ความเหลื่อมล้ำเป็นชั้นๆ ของอากาศ :ว่าด้วยเรื่อง"ค่ามาตรฐานอากาศ"

ความเหลื่อมล้ำเป็นชั้นๆ ของอากาศ :ว่าด้วยเรื่อง"ค่ามาตรฐานอากาศ"

อีกหน้าประวัติศาสตร์ของวงการสิ่งแวดล้อมไทย คนทำงานเพื่อสังคม ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศ"ค่ามาตรฐานอากาศ"

วันที่ 22 มีนาคม 2565 กลุ่มกรีนพีซ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม EnLaw มูลนิธิบูรณะนิเวศ กลุ่มไทยแคน เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ฯลฯ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตลอดถึงรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศค่ามาตรฐานอากาศ

รวมถึงให้ปรับแก้กฎระเบียบควบคุมการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดและเป็นสากลขึ้น นี่เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของวงการสิ่งแวดล้อมไทย ส่วนความคืบหน้าของคดีจะออกมาเช่นไร จะหัวหรือก้อยก็จะมีความหมายบ่งบอกแนวโน้มสถานการณ์ชัดเจนขึ้น

ความแปรปรานสภาวะอากาศ

มลพิษอากาศเป็นปัญหาร่วมที่หนักหนาขึ้นในโลก มันไม่ใช่แค่เป็นผลพวงของกิจกรรมมนุษย์แต่ยังเกี่ยวข้องกับการแปรปรวนของสภาวะอากาศ ภาวะโลกร้อนและอันตรายคุกคามต่อสุขภาวะของผู้คนจำนวนมากๆ พร้อมกัน  เมืองใหญ่ที่มีมลพิษอากาศสูงกระทบกับผู้คนพร้อมกันนับล้านชีวิต

ปัญหามลพิษอากาศเกิดจากทั้งธรรมชาติและมนุษย์กระทำขึ้น  ไม่เหมือนแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรืออุทกภัย ดูเผินๆ เหมือนจะง่าย เพราะธรรมชาติควบคุมไม่ได้

แต่ที่จริงแล้ว มลพิษอากาศมีความซับซ้อน ผูกพันกับผลประโยชน์และกิจกรรมของผู้คน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการกันง่ายๆ

ความเหลื่อมล้ำเป็นชั้นๆ ของอากาศ :ว่าด้วยเรื่อง\"ค่ามาตรฐานอากาศ\"

เช่น เรารู้ว่ารถดีเซลเป็นแหล่งใหญ่ของ pm2.5 แต่จู่ๆ จะห้ามปิคอัพออกวิ่งบนถนนเป็นเวลาหนึ่งเดือนระหว่างฤดูมลพิษสูงมันทำไม่ได้ เพราะคนต้องประกอบอาชีพงานการ รถรับส่งพัสดุสินค้า รถโดยสารรับส่ง ฯลฯ ให้หยุดไม่ได้ เพราะกระทบสังคมแรง

หรือ ปุบปับสั่งให้โรงงานอุตสาหกรรมหยุดการผลิตระหว่างค่าฝุ่นสูง มันก็ทำได้ยากเช่นกัน จะให้หยุดนานเท่าไหร่

สายพานการผลิตและสัญญาส่งมอบสินค้าเอกชนเสียหาย มันจึงต้องมีกฎหมายระเบียบควบคุมมาตรฐานการปล่อยมลพิษของโรงงานไว้ก่อน ซึ่งมาตรฐานที่ว่า ก็ถูกตั้งคำถามเหมือนกับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทางการไทยใช้อยู่

ยิ่งภาคเกษตรด้วย ยิ่งต้องใช้ไฟและเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ใหญ่มาก ภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ของเราเป็นแหล่งไฟใหญ่และปลดปล่อยมลพิษอากาศมากสุดแหล่งหนึ่งของโลก โดยภาคเกษตรนี่แหละที่เป็นแหล่งใหญ่สุด

ความเหลื่อมล้ำเป็นชั้นๆ ของอากาศ :ว่าด้วยเรื่อง\"ค่ามาตรฐานอากาศ\"

มลพิษสะท้อนสังคม !

ยิ่งมลพิษที่มีความซับซ้อนจัดการยาก ก็ยิ่งสะท้อนความซับซ้อนของสังคม ไปด้วย !!  

ทำไมโลกที่หนึ่ง- ชาติที่พัฒนาแล้ว ถึงมีมาตรฐานมลพิษ มาตรฐานคุณภาพอากาศ และมาตรฐานชีวิตสูงกว่าโลกที่กำลังพัฒนา ??

ระดับของมลพิษจึงเกี่ยวกับความร่ำรวยและระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนไปด้วย ชาติที่กำลังพัฒนาไม่สามารถตั้งมาตรฐานเข้มงวดเพราะยังยากจน ยังปากกัดตีนถีบ และจำต้องผลิตแบบปลดปล่อยมลพิษมากๆ  เช่น การเกษตรที่ยังต้องใช้ไฟเผา ไม่ใช้ไม่ได้หรือ ...ไม่ได้ครับ ถ้าใช้เครื่องจักรต้นทุนจะเพิ่มขึ้น นี่ก็แทบไม่มีกำไรเหลือติดบ้านอยู่แล้ว 

ระหว่างโลกที่หนึ่ง กับโลกที่สาม มีความเหลื่อมล้ำทางมลพิษ  ระดับคุณภาพอากาศก็เหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัดจากค่ามาตรฐานอากาศ AQI ที่ปรากฏ ซึ่งมันชัดเจนว่าในช่วงเวลานี้ คุณภาพอากาศของยุโรป อเมริกา ที่ผู้คนใช้หายใจนั้น ดีกว่าค่าเฉลี่ย AQI (ดัชนีคุณภาพอากาศ)  ของอินเดีย เอเชีย อาฟริกา ที่มีการเผาในที่โล่งจำนวนมาก

ค่ามาตรฐานอากาศของประเทศไทยที่ใช้อยู่ ตามโลกที่พัฒนาแล้วหรือกระทั่งเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซียอยู่นะครับ มาตรฐานไกด์ไลน์ ของค่าเฉลี่ย 24 ชม. ของฝุ่นจิ๋ว pm2.5 ที่องค์การอนามัยโลก WHO ชี้นำอยู่ที่ไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/ลบ.ม.  ของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป รวมถึง สิงคโปร์ มาเลเซีย ตอนนี้อยู่ที่ระหว่าง 35-37 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่ของประเทศไทยยังอยู่ที่ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ความเข้มงวดของค่ามาตรฐานอากาศแต่ละประเทศ ก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำแตกต่างของคุณภาพชีวิตระหว่างประชาชนแต่ละชาติด้วย

ความเหลื่อมล้ำของอากาศไม่ได้แตกต่างกันแค่โลกที่พัฒนาแล้วก็โลกที่กำลังพัฒนาเท่านั้น มาย้อนดูในระดับประเทศก็มีความเหลื่อมล้ำ

เพราะระหว่างเมืองหลวงหรือเมืองที่มีเศรษฐกิจดี กับ ต่างจังหวัดไกลออกไปก็มีความเหลื่อมล้ำแตกต่าง เช่น หากเกิดค่ามลพิษอากาศเกินมาตรฐานเล็กน้อยในเมืองหลวง จะเป็นข่าวใหญ่ ผู้บริหารระดับนโยบายให้ความสำคัญ มีการเตือนล่วงหน้าและมาตรการแก้อย่างจริงจัง

ซึ่งหากเกิดในต่างจังหวัดหรืออำเภอไกลออกไป ต่อให้ค่ามลพิษอากาศจะมากกว่ากันหลายเท่า รัฐบาลให้ความสนใจน้อยกว่า

เอาแค่จำนวนเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดใหญ่ได้รับรองมาตรฐาน US-EPA (สํานักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา)เครื่องราคาหลักล้านที่ติดตั้งในกรุงเทพและปริมณฑล บนเครื่องข่าย Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ มีมากถึง 74 สถานี เทียบกับภาคอีสานทั้งภาค มีแค่ 16 เครื่อง ยังติดได้ไม่ครบทุกจังหวัดเลยด้วยซ้ำ

การได้สูดอากาศสะอาดหายใจเข้าไปเป็นสิทธิ์พื้นฐานของประชาชนต้องได้รับ รัฐต้องจัดการให้มี กรณีที่เกิดมลพิษอากาศเพิ่มสูงรัฐก็ต้องจัดให้มีห้องปลอดภัยมีเครื่องฟอกอากาศไว้ให้

ดังที่เริ่มปรากฏในหลายๆ จังหวัดที่มีวิกฤตมลพิษเรื้อรัง แต่ยังไม่ครบและครอบคลุม นี่ก็เป็นความเหลื่อมล้ำในแง่ของการเข้าถึง

ความเหลื่อมล้ำเป็นชั้นๆ ของอากาศ :ว่าด้วยเรื่อง\"ค่ามาตรฐานอากาศ\"

(มลพิษบนท้องถนน) 

การรับรู้ข้อมูลคุณภาพอากาศ

สิทธิในการรับรู้ข้อมูลค่าคุณภาพอากาศเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการหายใจ เพราะถ้าประชาชนไม่สามารถรู้ว่าตอนนี้คุณภาพอากาศรอบๆ ตัวดีหรือเลว แค่ไหน อย่างไร  เขาก็จะไม่สามารถป้องกันตัวเองจากภาวะอากาศไม่ดี

 สมัยก่อนหน้าไม่นาน รัฐมีเครื่องวัดตัวใหญ่เครื่องเดียวแถวๆในเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัดใช้แทนค่าคุณภาพอากาศของทั้งจังหวัด ทั้งๆ ที่เจ้าเครื่องที่ว่าสามารถสะท้อนค่าคุณภาพอากาศรอบๆ ได้ไม่เกิน 5 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

อำเภอห่างไกลจึงถูกยัดเยียดให้ใช้ค่าอากาศของตัวเมือง ซึ่งมันไม่เป็นความจริง และมันก็เป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนในจังหวัดเดียวกันนั่นเอง คนในเมืองได้สิทธิรู้ค่าอากาศเหนือกว่าคนชนบทต่างอำเภอออกไป

 ที่จริงแล้วยุคนี้มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กหรือโลว์คอสต์เซ็นเซอร์ หลายเครือข่ายให้บริการ  อุดช่องโหว่ของค่าอากาศรัฐบาลที่มีจำนวนน้อยไม่ครอบคลุม แต่พอมาดูในรายละเอียด

เจ้าเครือข่ายเซ็นเซอร์ก็ยังไม่ครอบคลุมลงไปถึงระดับตำบล อย่างเช่นในภาคเหนือตอนบนที่เจอปัญหามายาวนาน ยังมีเครือข่ายเครื่องวัดขนาดเล็กที่ติดตั้งในระดับตำบลไม่ถึงครึ่งของตำบลทั้งหมด 

รัฐควรจะเร่งให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกตำบลติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้ครบทุกตำบลเสียที รัฐมีแผนมาตรการนี้บรรจุในวาระแห่งชาติแต่ยังไม่ขยับจริงจัง

การได้ทราบข้อมูลคุณภาพอากาศของพื้นที่ตนเอง เป็นจุดเริ่มของกระตุ้นให้เกิดสนใจปัญหาโดยรวมที่ใหญ่ขึ้น

และเป็นการสนองต่อสิทธิการรับรู้พื้นฐานที่เหลื่อมล้ำมายาวนาน ระหว่าง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ตัวจังหวัด และส่วนท้องถิ่น ชนบทนอกออกไป

มาตรการแก้ปัญหาก็เช่นกัน  เพราะแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศนั้นเกิดจากทุกแหล่ง หลายระดับ และหลากหลายความเข้มข้น

แก้ปลายเหตุ : ยกทัพไปดับไฟ

ที่ผ่านๆ มา มาตรการของรัฐยังแก้ที่ปลายเหตุ เช่น การยกทัพไปดับไฟ สั่งห้ามเผาในภาคเหนือ กลุ่มเป้าหมายหลักคือราษฎรภาคเกษตรและชุมชนในเขตป่า

แต่ไม่จ้ำจี้จ้ำไชจริงกับแหล่งกำเนิดใหญ่มากที่สุดคือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงไฟในเขตป่าของรัฐเอง รวมถึงมาตรการต่อแหล่งกำเนิดอื่น เช่น ภาคเมือง และภาคอุตสาหกรรม

มันจึงเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้นในระหว่างประชาชน  หรือแม้กระทั่งนโยบายอุดหนุนลดปัญหาการเผาในอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ให้เงินเพื่อลดการเผาอ้อย นี่สามารถลดการเผาไร่อ้อยได้จริง แต่ผู้ได้รับประโยชน์ปลายทางคือทุนใหญ่ส่งออก

ขณะที่ยังมีการเผาภาคเกษตรอื่นๆ เช่นนาข้าว ข้าวโพด ฯลฯ ไม่ได้รับอุดหนุน ยังเป็นแหล่งปล่อยมลพิษ และถูกมาตรการเข้มงวดห้ามเผาเด็ดขาดของรัฐมาบังคับจี้ไช มลพิษสะท้อนสังคม และสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ลึกลงไปของการแก้ปัญหามลพิษอากาศ คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคม

มันไม่ง่ายเลย ... เอาแค่ค่ามาตรฐานอากาศให้เท่ากับเพื่อนบ้านที่เขาล้ำหน้าไปแล้ว ยังติดขัดเจอตอขยับไม่ไป  

ลองส่องดูดีๆ ตอดังกล่าวคือตอของผลประโยชน์และความเหลื่อมล้ำด้วยหรือไม่