รู้จัก "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" ชวนป้องกันการสูญเสียระบบนิเวศสำคัญทั่วโลก

รู้จัก "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" ชวนป้องกันการสูญเสียระบบนิเวศสำคัญทั่วโลก

"วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรก ณ ที่ประชุมอนุสัญญาแรมซาร์ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 เพื่อการอนุรักษ์ ป้องกัน และยับยั้งการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" ซึ่งมีความสำคัญทางด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก เพราะถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศมากที่สุดในโลก

หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำ" คืออะไร? แล้วทำไมถึงต้องมีการกำหนดวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกขึ้นมา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ หาคำตอบมาให้รู้กันดังนี้

1. พื้นที่ชุ่มน้ำ คืออะไร?

"พื้นที่ชุ่มน้ำ" เป็นพื้นที่มีระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด พื้นที่ชุ่มน้ำมีประโยชน์คือ เป็นแหล่งความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิดที่อาศัยทรัพยากรน้ำและทรัพยากรชีวภาพ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดํารงชีวิต

อีกทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ลดการพังทลายหน้าดิน ช่วยควบคุมการไหลเวียนของน้ำไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน และรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ

2. "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" เริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อไร?

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 (หรือ ค.ศ.1971) นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ” ที่มีความสําคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของ “นกน้ำ” โดยเกิดขึ้นครั้งแรก ณ เมือง Ramsar ประเทศอิหร่าน และเป็นที่รู้จักกันในนามอนุสัญญาแรมซาร์

จากนั้นก็มีการเฉลิมฉลองวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เรื่อยมาทุกปี ในฐานะที่เป็นวันครบรอบของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ต่อมาสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้จัดเฉลิมฉลอง World Wetlands Day (วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก) อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) 

 

3. ทำไมต้องมีวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก?

รู้หรือไม่? พื้นที่ชุ่มน้ำของโลกเกือบ 90% เสื่อมโทรมลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1700 และเราสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำเร็วกว่าพื้นที่ป่าถึง 3 เท่า ทั้งๆ ที่ "พื้นที่ชุ่มน้ำ" เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

เนื่องจากเพราะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด มีส่วนช่วยปรับสมดุลของสภาพอากาศ เป็นแหล่งสำรองน้ำจืด และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ในระดับประเทศและระดับโลกเกี่ยวกับ "พื้นที่ชุ่มน้ำ" เพื่อยับยั้งการสูญเสียแหล่งระบบนิเวศอันสำคัญเช่นนี้อย่างรวดเร็ว และสนับสนุนให้มีการดำเนินการด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำให้มากที่สุด และได้เกิดเป้าประสงค์หลักของ "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" ขึ้นมาก็คือ

  • เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักรู้ อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนเท่าที่จะเป็นไปได้
  • เพื่อเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยังเหลืออยู่ทุกแห่งทั่วโลก

 

 

4. "Wetlands Action for People and Nature" ธีมรณรงค์ปี 2565

สำหรับธีมรณรงค์ของ World Wetlands Day ในปีนี้ คือ "Wetlands Action for People and Nature" ซึ่งแปลความได้ว่า "ลงมือดูแลอนุรักษ์/ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อผู้คนและธรรมชาติ

โดยเน้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการอนุรักษ์และใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนสำหรับมนุษย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

5. "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" ในประเทศไทย

ประเทศไทย เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2514 โดยได้เสนอ “พรุควนขี้เสี้ยน” ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย และลำดับที่ 948 ของโลก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้นทะเบียน จำนวน 14 แห่ง คือ

  • พรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
  • เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง
  • ดอนหอยหลอด
  • ปากแม่น้ำกระบี่
  • เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ (พรุโต๊ะแดง)
  • อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง
  • อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์
  • อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
  • อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
  • อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
  • กุดทิง
  • เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช
  • เกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา

-----------------------------------------

อ้างอิง : worldwetlandsday.org, สำนักฯ แผนทรัพยากรธรรมชาติฯ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง