รู้จัก ‘ค่างแว่น’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว จ.ประจวบฯ เทียบชั้น ‘หมีคุมะมง’

รู้จัก ‘ค่างแว่น’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว จ.ประจวบฯ เทียบชั้น ‘หมีคุมะมง’

จ.ประจวบฯ คัดเลือก “น้องค่างแว่น จาก “ค่างแว่นถิ่นใต้” สัตว์คู่เมืองเป็นมาสคอตกระตุ้นการท่องเที่ยว ยกบุคลิกน่ารัก นิสัยดี เป็นมิตร ขี้อาย สะท้อนนิสัยคนประจวบฯ เตรียมพัฒนาต้นแบบสู่มาสคอตเทียบชั้น 'หมีคุมะมง'

โควิด-19 ที่กินระยะเวลามานานกว่า 2 ปี ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้จังหวัดได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันคิดหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวให้มีความเชื่อมโยงทุกอำเภอ เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นอกจากแผนการท่องเที่ยวข้างต้นแล้ว สิ่งที่การประชุมได้เสนอคือ การกำหนดมาสคอตส่งเสริมท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้เลือก “ค่างแว่นถิ่นใต้” หรือ “น้องค่างแว่น” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก นิสัยดี เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

รู้จัก ‘ค่างแว่น’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว จ.ประจวบฯ เทียบชั้น ‘หมีคุมะมง’ ค่างแว่นถิ่นใต้ สัตว์คู่เมืองประจวบ ภาพจาก ประจวบโพสต์นิวส์

“ค่างแว่นถิ่นใต้” คู่เมืองประจวบฯ

ค่างแว่นถิ่นใต้” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวก “ค่าง” ลักษณะทั่วไปคล้ายค่างแว่นถิ่นเหนือ คือ มีวงกลมสีขาวรอบตาเหมือนกับใส่แว่นอันเป็นที่มาของชื่อ มีขนาดของลำตัวยาว 45-57 เซนติเมตร หางยาว 66-78 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 6-9 กิโลกรัม ค่างโตเต็มวัยมีขนบริเวณด้านหลังสีเทาเข้มเกือบดำ ขนบริเวณด้านข้างใบหน้าบริเวณปลายมือและปลายเท้ามีสีเทาเข้ม โคนขาและโคนแขนด้านนอกเป็นสีเทาจาง ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้ คือสีขนหางสีดำ ลูกที่เกิดใหม่สีขนจะเป็นสีทอง

ค่างแว่นถิ่นใต้” นั้น เป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่หลายแบบ ตั้งแต่ภูเขาสูงจนถึงป่าริมชายฝั่ง และเกาะ ชอบอาศัยในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีอุปนิสัยที่โดดเด่นคือ เป็นมิตร ซุกซน และขี้อาย

ลักษณะนิสัยที่ว่านี้ ที่การมองว่า ตรงกับลักษณะนิสัยของชาวประจวบฯ ที่มีความเป็นมิตร ความซุกซน ซึ่งเปรียบได้ว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา และความขี้อาย ที่สื่อถึงยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้รับการโปรโมตให้เป็นที่รู้จัก ทำให้การเชื่อมโยงระหว่าง “ค่างแว่นถิ่นใต้” และจังหวัดประจวบฯ เหมาะสมลงตัว

รู้จัก ‘ค่างแว่น’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว จ.ประจวบฯ เทียบชั้น ‘หมีคุมะมง’ ภาพออกแบบ "น้องค่างแว่น" ที่เตรียมไปพัฒนาต่อ

รายงานข่าว ระบุว่า ขณะนี้ได้มีการออกแบบเพื่อเป็นต้นแบบในเบื้องต้นก่อน เป็นตัวการ์ตูนค่างแว่น ใส่เสื้อฮาวายลายสับปะรด ผลไม้ประจำจังหวัด ในอิริยาบถเล่นกีฬาทางน้ำ สื่อถึงจังหวัดประจวบฯ ที่มีชายหาดทอดตัวยาวทุกอำเภอกว่า 200 กิโลเมตร และเรียกว่า “น้องค่างแว่น” ไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ โดยจะมีการนำน้องค่างแว่น ทูตน้อยมาแนะนำตัวให้ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รู้จักเป็นครั้งแรกในงานท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ มหัศจรรย์เมืองสามอ่าว และงานกาชาดประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 เม.ย.นี้

โมเดล ‘หมีคุมะมง’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จุดประสงค์หนึ่งในการมีมาสคอตสำหรับการพัฒนาท่องเที่ยวคือการสร้างเอกลักษณ์ของจังหวัดให้ชัดเจน โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ ซึ่งโมเดลนี้เคยสำเร็จมาแล้ว กับ “หมีคุมะมง”  มาสคอตหมีเพศผู้ ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดคูมาโมโตะ บนเกาะคีวชูทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2553

หมีคุมะมง’ เป็นมาสคอตหมีเพศผู้ ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดคูมาโมโตะ บนเกาะคีวชูทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2553 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมกับการเปิดเส้นทางการเดินรถไฟชิงกันเซ็งสายคีวชู ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค จากนั้นไม่นานคุมะมงก็ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ในปลายปีเดียวกันคุมะมงได้รับการโหวตจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศจนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดตุ๊กตาสัญลักษณ์จากจำนวน 350 ตัวที่แต่ละท้องถิ่นส่งเข้าประกวด

รู้จัก ‘ค่างแว่น’ มาสคอตกระตุ้นท่องเที่ยว จ.ประจวบฯ เทียบชั้น ‘หมีคุมะมง’

หมี 'คุมะมง' มาสคอตการท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกคุ้นเคยดี

หลังจากคุมะมงเปิดตัวออกมาแล้ว ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากถึง 23,000 ตัว และนอกจากจะเป็นมาสคอตเพื่อใช้ในการส่งเสริมทางท่องเที่ยวแล้ว ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ในการปลอบประโลมและเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2559

ที่มา : ข่าวสารประจวบคีรีขันธ์, ประจวบโพสต์นิวส์

วิกิพีเดีย : คูมามง