่างไรให้กลุ่มนี้ยังมีพลัง ปัจจุบัน สสส. มีตำบลสุขภาวะเข้มแข็ง ประมาณ 3,000 กว่าตำบล ซึ่งมีต้นแบบด้านผู้สูงอายุ 65 แห่ง หนึ่งในนั้นคือที่สองแคว  ซึ่ง สสส. อยากขยายต้นแบบดี ๆ เหล่านี้ ให้ขยายผลออกไป จึงได้เชิญหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เข้ามาศึกษาลงพื้นที่เพื่อสังเคราะห์และถอดบทเรียนนำไปสู่การพัฒนาระบบผู้สูงอายุในระดับประเทศต่อไป” ดร.สุปรีดาเอ่ยทิ้งท้าย

“สองแคว” ชุมชนที่ออกแบบ “สังคมสูงวัย” ให้กลายเป็น “สูงอายุสร้างเมือง”