พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

เป็น "ไรเดอร์" มันเหนื่อย คุยกับแอดมินเพจสหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union ถึงสิทธิ สวัสดิการ และขอเรียกร้องที่ยังไปไม่ถึงของพนักงานส่งอาหาร แรงงานส่วนสำคัญของธุรกิจแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่แจ้งเกิดในช่วงโควิด-19

ตราบที่โควิด-19 ยังดำเนินไป ธุรกิจ ฟู้ดเดลิเวอรี (Food Delivery) ในไทยคงเติบโตขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยซึ่งระบุว่า ทิศทางตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก ในปี 2565 คาดว่าจะปรับขึ้น โดยมูลค่าประมาณอยูที่ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5%

แม้อัตราการเติบโตจะชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 แต่การเกิดขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนยังทำให้กลุ่มร้านอาหาร ทั้งร้านแบบ Limited Service (เช่น แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด) และ Street food ยังให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ทร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้คนที่เมื่อหิว ก็อยากกดโทรศัพท์สั่งอาหารมากกว่าจะออกไปข้างนอก

ถึงเช่นนั้น นอกจากความสะดวกสบาย รสชาติอาหารจากร้านโปรดที่พร้อมเสิร์ฟทุกคนถึงหน้าบ้านแล้ว องค์ประกอบของธุรกิจ "ฟู้ดเดลิเวอรี"ที่ว่านี้ ยังมีฟันเฟืองที่ขาดไม่ได้อย่าง "ไรเดอร์"’ ซึ่งเป็นนิยามเรียก กลุ่มพนักงานส่งอาหาร โดยไรเดอร์ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น แต่กลับกันที่แรงงานกลุ่มนี้ยังมีข้อถกเถียงถึงประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิต การทำงาน สวัสดิการ การกำกับดูแลจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสถานะทางกฎหมายในฐานะ ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราจึงเห็นการรวมตัวประท้วงของกลุ่มไรเดอร์อยู่เป็นระยะ เช่น การประกาศนัดหยุดงานในช่วงเวลาเร่งด่วน ระหว่าง 11.00 น. – 12.59 น. ของกลุ่มสหภาพไรเดอร์ภาคอีสาน-ใต้ เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา การประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทฟู้ดเดลิเวอรีแห่งหนึ่ง ของกลุ่มไรเดอร์ในจังหวัดอยุธยา อ่างทองและสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้น

 

เมื่อโลกยุคใหม่เปิดโอกาสให้ธุรกิจแพลตฟอร์มได้เบ่งบาน และพนักงานส่ง ถือเป็นแรงงานในธุรกิจดังกล่าว "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พูดคุยกับ #แอดมินหนึ่ง คุณวิทยา ทัพมงคล สมาชิกสหภาพไรเดอร์ หนึ่งในแอดมินเพจสหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารและการแสดงออกของกลุ่มไรเดอร์ทั่วประเทศ ถึงข้อเรียกร้อง ความเป็นไป และอนาคตของกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม ที่ดูจะมีมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

จุดเริ่มต้นของการรวมตัวเป็นสหภาพไรเดอร์ คืออะไร?

ครั้งแรกจากกรณีบริษัทเดลิเวอรีเจ้าหนึ่ง ปรับลดการมองเห็นระยะทางในการรับงาน จากเดิมไรเดอร์หรือพนักงานส่งจะมองเห็นงานในระยะไม่เกิน 1.5 กิโลเมตรจากร้านอาหาร แต่เจ้าของธุรกิจมีการปรับให้เหลือเพียง 500 เมตร ซึ่งทำให้การทำงานเปลี่ยนไป จากเดิมนั่งอยู่ตรงนี้จะเห็นงาน ก็กลายเป็นไม่เห็น ต้องไปรอในจุดที่ใกล้ร้านมากๆ  ซึ่งเมื่อสื่อสารไปยังเพจและคอมเมนต์ไปที่บริษัท ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ เราจึงรวมตัวกันไปที่บริษัท จนได้รับการแก้ไข

ในขณะนั้นบริษัทให้เหตุผลว่าอะไร?

เขาต้องการกระจายงานให้ทั่วถึง แต่ขณะเดียวกันบริษัทก็ควรบอกคนทำงานก่อนไง ถ้าหวังดีจริง ก็ควรจะบอกเรา เราเป็นคนทำงานก็ควรจะรู้บ้าง ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วให้เรารู้เอง ไรเดอร์มาสังเกตเองว่าทำไมงานมันน้อยจัง กว่าจะรู้ก็ปาไป 1-2 วัน

ในครั้งนั้นพอเรารวมตัวประท้วงแล้ว เขาก็แขวนชื่อเรา และเรียกไปคุย เพื่อต้องการสลายกลุ่มป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวขึ้น ในกรณีถ้ามีเหตุเช่นนี้อีก

การกระจายงานเป็นเหตุผลที่ถูกนำมาอ้าง แต่แท้จริงแล้วเราต่างรู้ว่าวิธีนี้เพื่อต้องการเปิดโอกาสให้มีไรเดอร์รายใหม่เข้ามาในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาคนใหม่เข้ามา แรกๆ เขาก็จะแย่งงานจากคนเก่ายาก เพราะคนเก่ามีทักษะมากกว่า ซึ่งบริษัททำเพื่อโน้มน้าวให้เกิดไรเดอร์ใหม่ๆ เรื่อยๆ “คุณลองดูสิ ถ้ามีงานเข้ามา แป๊บเดี๋ยวมันหายไปเลย” (เปิดหน้าจอให้ดู) ถ้านานๆมาที ไม่เซียนจริง แป๊บเดียวงานหายแล้ว คนที่จะได้งานต้องมีประสบการณ์หน่อยถึงจะรู้

อีกกรณีที่เรารวมตัวกันคือตอนที่มีดีลแยกบริษัทเดลิเวอรี 2 เจ้า ที่เคยเป็นพันธมิตรแยกตัวออกจากกัน ซึ่งในช่วงรอยต่อนั้นได้เรียกเก็บเงินประกันค่าสินค้าเสียหายจำนวน 200 บาทจากไรเดอร์ทุกคน โดยไร้ซึ่งการชี้แจงเหตุผล ไรเดอร์จึงรวมตัวแสดงความไม่พอใจ ประกอบกับในช่วงนั้นมีการให้คำแนะนำจาก สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ในการตั้งสหภาพเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง   จึงเป็นที่มาของสหภาพลาล่าฯ มีการตั้งเพจ Facebook แต่พอไรเดอร์มีจำนวนมากขึ้น จึงไม่ใช่แค่ไรเดอร์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้ว แต่เป็นหลายๆคน หลายจังหวัด ที่ต้องการเรียกร้องบริษัท

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

กลุ่มสมาชิกสหภาพไรเดอร์ รวมตัวกันได้อย่างไร ?

เป็นธรรมชาติครับ เรารวมตัวจากคนที่ทำอาชีพเดียวกัน เจออะไรเหมือนกัน และไม่รู้จะเรียกร้องกับใคร เพราะไม่ได้เข้าเกณฑ์การเป็นพนักงานบริษัทไหน 

จะมีหน่วยงานต่างๆ ที่ผลักดันด้านประเด็นแรงงาน มาช่วยบ้าง มีสมาชิกที่เข้ามาทำงานต่อเนื่อง และรวมตัวกันเฉพาะกิจบ้าง อยู่ยาวบ้าง ตามประสาคนหาเช้ากินค่ำ

คนที่เป็นสมาชิกก็มาจากหลายกลุ่ม แม้จะมีทีมงานจากที่อื่นมาช่วยกันเรียกร้อง แต่ส่วนตัวผมสื่อสารกับคนเหล่านั้นว่า ถ้าเป้าหมายของใครทำให้กลุ่มไรเดอร์ สมาชิกบรรลุเป้าหมาย เราก็ยินดี แต่สหภาพฯ ก็คงต้องไม่ขับเคลื่อนและถูกจูงไปด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง อยากให้กลุ่มเป็นการรวมตัวของคนทำอาชีพนี้จริงๆ

ผมยกตัวอย่างถึงการรวมตัวของสหภาพไรเดอร์ ที่ จ.อุทัยธานี ซึ่งรวมตัวในการปรับขึ้นค่ารอบจนสำเร็จ จากนั้นก็แยกย้ายกันทำงานต่อ ซึ่งหมายถึงว่า การรวมตัวของไรเดอร์คือมีคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันแนะนำ จากเดิมที่ไม่รู้ไปไหน ต่างคนต่างทำงานเหมือนหนูติดจั่น ขอแค่ได้ยอดอย่างที่หวัง ไม่มีเวลามาขับเคลื่อนเพื่อสิทธิส่วนรวม

หรือยกตัวอย่าง ในเรื่องระยะทางที่เห็นงานอย่างที่บอกในตอนแรก คนเก่าได้รับการอบรมว่าจะเห็นงานในระยะไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร เขาก็จะจอดรอตรงนั้น แต่คนใหม่ได้รับการอบรมอย่างไรไม่รู้ และอาจจะได้กติกาที่ได้เปรียบกว่า ซึ่งทั้งหมดมาจากการที่บริษัทแพลตฟอร์มต้องการให้เกิดการรับคนใหม่เข้ามาในระบบมากที่สุด โดยไม่สนใจว่าจะทำงานกันอย่างไร ให้ไรเดอร์แย่งชิงงานกันเอง

นอกจากการมองว่าได้ค่ารอบที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ปัญหาอื่นๆ มีอะไรบ้าง ?

มันคือหลักการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และบริษัทยังเป็นผู้กำหนดอัตราจ้างโดยอิสระ เป็นสิทธิ์ของบริษัททั้งหมด โดยไม่เคยปรึกษาไรเดอร์เลยสักครั้ง บางพื้นที่ค่ารอบไม่ถึง 21 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลอยู่ราวๆ 40 บาท ซึ่งมันเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่า เกือบ 2 เท่า ทั้งๆที่ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในอัตราที่ต่ำสุดและสูงสุดอยู่ในช่วง 313-336 บาท ยังไม่ต่างกันขนาดนี้ 

บริษัทแพลตฟอร์มมักใช้ค่า อินเซนทีฟ (Incentive) ซึ่งเป็นโบนัสที่จ่ายให้ไรเดอร์ เป็นสิ่งล่อใจ คือถ้าทำงานได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ถึงจะได้เงิน คุณจึงเห็นไรเดอร์ต้องรีบทำงานให้ได้ตามรอบจนอาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุตามมา

เราถูกเรียกว่า "พาร์ทเนอร์" ไม่ใช่ลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท แต่เรื่องกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามก็มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เรื่องยูนิฟอร์ม ทางตรงคือบอกเลยว่าต้องใส่ยูนิฟอร์มเวลาทำงานเท่านั้น ไม่ใส่ส่งงานไม่ได้ ทางอ้อมคือถ้าคุณไม่ใส่ก็จะเห็นงานน้อยลง เพราะตอนคุณส่งงานคุณต้องถ่ายรูปของที่ส่ง ถ่ายเครื่องแบบ ถ่ายกล่อง พร้อมป้ายทะเบียน พอคุณถ่ายงานเข้าสู่ระบบ เขาก็จะเปิดการมองเห็นให้คุณ จะบอกไม่บังคับแต่จริงๆ ก็คือบังคับ

จากนั้นคือเรื่องการร้องเรียน การแบน คือไรเดอร์จะถูกแบนกันง่ายๆ โดยที่ไม่มีโอกาสสอบสวนอะไรเลย อย่างทำงานบริษัทถ้าจะเอาผิดก็ต้องมีหลักฐานจริง เช่น สมมติเป็นพนักงานออฟฟิศแล้วตอกบัตรแทนเพื่อน มีหลักฐานก็พิจารณาจากความผิด แต่กับไรเดอร์เวลาถูกแบนไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบ จริงอยู่มีลิงก์ให้ยื่นอุทธรณ์แต่ก็ไม่เคยเห็นใครอุทธรณ์ผ่าน บอกเพียงตรวจสอบแล้ว แค่นั้น 

เรื่องการใช้แผนที่ ฟู้ดเดลิเวอรีทุกเจ้า เข้าถึงแอพพลิเคชั่นแผนที่ได้หมดอยู่แล้ว เช่น NOSTRA Map, Google Map แต่เขาไม่ใช้ เพราะแผนที่เหล่านี้มีเส้นทึบตามกฎจราจร ซึ่งคำนวนระยะทางรวมถึงกรณีที่ต้องไปกลับรถ แต่ที่แอปพลิเคชั่นใช้ คือกำหนดแผนที่ขึ้นมาเอง ซึ่งใช้มุมมองจากคนเดินซึ่งในความจริงไม่สอดคล้องต่อการขับขี่ เช่น บริเวณคอสะพาน บริเวณหมู่บ้านที่ต้องกลับรถ ซึ่งแน่นอนว่าคนซื้อได้ประโยชน์ในเรื่องระยะทางที่ถูกลง แต่บริษัทควรแบกรับไว้บ้าง ยอมกำไรน้อยลงเพื่อให้ผู้ใช้บริการบ้าง ไม่ใช่ออกโปรโมชั่นแต่คนที่มารับคือไรเดอร์ เราจึงเห็นไรเดอร์ต้องเลี้ยวในที่ห้ามเลี้ยว กลับรถตรงสะพานบ้าง เพราะเขาพยายามวิ่งตามที่แผนที่กำหนดมา ไม่ให้ต้องกระทบกับค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน 

อย่าลืมว่าเวลาที่เขาโฆษณาว่าส่งฟรี จริงๆไม่ใช่ เขารวมค่าส่งอยู่ในราคาอาหารแล้ว จากนั้นก็ไปหักค่า GP กับร้าน แล้วก็มาหักกับไรเดอร์ ประมาณ 15%

อิสระเดียวที่มีคือ เราสามารถเลือกเวลาทำงานได้ด้วยตนเอง นอกเหนือจากนั้นแล้วคือ เงื่อนไข กฎระเบียบ และบทลงโทษที่กำหนด

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

ถ้ากติกามันไม่แฟร์ ทำไม่ถึงไม่เลือกทำอย่างอื่น ทำไมถึงยังมีคนสมัครมาเป็นไรเดอร์อยู่อีก ?

เพราะยังมีคนตกงาน ยังมีคนที่ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร ยังมีคนที่ถูกเรียกว่าเป็นแรงงานไร้ฝีมือ

ในมุมมองผม ผมมองว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน   การเรียกร้องในความเห็นของผมไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ยุ่งกันแล้ว อยู่ฟังตรงข้ามกันสิ้นเชิง ทำงานด้วยกันไม่ได้ มันไม่ใช่ ผมคิดว่าการที่เรารวมตัวกันเพื่อสื่อสารกับบริษัทแพลตฟอร์มว่าเรากำลังเจอกับอะไร และถ้าข้อเรียกร้องใดมีจุดสมดุลที่ทำให้ไปด้วยกันได้ พอใจกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือจุดร่วม และเราก็จะตอบแทนด้วยการทำงานให้เต็มที่ คุ้มค่ากับค่าบริการ โดยที่ไม่บิดเบือนราคาตลาด 

ทุกธุรกิจแพลตฟอร์มที่เข้ามามีการใช้ทรัพยากร คุณได้ผลประโยชน์จากโอกาสที่มีมากกว่า เมื่อได้แล้วก็ควรจะแบ่งปันกับคนที่ทำงานให้บ้าง และวันนี้บริษัทแอปพลิเคชั่นได้โอกาสในการทำธุรกิจตรงนี้ เปรียบได้กับการได้สัมปทาน ก็ควรจะตอบแทนบ้าง แต่แพลตฟอร์มมาใช้ทรัพยากรเต็มที่ พยายามหาคนที่ด้อยโอกาสในการทำงาน อาจจะเป็นคนตกงานบ้าง เป็นแรงงานที่เปรียบได้กับไร้ฝีมือบ้าง คุณเอาคนเหล่านี้มาใช้ เพราะค่าจ้างมันถูก ไม่มีทางเลือก  มันเหมือนกับคุณดึงเข้ามาทำงาน ให้โอกาสเขานะ แต่คนพวกนี้ไม่ได้หลุดพ้นเลย พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม เขาเพียงแต่ย้ายที่ไปให้โดนรังแกใหม่ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องการแบ่งปันให้แต่ละคนมีชีวิตที่ดี 

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

หากมาทำงานเป็นไรเดอร์ มีอะไรที่ได้และเสียบ้าง ?

ได้อย่างแรกคือค่ารอบ แต่กับสวัสดิการอื่นคงไม่มี จะมีประกันอุบัติเหตุก็ต่อเมื่อคุณทำงานตามเงื่อนไขที่วางไว้ เช่น รับงานที่ 300 งานต่อเดือนขึ้นไป หรืออีกระดับคือ 450 งานต่อเดือน ที่ได้เลยแม้จะรับงานเพียง 1 ครั้ง ก็คือการสมัครประกันภัยในราคาถูก ไม่สิ พอพิจารณาดูแล้วก็ไม่ได้ถูกจริงด้วยซ้ำ แค่สามารถผ่อนจ่ายเป็นรายวันได้ แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนได้

ส่วนสิ่งที่ต้องเสีย แน่นอนว่าอุปกรณ์การทำงานทุกชิ้นคุณต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เช่น ค่ารถมอเตอร์ไซค์อย่างต่ำราคาประมาณ 40,000 บาท

ค่าโทรศัพท์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานประมาณ 10,000-15,000 บาท, ค่าอุปกรณ์ป้องกันหมวกกันน็อค บลูทูธ ประมาณ 1,000 บาท ส่วนค่าเสื้อ ค่ากล่อง รวมกันประมาณ 1,200-1,500 บาท, ค่าอินเทอร์เน็ต-ค่าโทรศัพท์โดยประมาณไม่ต่ำว่า 600-1,000 บาทต่อเดือน

ต้นทุนที่ต้องจ่าย รวมๆแล้วต้องมีอย่างต่ำ 50,000-70,000 บาทเป็นอย่างน้อย  บางคนตกงานซื้อโทรศัพท์ใหม่เพื่อมารับงาน และก็พบความจริงว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะวิ่งงานได้ตามตัวเลขที่จะพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ บางคนมือใหม่หัดวิ่ง สุดท้ายวันหนึ่งได้ไม่กี่งาน ไม่พอที่จะไปรอดได้

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

ส่วนใหญ่ไรเดอร์ ทำงานกันต่อวัน นานขนาดไหน?

ผมเคยมีเพื่อนที่ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะมีรายได้วันล่ะ 2,000 บาท ทุกวันแบบที่เมื่อ 3-4 ปีก่อนเขาเคยได้ ทุกวันนี้เขาวิ่งรถตั้งแต่ 7 โมงเช้า กลับถึงบ้าน 5 ทุ่ม และก็ต้องมีทักษะซอกแซกระดับหนึ่ง จังหวะดีๆ ตลอดทั้งวันใช้เวลาอยู่บนรถ ตัวผมเองไม่ถึงขนาดนั้นแต่ก็เรียกได้ว่าทำตั้งแต่เช้ายันเย็น

ทุกวันนี้หลักไรเดอร์จะมีวิ่งแอปพลิเคชั่นหลักก่อน เช่น วิ่งไลน์แมน แล้วค่อยเสริมเป็นลาล่าฯ หรือโรบินฮู้ด ตรงนี้ทำได้ไม่ผิดกติกา แต่คุณก็ต้องใช้เครื่องแบบให้ถูกต้อง ก็ต้องซื้อเสื้อเพิ่ม จากนั้นคุณก็เลือกเอาเองว่าจะวิ่งอะไร  ต้องพกเสื้อ 2-3 ตัว วิ่งหลักอันหนึ่งที่เหลือไว้ทำเสริม

พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร พวกเรามีสิทธิ์บ้างไหม? คุยกับ ‘สหภาพไรเดอร์’ แรงงานไร้สถานะในธุรกิจอาหาร

เป้าหมายของกลุ่มสหภาพไรเดอร์จากนี้คืออะไร?

ร่วมกันเพื่อนช่วยกันคิด ช่วยกันแสดงออกเพื่อประโยชน์จากที่เราทำงานให้เป็นธรรม แน่นอนว่าเราไม่สามารถบอกได้ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชีวิตที่ดีของแต่ละคนก็แต่ละแบบ แต่ต้องได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม อ้างอิงกับค่าแรงขั้นพื้นฐานในแต่ละจังหวัด กำหนดมาตรฐานการจ้างงานชนิดนี้ให้มันชัดเจน ทั้งค่ามาตรฐานขั้นต่ำ และค่าตอบแทนขั้นต่ำ

เรามักถูกเรียกว่าเป็นพาร์ทเนอร์กับทางบริษัท เราไม่ใช่นายจ้าง-ลูกจ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น การนิยามแบบนี้มันคือวิธีการเพื่อไม่ต้องการจ่ายสวัสดิการให้กับแรงงาน โดยเฉพาะประกันอุบัติเหตุที่เราต้องเจอเกือบทุกวันในชีวิตการทำงาน ผมคิดว่าในฐานะแรงงานในวงจรธุรกิจแพลตฟอร์มเราควรได้รับการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ เกิดอุบัติเหตุระหว่างที่เราทำงานจะได้อะไรบ้าง ค่าบริการในแต่ละครั้ง ส่วนตัวผมคิดว่าผู้ซื้อรับได้ถ้าจะบอกตามตรงว่าอาหารราคาเท่านี้ ค่าส่งเท่านี้ น่าจะดีกว่าบอกว่าส่งฟรี มีโปรโมชั่น แต่คนรับภาระคือร้านอาหารที่ต้องเสียค่า GP และไรเดอร์ที่โดนกดราคาค่าส่ง

* หมายเหตุ เป็นการสัมภาษณ์บุคคลเพื่อสะท้อนปัญหาในมุมมองของพนักงานส่งอาหาร กลุ่มแรงงานที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากธุรกิจแพลตฟอร์ม