ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

แฟชั่นแนว “Gender Fluidity” เสื้อผ้าไม่ระบุเพศ เทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่ “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” เลือกใส่ใน มิวสิควิดีโอเพลงใหม่ “I'll Do It How You Like It” และกำลังเป็นที่พูดถึงในโลกทวิตเตอร์ขณะนี้

สร้างความฮือฮาและกลายเป็นกระแสทั่วโซเชียลในทันทีหลังจากที่ “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลงใหม่ “ll Do It How You Like It” เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา จน #PPKritDoItOUTNOW สามารถติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยในเวลาไม่นาน และมียอดเข้าชมผ่าน 1 ล้านครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้พูดถึงคือแฟชั่นเครื่องแต่งกายของพีพี ที่เป็นแนว “Gender Fluidity” เสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก เห็นได้จากงานแฟชั่นโชว์หลายแห่งที่มีเสื้อผ้าแนวนี้แฝงอยู่ในแทบทุกโชว์ และงานลอนดอน แฟชั่น วีค (London Fashion Week) ประกาศว่าโชว์ในการจะไม่มีโชว์เสื้อผ้าแบบกำหนดเพศอีกต่อไป

"แฮร์ริส รีด" (Harris Reed) แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ออกแบบเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ได้รับรางวัล “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Leader of Change) จากงานบริติช แฟชั่น อวอร์ดส (British Fashion Awards) หนึ่งในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการแฟชั่น

แบรนด์ต่าง ๆ ก็ต่างรับกระแสนี้ด้วยเช่นกัน แบรนด์หรูอย่างกุชชี (Gucci) ได้ออกเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า และกระเป๋าที่ไม่มีกรอบของเพศครอบอยู่ ภายใต้ชื่อ “Gucci MX” ขณะที่ “Eytys” แบรนด์รองเท้าสัญชาติสวีเดน ได้ยกเลิกการระบุเพศในสินค้าของตน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามต้องการ มีอิสระมากขึ้น

อีกทั้งเหล่าบรรดาเซเลบริตี้ใส่เสื้อผ้าแนวนี้ไปงานประกาศรางวัล และงาน “เมตกาลา” (Met Gala) งานการกุศลที่ใหญ่ที่สุดของวงการแฟชั่น แต่ที่เกิดกระแสไปทั่วโลกคือการที่ “แฮร์รี สไตลส์” (Harry Styles) ใส่ชุดราตรีขึ้นปกนิตยสาร Vogue

ความจริงแล้วแฟชั่นแนว Gender Fluidity ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร และมีมานานแล้ว

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

แฮร์รี่ สไตลส์ บนปกนิตยสาร Vogue

--เครดิตรูป: นิตยสาร Vogue--

  • ย้อนรอยประวัติศาสตร์เทรนด์ Gender Fluidity

แฟชั่นไม่ระบุเพศ (Gender Fluidity หรือ Androgynous) มีมาตั้งแต่ปี 2456 โดย “โคโค ชาแนล” (Coco Chanel) ตัดเย็บกางเกงสำหรับผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้สามารถเคลื่อนไหวและทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องลำบากสวมใส่กระโปรงยาวแบบยุควิคตอเรียน 

หลังจากนั้น ในยุคทศวรรษที่ 1930 ดาราดังของวงการฮอลลีวูดอย่าง “แคทารีน เฮปเบิร์น” (Katharine Hepburn) และ "มาร์เลเนอ ดีทริช" (Marlene Dietrich) ได้แต่งตัวด้วยชุดสูทพร้อมหมวกทรงสูงแบบผู้ชาย ไม่เพียงแต่การใส่เสื้อผ้าผู้ชายเท่านั้น ทั้งคู่ยังมีทัศนคติหัวก้าวหน้า และท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงในสมัยนั้น

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

แคทารีน เฮปเบิร์น ในชุดสูท

 

เห็นได้จากวลีเด็ดของเฮปเบิร์นที่กล่าวกลับ เคลวิน ไคลน์ว่า “ทุกครั้งที่ฉันได้ยินผู้ชายพูดว่า เขาชอบให้ผู้หญิงใส่กระโปรง ฉันก็จะพูดว่า เอาสิ ลองใส่กระโปรงดู” ขณะที่ดีทริซมีฉากจุมพิตผู้หญิง ขณะที่เธอสวมชุดสูทของผู้ชาย ในภาพยนตร์เรื่อง “Morocco” (2473) ซึ่งได้กลายเป็นฉากที่หนึ่งที่น่าจดจำจากยุคสมัยนั้น

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

มาร์เลเนอ ดีทริช ในชุดสูท สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Morocco

 

เมื่อเข้าสู่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงต้องกลับไปสวมกระโปรง และทำหน้าที่แม่บ้านอีกครั้ง ตามนโยบายสร้างชาติของสหรัฐ ซึ่งทำให้กลุ่มเฟมินิสต์ คลื่นลูกที่ 2 (Second-wave Feminism) ออกมาเรียกร้องเรื่องเสื้อผ้าที่สามารถใช้ร่วมกันทุกเพศ (Unisex) และไม่ได้ต้องการภาพเหมารวมที่มองว่าผู้หญิงจะต้องเป็นทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือนเท่านั้น

ถัดมาปี 2509 “อีฟส์ แซ็งต์ โลร็องต์” (Yves Saint Laurent) ได้ให้กำเนิดชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงเป็นครั้งแรก ทำให้ผู้หญิงมีอิสระในการแต่งกาย และเห็นว่าผู้หญิงก็สามารถมีความแข็งกร้าว และมีความเป็นชายได้เช่นกัน และหลังจากนั้นผู้หญิงสามารถสวมใส่กางเกงได้เป็นปรกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป มาจนถึงปัจจุบัน

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

ชุดทักซิโด้ผู้หญิงตัวแรกของโลก

--เครดิตรูป: เว็บไซต์ Musee Yves Saint Laurent Paris--

 

  • เมื่อผู้ชายละเมิดบรรทัดฐานทางสังคม

ขณะเดียวกัน ผู้ชายเริ่มมีแนวคิดการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ไม่จำกัดเพศด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “Peacock Revolution” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 จนถึง ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1970 ที่ผู้ชายเริ่มไว้ผมยาว กรีดอายไลเนอร์ แต่งตัวด้วยสีสันจัดจ้าน สดใส ผ้าพิมพ์ลายต่าง ๆ ขนนก ตลอดจนชุดกรุยกราย หรือชุดที่มีความเป็นหญิง นำทัพโดยนักร้องชื่อดังแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็น “เดอะ บีเทิลส์” (The Beatles), "เดวิด โบวี" (David Bowie) และ “จิมมี เฮนดริกซ์” (Jimi Hendrix)

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

เดวิด โบวี ในชุดบอดี้สูท สำหรับแสดงโชว์ในฐานะ Ziggy Stardust

 

ในช่วงดังกล่าว เป็นยุคที่การเป็นคนรักเพศเดียวกันไม่ได้ถือว่าเป็นอาชญากรรมอีกต่อไป มีการนำสไตล์การแต่งตัวของกลุ่มเกย์มาปรับใช้กับกลุ่มชายแท้ ซึ่งเป็นการท้าทายต่อบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมได้กำหนดไว้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสำรวจและค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอีกด้วย

ถัดมาในยุค 80 คงจะไม่มีใครโดดเด่นเท่ากับ “ปรินส์” (Prince) นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดัง เจ้าของเพลงฮิต “Purple Rain” และ “เกรซ โจนส์” (Grace Jones) นางแบบชาวจาเมก้า ผู้ปฏิวัติวงการเพลงและวงการแฟชั่นที่อยากจะใส่อะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ทำลายเส้นแบ่งของเพศชายและเพศหญิงไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ 

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้ Prince ในชุดสูทสีชมพูลายพิมพ์ พร้อมขนเฟอร์สีชมพู

 

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

เกรซ โจนส์ในลุคทรงผมลานบินที่เป็นที่จดจำของคนทั่วโลก 

--เครดิตรูป: เฟซบุ๊ค Grace Jones--

 

ภาพของ "เคิร์ท โคเบน" (Kurt Cobain) นักร้องนำผู้ล่วงลับ แห่งวงเนอร์วานา (Nirvara) ไว้ผมยาว กรีดอายไลเนอร์ และสวมชุดเดรสตุ๊กตา พร้อมคีบบุหรี่ในมือ กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Gender Fluidity ของยุค 90 นี่สิ่งที่โคเบนตั้งคำถามถึงข้อจำกัดที่สังคมได้กำหนดเอาไว้ให้แต่ละบุคคล การแต่งกายของโคเบนจึงเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับชายแท้ อีกทั้งโคเบนและวงเนอร์วานายังเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ทำให้แนวคิดการต่อต้านการเหยียดเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ และการไม่กีดกันทางเพศได้รับความสนใจขึ้นด้วย

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

เคิร์ท โคเบน บนปกนิตยสาร The Face

 

  • Gender Fluidity ในประเทศไทย

ในปัจจุบัน การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบบ Gender Fluidity กลายเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนรุ่นใหม่ที่เลือกใส่เสื้อผ้าเพียงเพราะต้องการใส่ ชอบในเสื้อผ้าตัวนั้น ๆ ไม่ได้เอาเรื่องความเป็นเพศมาเป็นตัวกำหนด ดังที่ “จอนนี่ โยฮันส์สัน” (Jonny Johansson) ผู้ก่อตั้ง “Acne Studios” แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของสวีเดน กล่าวว่า “ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเสื้อผ้าได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาเลือกเสื้อผ้าจากรูปทรง เนื้อผ้า การตัดเย็บ เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้เลือกเพราะต้องการให้สังคมมายอมรับ ว่าจะต้องใส่เสื้อผ้าตามเพศของตน”

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย มีดารานักแสดงหลายคนที่แต่งตัวแนวแฟชั่นไม่จำกัดเพศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “เจมส์ - ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ” “ตน - ต้นหน ตันติเวชกุล” “เขื่อน - ภัทรดนัย เสตสุวรรณ” และ พีพี - กฤษฏ์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจในสไตล์การแต่งตัวดังกล่าว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เข้าใจและต่อต้าน ดังที่ เขื่อนเคยให้สัมภาษณ์ใน รายการแฉ ว่า มีคนต่างชาติส่งข้อความขู่ฆ่าเพราะไม่ชอบที่แต่งตัวด้วยชุดเดรส

ส่องเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ ‘Gender Fluidity’ ที่กำลังมาในพ.ศ.นี้

(ซ้ายบน) เจมส์ - ธีรดนย์, (ขวาบน) ตน - ต้นหน, (ซ้ายล่าง) “เขื่อน - ภัทรดนัย” และ (ซ้ายล่าง) พีพี - กฤษฏ์ 

ขณะที่เจมส์ ธีรดนย์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GQ ถึงประเด็นนี้ว่า แม้จะยังมีคนที่ไม่ชอบในสไตล์การแต่งของเขา มันคือความสุขส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องไปทำตามที่คนอื่นบอก ดังนั้นเวลาซื้อเสื้อผ้าเขาจึงไม่อายที่จะเดินเข้าร้านเสื้อผ้าผู้หญิง 

เมื่อถามถึงเวลามีคอมเมนท์มาถามถึงรสนิยมทางเพศของเขา เขาตอบว่า “ผมชินแล้วครับ ผมโดนมาเยอะมาก ที่จริงถ้าไปลองดูคอมเมนท์พวกนั้น จะรู้เลยว่าการที่เรามีทัศนคติต่อคนคนหนึ่งที่แต่งตัวสาว แล้วคุณไปบอกว่าเขาแต่งตัวสาว มันทำให้รู้เลยว่าทัศนคติต่อ LGBTQ+ ของคุณเป็นอย่างไร มันสะท้อนกันหมดเลยนะ ว่าสังคมเราถูกปลูกฝังกันมาแบบไหนหรอ ถึงมีความคิดที่ไม่เปิดขนาดนี้”

การเข้ามาของแฟชั่นแบบ Gender Fluidity อาจจะยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับคนทั่วไป แต่แฟชั่นแบบนี้ทำให้เกิดความตระหนักและท้าทายมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เพียงแค่เทรนด์ แต่มันคือตัวตนของใครหลายคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทุกคนย่อมมีสิทธิสวมใส่เสื้อผ้าที่ตนเองต้องการ และมีความสุขเมื่อได้สวมใส่


ที่มา: BBC, Bustle, Teen Vogue, The GuardianThe Matter, The PeopleTranslate Media, Vogue Scandinavia