โควต้า”ลอตเตอรี่”ใครกล้าแตะขาใหญ่เสือนอนกิน

โควต้า”ลอตเตอรี่”ใครกล้าแตะขาใหญ่เสือนอนกิน

“ลอตเตอรี่”ราคาแพง การแบ่งโควต้าการซื้อขาย และปัญหาอีกมากมาย ทำไมแก้ไม่ได้ซะที ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน ถ้าสืบสาวที่มาที่ไป ผลประโยชน์(มหาศาล) แต่ไม่ใช่เพื่อผู้บริโภค อ่านบทวิเคราะห์เรื่องนี้ได้จากคอลัมนิสต์"จุดประกาย"

สิทธิของผู้บริโภค ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงฉบับล่าสุด บรรจุไว้ถึงสองส่วนด้วยกันคือ

ในหมวด 3 มาตรา 46 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง รวมถึงมีสิทธิรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกันเองโดยรัฐสนับสนุน

อีกส่วนบรรจุในหมวด “หน้าที่ของรัฐ” มาตรา 61 รัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านการรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
  

ลอตเตอรี่ต่อให้มันเป็นอบายมุขก็เหอะ แต่ก็อยู่ภายใต้กฎหมาย มันจึงเป็นสินค้าการพนันอีกประเภทหนึ่งที่รัฐรับรอง

รัฐต้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อหวย

ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของรัฐโดยรัฐธรรมนูญที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภคซื้อหวย อย่างเราท่านไม่ให้ถูกโก่งราคาจากฉบับละ 80 บาท ขึ้นไปเป็น 100-110 บาท ตามแต่เสือนอนกินจะกรุณากำหนด
ที่ผ่านมามันก็มีข่าวรัฐบาลแต่ละยุคสมัย พยายามจะแก้ปัญหาลอตเตอรี่ อย่าง คสช. แรกๆ ก็ขึงขังเอาจริงคุมราคาได้สักสี่ห้างวด หาวิธีแก้โน่นนี่ จากนั้นก็ขออนุมัติพิมพ์สลากเพิ่มอ้างว่าเพื่อเพิ่มซัพพลายกดกลไกราคา แต่จากนั้นราคาก็กลับมาแพงตามปกติ 
 

โควต้า”ลอตเตอรี่”ใครกล้าแตะขาใหญ่เสือนอนกิน

เมื่อปี 2558 สำนักงานสลากกินแบ่ง พิมพ์สลากออกมางวดละ 72 ล้านฉบับ แต่มาถึงปัจจุบันปี 2565 พิมพ์ออกมาขายงวดละ 100 ล้านฉบับ !   
ผ่านไป 7 ปี  มีการเพิ่มจำนวนพิมพ์ต่องวด 28 ล้านฉบับ แต่ราคาขายปลีก ก็ยังไม่ได้ลดลงไปเลย

การอ้างว่าต้องพิมพ์เพิ่มตามกลไก ดีมานด์-ซัพพลาย นั้นใช้กับสินค้าการพนันผูกขาดไม่ได้ มันไม่ใช่สินค้าปกติ สบู่ ยาสีฟัน หรืออาหารการกินที่คนไม่ชอบแบบนี้ไปซื้ออีกอย่าง ลอตเตอรี่นั้นเป็นการพนัน เป็นอบายมุข รัฐถือว่าเป็นอบายมุขที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ต้องควบคุมเอามาทำเอง

สมัยก่อนโน้น มีการพิมพ์สลากการกุศลพิเศษออกมาบ่อยๆ การจะพิมพ์เพิ่มนี่ ต้องเข้าครม.เลยนะครับ เพราะเขาถือว่าเป็นการเพิ่มอบายมุขเข้าสู่สังคม และรัฐต้องกำกับไม่ให้มีมากเกินไป เช่น สมัยโบราณมีการอนุญาตออกหวยจับยี่กีรายวัน คนก็เมาเล่นแทงหวยกันไม่ต้องทำมาหากิน จนที่สุดต้องยกเลิกไป 

โควต้า”ลอตเตอรี่”ใครกล้าแตะขาใหญ่เสือนอนกิน

โควตาสลากกินแบ่งต่องวด

ตัวเลขการพิมพ์สลากต่องวดนี่ มีนัยที่ต้องพิจารณา 
เพราะระบบการขายของสลากกินแบ่งแต่ละงวด มีจำนวนจำกัด จึงต้องมีโควตาให้กับยี่ปั๊ว/ผู้รับไปจำหน่าย นัยว่า มีส่วนหนึ่งให้คนพิการคนด้อยโอกาสทหารผ่านศึกฯลฯ ได้มีอาชีพ  

คนที่ได้โควตา ก็ดีไป อย่างน้อยมีอาชีพ มีสินค้าที่ขายดีไปขายต่อทำกำไรเลี้ยงชีพ แต่โลกมันโหดร้าย ผู้ค้ารายย่อย คนยากจน คนพิการ ด้อยโอกาสทั้งหลาย ถูกเอามาบังหน้าให้กับขบวนการเสือนอนกิน กวาดโควตาไปอยู่ในมือ/รวมเลข ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ พอจะปรับระบบที ก็จะมีการดันหลังผู้ด้อยโอกาสรายย่อยเหล่านี้ออกมาที 
ผู้ค้ารายย่อยชาวบ้านคนขายปลีก มักจะเป็นข้ออ้างบังหน้าให้ยังมีระบบโควตาจัดสรรปันส่วนอยู่บ่อยๆ 
จำนวนพิมพ์เพิ่ม 28 ล้านฉบับในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีข้อมูลและสัดส่วนโควตาออกมาให้สาธารณะได้รับรู้ชัดเจนนัก

ซึ่งก็น่าประหลาดใจ เพราะเกิดมีข่าวเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาหยกๆ สำนักงานสลากกินแบ่งได้ออกประกาศให้ผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายเดิม ปี 2558 ยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้จำหน่ายสลากจริง ที่ตรวจสอบรายชื่อแล้ว ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในการตรวจสอบจากกองสลาก เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก

เพราะจากนั้นไม่นานก็มีข่าวการบุกไปจับกุมมังกรฟ้า สำนักขายสลากกินแบ่งออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งวงการก็รู้กันดีว่า มีสายสัมพันธ์เคยเป็นพวกเดียวกันร่วมรัฐบาล แต่มาแตกคอกันภายหลัง

ผลประโยชน์มหาศาล

ผลประโยชน์โควตาสลากกินแบ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มหาศาล ถ้าคิดแค่ 10 บาท/ฉบับ ก็ตกเป็นเงินงวดละ 1,000 ล้านบาท  ซึ่งที่จริงมันมากกว่านั้นเยอะ

ราคาที่รายย่อยขายปลีกรับจากซาปั๊วในแต่ละงวด ตกฉบับละเกือบ 100 บาทแล้ว ไม่มีทางที่จะเอาไปขายต่อฉบับละ 80 บาทตามที่กฎหมายกำหนด

คนที่พัวพันกับผลประโยชน์นี่สมัยก่อนเรียก 5 เสือกองสลาก แต่นั่นเป็นแค่เป้าบังหน้า เพราะเคยมีการตรวจสอบลึกลงไปของสำนักข่าวไทยพับลิก้า พบว่า ผู้ที่ถือโควตาขายมากสุดก็ล้วนแต่คนวงในกองสลาก/ข้าราชการ/แวดวงของราชการนั่นเอง

อาทิ มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่ง, สมาคมพนักงานผู้เกษียณอายุสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, สหกรณ์บริการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำกัด, องค์การทหารผ่านศึก, สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รองลงมาอีกคือ บริษัทบังหน้าของนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลภาครัฐ 
ความเป็นจริงที่ผ่านมา ภาคการเมือง/ภาคราชการ มีส่วนกับผลประโยชน์ทางตรงและอ้อมของขบวนการโควต้าสลากมาโดยตลอด

ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะให้รัฐบาลและกลไกราชการปกติทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การออกข่าวเอาจริงแก้ปัญหาราคาขายปลีก ที่แท้ก็คือข้ออ้างในการพิมพ์เพิ่ม และเพิ่มโควตาทำมาหากินให้กับแวดวงผู้มีอำนาจสืบต่อๆ ไปอีก 

ลอตเตอรี่นั้นยังไงก็ต้องยังอยู่ เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐและเป็นอุตสาหกรรมหล่อเลี้ยงผู้คนมากมาย ที่มีปัญหาคือระบบขาใหญ่เสือนอนกิน ที่ไปแตะต้องเปลี่ยนแปลงยาก ที่ผ่านมาปฏิบัติการไล่จับไล่ตรวจสอบแต่ละครั้ง ก็มักจะเป็นไฟไหม้ฟาง หรือแค่เช็คบิลตัวบุคคล ไม่ได้ไปถึงการรื้อ/จัดระบบ

 

โควต้า”ลอตเตอรี่”ใครกล้าแตะขาใหญ่เสือนอนกิน

ถามว่า..ใครจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้จริง !? 
หนึ่ง-ฝ่ายการเมืองที่มีนโยบายจริงจังชัดเจน ประกาศตนในการหาเสียง ก่อนเข้าสู่อำนาจว่าจะรื้อล้างระบบที่ไม่เป็นธรรม จัดสรรผลประโยชน์จากการขายใหม่ให้กับประชาชนผู้ค้าจริงๆ ไม่ใช่ขาใหญ่เสือนอนกิน

รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหา (ซึ่งก็ยากมาก เพราะจะถูกรุมต้านอย่างแข็งขันจากขาใหญ่ที่มากทั้งบารมีและทรัพย์สิน) 
สอง-กลไกของสังคม เช่น เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ มีฐานงบประมาณดำเนินการและเครือข่ายบุคคลทั้งประเทศเป็นแกน ระดมพลังจากประชาสังคมเคลื่อนไหวกดดัน ให้เกิดการตรวจสอบ เปิดข้อมูลต่างๆ  (ซึ่งก็ต้องใช้พลังและระยะเวลาต่อเนื่องไม่น้อย ต้องมีกลุ่มคณะที่เป็นแกนอย่างเปิดเผยมีตัวตน) 
สาม-โดยกฎหมายของรัฐ ปัจจุบันการตั้งรางวัลนำจับลอตเตอรี่เกินราคาไม่ได้แก้ปัญหา เพราะเป็นแค่การไล่จับผู้ค้ารายย่อย ไม่ไปแตะต้องต้นเหตุรากเหง้าของระบบโควตาเสือนอนกิน ที่กำหนดราคาขายส่งแพงแต่ต้นทาง มาตรการทางกฎหมายต้องไปถึงขั้นรื้อระบบโควตาหรือเปลี่ยนวิธีคิดใหม่

เช่น กำหนดสัดส่วนส่งเล่มสลากให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นยี่ปั๊วจัดจำหน่าย เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้และถึงมือผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่จริง ซึ่งนี่ก็ต้องเป็นเจตจำนงของฝ่ายการเมืองมาก่อนด้วย ย้อนไปสู่โจทย์เดิมคือฝ่ายการเมืองไม่เอาจริง 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีหมวดหน้าที่ของรัฐเขียนไว้ แต่ไม่มีบทลงโทษ ขอแค่รัฐแค่มีปฏิบัติการเล็กๆ น้อยไล่จับผู้ค้าเกินราคาก็สามารถอ้างว่าได้ทำตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว 

ว่ากันตรงๆ ก็คือ รัฐยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้จริง ส่วนประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองว่าสามารถรวมตัวเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกันเองนั้น ก็ยังเหมือนจะเป็นวุ้นอยู่ 

ผู้บริโภคตัวจริงอย่างเราบางครั้งก็ต้องควักซื้อเกินราคากันไป นัยว่าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ค้ารายย่อยที่อุตส่าห์ปั่นจักรยานมาขายถึงร้านข้าวต้ม  

บางทีก็ต้องแกล้งทำลืมๆ ว่า การควักซื้อแต่ละครั้งก็คือการอุดหนุนเสือนอนกินขาใหญ่มากบารมีทั้งหลายต่อไปอีก