ลูกเตะ“เทนนิส พาณิภัค ”แชมป์เทควันโด ฝึกหนักแค่ไหน ถึงได้แบบนี้

ลูกเตะ“เทนนิส พาณิภัค ”แชมป์เทควันโด ฝึกหนักแค่ไหน ถึงได้แบบนี้

กว่าจะมีวันนี้ของแชมป์"เทควันโดไทย" ไม่ได้ฝึกแค่วันละชั่วโมงสองชั่วโมง แต่ฝึกในแคมป์ทั้งวัน ฝึกหนัก จนบางทีน้องเทนนิสแอบร้องไห้ เพราะไม่ได้กินขนมอร่อยๆ และเคยแอบกิน ปรากฎว่าน้ำหนักเกิน...

เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนากิจ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกโตเกียว 2020 กีฬาเทควันโด รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม และเจ้าของแชมป์อีกหลายสนาม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 ในการแข่งขัน สเปน โอเพ่น 2022 ที่ประเทศสเปน เทนนิส นักเทควันโดสาวทีมชาติไทย แข่งกับ ลอรา โรดริเกซ เทควันโด้เจ้าถิ่น สามารถคว้าเหรียญทองมาครอง  

และไม่ได้เป็นเกินคาดหมาย บิ๊กเอ-ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยหลายสมัย ผู้อยู่เบื้องหลังนักกีฬา "เทควันโดไทย" ในช่วงหลายปี บอกว่า ถ้าจะพัฒนานักกีฬาต้องส่งไปแข่งขันหลายๆ สนาม เพื่อให้ชินกับการแข่งขันในต่างประเทศ

 

ลูกเตะที่หนักหน่วงของเทนนิส นอกจากฝึกหนักวันละหลายชั่วโมง  ยังต้องมีวินัย แม้ในช่วงก่อนหน้านี้จะแตกแถวไปบ้าง

“เมื่อก่อนเป็นเด็กไม่มีวินัย แอบไปกินโน่นกินนี่ กินขนมตลอดเวลา แล้วน้ำหนักก็ขึ้น จนผมต้องจ้างนักโภชนาการประกบอยู่ด้วยกันเลย ทั้งวันทั้งคืน” พิมล เล่าอย่างเอ็นดูเสมือนลูก

เทคนิคมาจากโค้ชเช

อย่างไรก็ตาม ต้องยกความดีความชอบให้โค้ชเช ที่มักจะมีเทคนิคใหม่ๆ มาสอนนักเทควันโด ประกอบกับมีนักโภชนาการ นักจิตวิทยา และอีกหลายเทคนิคประกบตลอด

“โค้ชเชเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ตลอดเวลา เหมือนคนเรียนจบมาแล้วอ่านหนังสือ เข้าสัมมนาตลอดเวลา ก็เลยทันสมัยตลอด 20 ปี เขาก็ยังสอนได้สร้างผลงานคว้าเหรียญมาตลอด

ถ้าย้อนไปเมื่อหลายปีที่แล้ว ผมรื้อระบบอุปถัมภ์ออกหมด เปลี่ยนระบบคัดตัวนักกีฬาที่มีความสามารถ เอาวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการ รวมถึงนักจิตวิทยาเข้ามาใช้ ฝ่ายเทคนิคเราก็มีโค้ชเช ที่มีฝีมืออยู่แล้ว

โค้ชเช เป็นโค้ชที่ 1. โฟกัสดี มีความมุ่งมั่น 2. เป็นคนกระตือรือล้น ปกติโค้ชทีมชาติระดับโลกจะเปลี่ยนทุกๆ 6 ปีไม่อย่างนั้นล้าหลังไม่ทันเทคนิคใหม่ๆ แต่โค้ชเชไม่เป็นอย่างนั้น"

ได้ยินเสียงเชียร์ ให้นักกีฬาคิดซะว่า เขาเชียร์เรา

วิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อนำมาใช้กับนักกีฬา ที่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด พิมลบอกว่า  เรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อ ไม่ใช่แค่การวิ่ง กล้ามเนื้อจะดีขึ้น ต้องมีมากกว่านั้น ส่วนนักจิตวิทยา มีส่วนสำคัญอย่างเห็นได้ชัด

"มีครั้งหนึ่งนักกีฬาเรา ต้องไปแข่งกับเจ้าภาพ (จีน) เสียงเชียร์ทางจีนดังกระหึ่มมาก นักจิตวิทยาบอกนักกีฬาว่า ให้คิดซะว่า เขากำลังเชียร์เราอยู่

หรือนักกีฬาผมหลายคนเวลาที่เขาวัดสมรรถนะ วิ่ง กระโดดเชือก Sprint จน Heart rate พุ่งขึ้น ภายในเวลา 1 นาทีพักแล้ว Heart rate กลับลงมาปกติ

เพราะเวลาเล่นเทควันโด เมื่อขึ้นไปเตะ 2 นาทีต่อหนึ่งยก ต้องพัก 1 นาที ถ้าหลังจาก 1 นาทียังแฮกๆ อยู่ ขึ้นไปเตะต่อ ร่างกายก็ไม่ไหว ตัววัดที่จะทำยังไงให้ได้อย่างนั้น  ก็ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย" 

เทควันโด จะเตะให้ถูก ต้องทำอย่างไร

พิมล บอกว่า การพัฒนานักกีฬาเทควันโด ถ้าออกอาวุธผิดตั้งแต่เด็ก ก็เหมือนตีปิงปองจับไม้ผิด ตีเทนนิสก้าวเท้าผิด มันก็น่าเสียดาย ดังนั้นนักเทควันโดต้องเตะให้ถูกต้อง

"เด็กที่ส่งมาคัดตัวในระดับยิม อาจเริ่มจากชิงแชมป์ประเทศไทย อาจจะไม่เก่งมากแบบทีมชาติ แต่เขาก็มาด้วยเบสิคที่ถูกต้อง”

ด้วยวิธีการต่างๆ ที่พิมลเล่ามา ทำให้วันนี้ทีมเทควันโดไทยอยู่ในระดับแนวหน้า

"กีฬาเทควันโดต้องออกไปแข่งนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ซ้อมอยู่ที่บ้านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องออกไปสู้กับยุโรปบ้าง อเมริกาบ้าง เอเชียบ้าง เพราะแต่ละทวีป สไตล์การเล่นไม่เหมือนกัน นักกีฬาต้องไปสัมผัสให้เยอะๆ”

การแข่งขันซีเกมส์ ที่ประเทศเวียดนาม ในเดือนพฤษภาคมปี 65 เทควันโด้มีทั้งหมดมี 16 รุ่น ไทยส่งเข้าแข่งขันได้แค่ 12 รุ่น ทางนั้นอยากให้เหรียญกระจายไปประเทศอื่นบ้าง

"เทควันโดไทยเป็นเจ้าเหรียญอยู่แล้ว แต่คงไม่ได้ทุกเหรียญ"