ระดมพลังแมว WildAid และ WWF ผุดโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม'

ระดมพลังแมว WildAid และ WWF ผุดโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม'

ไม่มีใครต้องการหูฉลาม เท่าตัวฉลามเอง แต่ทว่า ในทุกงานเลี้ยงก็ยังกินหูฉลามอยู่เลย เมื่อไม่มีฉลาม ทะเลก็เสียสมดุล แมวก็จะไม่มีปลากิน แมวจึงต้องออกมารณรงค์

ในทุก ๆ ปี ฉลาม มากกว่า 100 ล้านตัว ถูกฆ่าทั่วโลก ในจำนวนนี้ ครีบฉลาม 73 ล้านตัว ถูกนำไปบริโภค นั่นคือ หายนะที่เกิดขึ้นต่อทะเล มนุษย์ และโลกของเรา

เมื่อ ฉลาม ใกล้หมดไป พวกแมวก็ทนไม่ไหวต้องออกมาช่วย เพราะพวกมนุษย์ นำครีบ เนื้อ หนัง และทุกชิ้นส่วนของฉลามไปกินกันมากเกินไป จนฉลามกว่า 160 ชนิด กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

องค์กร WildAid และ WWF ประเทศไทย จึงได้เปิดตัว โครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’ ขึ้น เพื่อปกป้องฉลาม ผู้รักษาสมดุลระบบนิเวศแห่งท้องทะเล วอน ลด ละ เลิกกินหูฉลาม

ระดมพลังแมว WildAid และ WWF ผุดโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม\'

  • ฉลามสำคัญขนาดไหน ?

ฉลาม มีบทบาทสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร เป็นนักล่าระดับบนสุดของห่วงโซ่อาหารในทะเล เปรียบเสมือนผู้รักษาสมดุลและคุมระบบนิเวศ

หากไม่มี ฉลาม จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทำให้ปลาและสัตว์ทะเลบางชนิดมีมากหรือน้อยเกินไป ทะเลก็จะเสียสมดุล 

การมีอยู่ของฉลาม คือหลักประกันชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์หลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศทางทะเล ทำให้มีแหล่งอาหาร มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการดำรงชีวิต

  • ไม่มีใครต้องการหูฉลาม เท่าตัวฉลามเอง

งานวิจัยเปิดเผยว่า จำนวนฉลาม และกระเบนในทะเล ลดลงกว่า 70% ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากการทำประมงเกินขนาด เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ระบุว่า 1 ใน 3 ของฉลามทุกชนิด หรือมากกว่า 160 ชนิด จาก 536 ชนิด กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการจับปลาเกินขนาดเพื่อนำครีบ เนื้อ หนัง และทุกชิ้นส่วนไปบริโภค

ระดมพลังแมว WildAid และ WWF ผุดโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม\'

  • สถานการณ์ฉลามในประเทศไทย

จากการประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของปลาฉลามในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า

ฉลามที่พบได้ในน่านน้ำไทย 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงเกินขนาดและการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้

อีกสาเหตุที่สำคัญคือ ฉลาม หลายสายพันธุ์ไม่ได้เป็นสัตว์คุ้มครอง จึงทำให้ถูกล่าและขายได้ไม่ผิดกฎหมาย

จากผลสำรวจขององค์กรไวล์ดเอด ปี พ.ศ. 2560 พบว่า คนไทยจำนวนมากยังมีความต้องการบริโภคหูฉลาม โดยคนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และมากกว่า 60% มีแนวโน้มจะบริโภค หูฉลามในอนาคต

ปัจจุบันมีความพยายามมากมายในการช่วยเหลือฉลาม ไม่ว่าจะเป็นการพยายามรณรงค์ไม่บริโภคหูฉลาม การผลักดันฉลามเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือการตั้งเขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ทะเล

ระดมพลังแมว WildAid และ WWF ผุดโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม\'

  • โครงการเหมียวช่วยฉลาม

องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) ได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’ ขึ้น

ระดมพลังแมว 1 ในสัตว์เลี้ยงยอดนิยม ของคนไทยและทั่วโลก มาร่วมขับเคลื่อนปกป้องฉลาม โน้มน้าวให้เลิกบริโภคฉลามทั่วโลกที่มีจำนวนลดลง จนอาจกระทบความสมดุลของท้องทะเล

ด้วยการอัพโหลดรูปแมว ที่ www.catsforsharks.com พร้อมติด แฮชแท็ก #CatsForSharks #มานุดจงหยุดกินฉลาม

นอกจากนี้ ทั้งสององค์กรยังได้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา ที่มีแมวเล่าให้ ‘มานุด’ กำลังกินหูฉลามฟังว่า หากฉลามในทะเลหายไป ปลาและสัตว์ทะเลอาจมีมากหรือน้อยเกินไปทำให้ทะเลเสียสมดุล ส่งผลกระทบต่ออาหารของมนุษย์และน้องแมว ดูได้ที่ https://youtu.be/7eWNZ9oqiOw