เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ "นอนไม่หลับ" ให้คนเมือง

เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ "นอนไม่หลับ" ให้คนเมือง

ปีนี้ "วันนอนหลับโลก 2565" ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม โดยนับเอาวันศุกร์ในสัปดาห์ที่สอง (เต็มสัปดาห์) ของเดือนมีนาคม เป็นวันเฉลิมฉลองและให้เห็นความสำคัญของการนอนที่มีคุณภาพ

"วันนอนหลับโลก2565" ปีนี้ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม โดยนับตามวันศุกร์ในสัปดาห์ที่สอง (เต็มสัปดาห์) ของเดือนมีนาคมในทุกๆ ปี เป็นวันเฉลิมฉลอง "World Sleep Day" เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

โดยสำหรับปีนี้องค์กร World Sleep Day โดย World Sleep Society (WSS) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งสโกแกนรณรงค์ประจำปีไว้ว่า “Quality Sleep, Sound Mind, Happy World” หรือแปลความได้ว่า “การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ส่งต่อจิตใจแจ่มใส ให้โลกมีความสุข” 

เนื่องจากการนอนหลับเป็นปัจจัยหลักของสุขภาพที่ดี และคุณภาพการนอนหลับในแต่ละคืนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ร่างกายมีพลังงานพร้อมทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ระหว่างวันของคุณด้วย 

ทั้งนี้ องค์กร WSS เริ่มต้นโดยกลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ มีสมาชิกหลักๆ เป็นแพทย์ที่ทำงานและศึกษาด้านยานอนหลับและการวิจัยด้านการนอนหลับ เป้าหมายของวันนอนหลับโลกในครั้งแรก คือ การรวบรวมเอาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับมาคุยหารือ แล้วเผยแพร่ข้อมูลการนอนหลับที่มีคุณภาพออกไปทั่วโลก 

แล้ว “การนอนหลับ” แบบไหน? เรียกว่าเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพ

เรื่องนี้มีคำตอบจาก อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อธิบายเอาไว้ในบทความวิชาการของ RAMA Channel ระบุว่า โดยปกติวงจรการนอนหลับของคนเราแบ่งออกเป็น 2 วงจร ได้แก่ 

1. Non-Rem Sleep คือ ช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงการหลับลึก

2. Rem Sleep คือ ห้วงการนอนหลับที่กล้ามเนื้อต่างๆ หยุดทำงานหมด ยกเว้น หัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นช่วงที่คนเรามักจะฝันเป็นเรื่องเป็นราว โดยการนอนแบบนี้จะเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของการนอน (ก่อนที่จะตื่นนอน) เป็นเหตุให้ฝันบ่อยๆ ในช่วงเช้ามืด

โดยการนอนที่ดีหรือ "การนอนที่มีคุณภาพ" นั้น จะต้องมีทั้ง 2 ช่วงดังกล่าว สลับกันไปในแต่ละคืน

ทั้งนี้ ระยะเวลาของการนอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานนั้น ไม่มีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน แม้มีค่าเฉลี่ยของชั่วโมงการนอนอยู่ที่ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่บางคนอาจนอนเพียงแค่ 5 ชั่วโมงก็สามารถตื่นเช้าได้อย่างสดชื่น ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลานอนถึง 10 ชั่วโมง จึงจะรู้สึกสดชื่นตื่นเต็มตา

แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่า เรานอนอย่างเต็มที่หรือไม่นั้น คือ การที่เราตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

ส่วนใครที่มีปัญหา “นอนไม่หลับ” หรือนอนหลับได้ไม่เต็มที่ และเมื่อตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่มีสมาธิทำงานระหว่างวัน

หากมีอาการแบบนี้อาจต้องหาตัวช่วยเพื่อให้นอนหลับได้ดีขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมนวัตกรรมที่ช่วยให้การนอนของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 

1. ที่คาดศีรษะอัจฉริยะ ‘Muse S’

อุปกรณ์นี้เป็นเทคโนโลยีจากแคนาดา ช่วยทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกสงบ มีสมาธิ และช่วยทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น ใช้เทคโนโลยี Electroencephalogram (EEG) ที่สามารถตรวจสอบคลื่นสมองขณะนอนหลับ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการนอนหลับย้อนหลังได้ (เชื่อมต่อกับแอปฯ ในสมาร์ทโฟน)

เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ \"นอนไม่หลับ\" ให้คนเมือง

อีกทั้งยังสามารถปล่อยคลื่นเสียงดนตรี เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลาย สามารถนอนหลับได้มีประสิทธิภาพ หากผู้ใช้งานสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางคืน ที่คาดหัวอัจฉริยะนี้ก็จะกลับมาทำงานทันที เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าสู่ภาวะนอนหลับได้อีกครั้ง 

2. หมอนหลับลึก Alpha Pillow 2 

หากต้องการหมอนที่ทำให้หลับง่าย นอนสบาย ไม่สะดุดจนต้องตื่นกลางดึก หลายคนอาจจะสนใจหมอน Alpha Pillow 2 ที่ใช้วัสดุเมโมรีโฟมผสมถ่านไม้ไผ่ ที่มีรูปทรงสอดรับกับสรีระร่างกายขณะนอน ช่วยลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลังตื่นนอนตอนเช้าได้อย่างดี

เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ \"นอนไม่หลับ\" ให้คนเมือง

อีกทั้งมีเทคโนโลยี aqua cooling membrane  จึงมีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี และผ้าที่ใช้ทำจากเทคโนโลยีเพียวซิลเวอร์ไฟเบอร์ มีคุณสมบัติทำความสะอาดตัวเองได้ ป้องกันการเกาะติดของแบคทีเรีย จึงลดความสกปรกสะสมได้ด้วย

3. Sleepace Sleep Dot

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะช่วยติดตามการนอนหลับของคุณได้ เพื่อช่วยพัฒนาและปรับปรุงการนอนให้มีคุณภาพดีขึ้น นั่นคือ Sleepace Sleep Dot โดยมีวิธีการใช้งานได้ง่ายๆ คือ เพียงแค่เสียบตัวอุปกรณ์เข้าไปในปลอกหมอน เพื่อให้ติดตามรอบการนอนหลับและการเคลื่อนไหวของร่างกายในแต่ละคืน รวมถึงสามารถปลุกคุณในตอนเช้าด้วยเสียงและดนตรีที่ผ่อนคลายอีกด้วย

เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ \"นอนไม่หลับ\" ให้คนเมือง

4. Dodow ช่วยปรับจังหวะหายใจ สู่การนอนหลับสนิท

Dodow เป็นนวัตกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาเรื่องการนอนที่มีความสอดคล้องกับสุขภาพหัวใจ ผ่านงานวิจัยจำนวนมากว่า 13,000 ชิ้น 

โดยหนึ่งในนั้น คือ ดร.เดวิด โอแฮร์ แพทย์เฉพาะทางการรักษาโรคหัวใจ ที่ให้ข้อมูลว่า การนอนสอดคล้องกับสุขภาพของหัวใจ หากนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้เราจัดการความเครียดและอารมณ์ในด้านลบได้ ส่งผลให้หัวใจทำงานเป็นปกติ

อุปกรณ์ช่วยนอนหลับชิ้นนี้ ได้รับการยอมรับจากสหพันธ์โรคหัวใจฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2014 ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการต่อสู้กับความวิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับ

เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ \"นอนไม่หลับ\" ให้คนเมือง

หลักการทำงานคือ เมื่อกดปุ่มเปิดใช้งานอุปกรณ์นี้ เครื่องจะแสงสีน้ำเงินปรากฏขึ้นบนเพดาน เมื่อลำแสงขยายให้คุณหายใจเข้า เมื่อลำแสงหดเล็กลงให้หายใจออก ลำแสงทำหน้าที่เป็นแนวทางในการหายใจ ใช้เวลาประมาณ 8 นาที วิธีนี้ช่วยให้คุณหลับได้อย่างเป็นธรรมชาติ และเร็วกว่าการนอนหลับเอง 2.5 เท่า 

5. แหวน Circular ติดตามคุณภาพการนอน 

ปิดท้ายกับอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Circular เป็นอุปกรณ์ติดตามการนอนหลับในรูปแบบแหวน สวมใส่ง่าย ถอดง่าย ใช้งานสะดวกสบาย ตัวเครื่องจะทำการวัดและวิเคราะห์สัญญาณชีวภาพของคุณระหว่างการนอนหลับ เพื่อช่วยให้คุณติดตามพฤติกรรมการนอนและวัดค่า Heart Rate ได้ทุกวัน โดยเชื่อมต่อและแสดงผลผ่านทางแอปฯ บนสมาร์ทโฟน

ผู้ใช้งานจะพบการรายงานผลเกี่ยวกับพารามิเตอร์ในรูปแบบต่างๆ เช็กได้ว่าพารามิเตอร์แบบใดที่ส่งผลต่อการนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกิจกรรมใดที่สัมพันธ์กันเพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น โดยจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เข้าใจง่าย และมีคำแนะนำเกี่ยวกับการนอนให้ผู้ใช้งานได้ศึกษาด้วย

เปิดนวัตกรรมช่วยลดอาการ \"นอนไม่หลับ\" ให้คนเมือง

--------------------------------------

อ้างอิง : worldsleepday.orgrama.mahidolsciencefocus, becommon/innovative-sleeping, brandthink