"April Fool's Day" รู้จักการ “โกหก” 7 รูปแบบที่เจอได้ในชีวิตประจำวัน

"April Fool's Day" รู้จักการ “โกหก” 7 รูปแบบที่เจอได้ในชีวิตประจำวัน

1 เม.ย. “วันเมษาหน้าโง่” (April Fool's Day) ชวนส่อง 7 รูปแบบคำ “โกหก” ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากการพูดเวอร์วังเกินจริง โกหกหน้าตาย และพูดจากลับกลอกแล้ว ยังมีการโกหกแบบอื่นๆ ที่คุณต้องรู้ไว้

วันเมษาหน้าโง่” (April Fool's Day) หรือ “วันโกหก”ตรงกับ “วันที่ 1 เมษายน” ของทุกปี หลายคนอาจยังสนุกกับการเล่น “โกหก” เป็นสีสันเล็กๆ น้อยๆ เป็นประจำทุกปี แต่หลายบริษัท แบรนด์ หรือองค์กรต่างๆ เริ่มลดละกิจกรรมเพื่อร่วมสนุกในวันโกหกไปบ้างแล้ว เพราะสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ทำให้พวกเราทุกคนต้องหันมาตระหนัก และใส่ใจกับ “ความจริง” กันมากขึ้น

โดยเฉพาะช่วงนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก ทุกคนก็ยิ่งต้องตั้งสติและกลั่นกรองข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ มากขึ้น และนี่ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า อันที่จริงแล้วเราทุกคนล้วนพบเจอการโกหกอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเช็กคำ “โกหก” 7 รูปแบบที่พบได้จริงในสังคมมีอะไรบ้าง แล้วคำจำกัดความแต่ละอย่างเป็นอย่างไร?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"April Fool's Day" รู้จักการ “โกหก” 7 รูปแบบที่เจอได้ในชีวิตประจำวัน

1. โกหกหน้าตาย

เริ่มกันที่การโกหกรูปแบบแรก “โกหกหน้าตาย” คนที่ชอบโกหกแบบนี้มักจะตีหน้าซื่อ ตีสีหน้าเนียนๆ แบบที่คนชอบพูดว่า “ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ” ใช้การเล่าเรื่องอย่างแยบคายเพื่อให้คนฟังเชื่ออย่างสนิทใจ 

เช่น มีคนรู้จักมาขอยืมเงิน โดยอ้างว่าไม่สบาย ป่วยหนัก ต้องการเงินไปรักษาตัว มีน้ำเสียงและสีหน้าเศร้าสร้อย จนเราอาจหลงเชื่อและให้ยืมเงิน ทั้งๆ ที่ความจริง คนขอยืมไม่ได้ป่วย แต่อยากเอาเงินไปเล่นพนัน เป็นต้น

2. พูดจากลับกลอก

การโกหกแบบ “พูดจากลับกลอก” คือการที่ผู้พูดผิดคำสัญญา ไม่รักษาคำพูดที่ตนเองให้ไว้กับอีกคน อาจมีความลังเลใจ สร้างความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์อันดีได้ 

สมมติ มีเพื่อนชวนคุณไปกินเลี้ยงงานฉลองวันเกิด แต่ตัวเองดันติดธุระที่สำคัญมาก และไม่กล้าปฏิเสธเพื่อน สุดท้ายก็ไม่ได้ไปฉลองกับเพื่อน เพื่อนอาจเข้าใจได้ว่าคุณเป็นคนพูดจากลับกลอกเช่นนี้ได้

3. ปั้นน้ำเป็นตัว

พูดถึงลักษณะนิสัยของคนที่ชอบพูดแบบ “ปั้นน้ำเป็นตัว” จะเป็นคนที่ชอบการประดิดประดอยคำพูดให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด สิ่งที่บอกเล่าไม่เป็นความจริง มีการใส่สีตีไข่ อาจส่งผลต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบุคคลได้

ทุกวันนี้มี “ข่าวลือ” จำนวนมากในโลกออนไลน์ ทุกคนจึงจำเป็นต้องหมั่นตรวจสอบข้อมูลและแหล่งอ้างอิงอยู่เสมอ ก่อนจะเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมา

4. พูดความจริงไม่หมด

เมื่อเกิดประเด็นดราม่าหรือเรื่องที่น่าจับตามองของคนที่มีชื่อเสียงในสังคม เวลาออกมาแถลงข่าวมักจะ “พูดความจริงไม่หมด” หรือพูดความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียว เพื่อต้องการหันเหความสนใจให้ผู้คนเข้าใจผิดไปจากข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งเมื่อพูดไม่ครบถ้วน การพิจารณาใจความในการประเมินน้ำหนักความจริงอาจคลาดเคลื่อนได้

5. พูดเวอร์วังเกินจริง

การ “พูดเวอร์วังเกินจริง” คือการพูดเรื่องจริงเพียงเล็กน้อย แล้วแต่งเรื่องราวเพิ่มเติมเข้าไป จนกลายเป็นว่าผิดไปจากความจริงอย่างมาก มีการใส่ความเท็จเป็นจำนวนมาก มีความซับซ้อน ซึ่งมักจะทำให้คนหมู่มากสนใจได้เป็นอย่างดี แต่กลับมีความจริงแทบจะน้อยมาก

ในหมู่คนรุ่นใหม่ อาจมีการพูดโกหกในลักษณะนี้แบบเล่นๆ กับเพื่อนอยู่มาก และมักจะมีการโต้ตอบว่า “ถ้าคนนี้พูด จะต้องหารล้าน” หรือ “ถ้าคนนี้พูดร้อย ความจริงจะอยู่ที่สิบ” เป็นต้น 

6. หลอกว่าเป็นคนอื่น 

การโกหกแบบ “หลอกว่าเป็นคนอื่น” สามารถพบเห็นได้ทั้งการปลอมแปลงการกระทำและตัวตนควบคู่กันไป โดยอาจมีปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกเคารพในตนเองต่ำ และคิดว่าคนที่ตนเองนำมาปลอมแปลงนั้นดีกว่า จึงได้ทำเช่นนั้นลงไป

7. ปิดบังเพื่อถนอมน้ำใจ

การโกหกแบบสุดท้าย “ปิดบังเพื่อถนอมน้ำใจ” หรือที่ใครๆ อาจเคยได้ยินคำว่า “โกหกสีขาว” มีลักษณะการโกหกแบบที่ทำไปเพราะต้องการสร้างความสบายใจให้อีกคน แต่แท้จริงแล้วผู้โกหกนั้นอาจทำไปเพราะมีความรู้สึกกลัวที่จะบอกความจริง และต้องการให้ตนเองรู้สึกสบายใจมากกว่า มักพบได้ในหมู่คนเอเชียที่มักจะไม่กล้าพูดตรงๆ

-------------------------------------------------------------

อ้างอิง: Sintelly, Urban Dictionary