“ครู”ในสังคมที่บิดเบี้ยว ถึงเวลาต้องปรับตัว ปรับวิธีสอน?

“ครู”ในสังคมที่บิดเบี้ยว  ถึงเวลาต้องปรับตัว ปรับวิธีสอน?

"วันครู" นอกจาก"ครู" ก็ต้องนึกถึงเด็กๆ เพราะเด็กจะไปได้ไกล มีทักษะรอบด้าน ต้องมีครูนำทาง และครูก็ต้องปรับวิธีการสอน พัฒนาตัวเอง รู้เท่าทันโลกยุคใหม่

“พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต” คำขวัญวันครู ปี2565 จากพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เนื่องใน วันครู หรือวันครูแห่งชาติ (วันที่ 16 มกราคม) กำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์ระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนอบรม นับตั้งแต่วันครูเริ่มปี 2500 จนถึงปัจจุบันก็ 65 ปีแล้ว

แม้ครู จะมีบทบาทในการสร้างอนาคตของชาติ แต่ก็ยังเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องแค่บางครั้งบางคราว เงินเดือนน้อย ต้องทำตามระบบระเบียบ จะเปลี่ยนแปลงเรื่องใด สิ่งใดก็ยากยิ่ง

ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้งบประมาณบริหารจัดการการศึกษา ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ในปี 2565 มีงบประมาณ 332,983.6 ล้านบาท แม้งบด้านการศึกษาจะเยอะ แต่ระบบก็ยังพัฒนาไปได้ไม่ไกล 

ทั้งๆ ที่ครู เป็นคีย์เวิร์คหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่ก็มีคำถามอีกมากมายทั้งเรื่องวิธีการสอน เครื่องมือที่ใช้ และระบบการศึกษาที่ยังยึดแนวทางเดิมๆ ฯลฯ

นั่นเป็นเพราะครูไม่มีวิสัยทัศน์ หรือปัญหาเชิงโครงสร้าง ฯลฯ 

ลองอ่านเรื่องราวของครูและนักการศึกษาที่ "จุดประกาย" ได้รวบรวมไว้คร่าวๆ 

ห้องเรียนแห่งอนาคต

คงได้ยินบ่อยๆ ห้องเรียนแห่งอนาคต เป็นเสมือนความหวังที่อยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังเกิดขึ้นแค่บางแห่งที่ยอมรับแนวคิดนี้ได้ ยังไม่เป็นแผนงานระดับชาติ 

“ครู”ในสังคมที่บิดเบี้ยว  ถึงเวลาต้องปรับตัว ปรับวิธีสอน?

ครูต้องพาเด็กๆ เรียนรู้นอกห้อง (รูปจากเฟซบุ๊ค Sanya Makarin)

 

“ห้องเรียนแห่งอนาคตเป็นเหมือนศูนย์วิจัย ก็คือ วิจัยเพื่อช่วยให้ครู Active Learning ได้ ยกตัวอย่าง อาจมีการทำแอพฯ และอนุญาตให้เด็กนำสมาร์ทโฟนไปใช้ในห้องเรียนได้ เด็กสามารถให้คะแนนเพื่อนได้ และนี่คือแอพฯในอนาคตของห้องเรียนในอนาคต” ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระที่สนใจเรื่องการศึกษาเล่าไว้

ปัจจุบันแม้เขาจะทำงานหลากหลาย แต่ก็เลือกให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา มีเครือข่ายเพื่อนในระบบการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดร.วิริยะเคยก่อตั้งเว็บไซต์การศึกษา http://www.eduzones.com ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในประเทศ ,คิดและพัฒนาโปรแกรม เพื่อช่วยให้เด็กรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง และยังช่วยแบ่งเบาภาระให้ครูแนะแนวทั่วประเทศ นอกจากนี้มีผลงานเรื่อง ห้องเรียนแห่งอนาคต ฯลฯ

เขาเชื่อมาตลอดว่า ครูต้องมีตัวช่วย ทั้งเรื่องเครื่องมือการสอนและแนวคิดใหม่ๆ 

"ห้องเรียนไม่จำเป็นต้องมีกระดาน ไม่มีเวทีสำหรับครูก็ได้ แต่มีพื้นที่ให้เกิดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ และ Learning Model ครูต้องเปลี่ยนจากการสอนหนังสือเป็นการทำกิจกรรม หรือสร้างเรื่องราว สร้างปัญหาให้เด็กค้นคว้า

ภาระกิจของห้องเรียนแห่งอนาคต คือ สร้างโมเดล ผมเชื่อแบบนั้น แต่ไม่ได้บอกให้ใครเชื่อ เราก็อบรมครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ทำไปเรื่อยๆ

และฝึกอบรมอาจารย์ในต่างประเทศ ครูอินเตอร์ที่อยู่ในเมืองไทย เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้เพื่อต่อไปจะสอนและวัดผลด้วยวิธีใหม่

เพราะกระบวนการสอนและวัดผลทั้งโลกเป็นแบบเดิม ใช้ไม่ได้แล้วในอเมริกาก็มีการสอนแบบเก่าๆ เยอะ”

นักการศึกษาคนนี้ มีเป้าหมายในชีวิตว่า การศึกษาต้องทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้สิ่งที่เขาทำจะไม่สำเร็จในวันนี้ หรือวันหน้า เขาก็มีความสุขที่ได้ลงมือทำ

บทบาทครูเล็กๆ ในโรงเรียน

สัญญา มัครินทร์ ครูเล็กๆ ในโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น  เพื่อนๆและนักเรียนเรียกเขาว่า ครูสอยอ 

เขาเชื่อว่า เด็กๆ มีศักยภาพ แต่ต้องทำให้พวกเขารู้จักตัวเอง

"เมื่อมาทำเรื่องการศึกษา ผมตั้งเป้าไว้สองอย่างคือ ต้องทำเรื่องการศึกษาสำหรับตัวเราด้วย และเอาสิ่งที่ตัวเราถนัดไปสร้างการเรียนรู้ให้คนอื่น แม้จะเป็นแค่ห้องเรียนเล็กๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือผู้นำกิจกรรม ตอนนั้นรู้สึกว่าเอาเด็กอยู่ มั่นใจและมีความสุข พอมาเป็นครู เพื่อนๆ ก็ถามว่าทำไมเอาเด็กอยู่ เพราะผมสนใจเรื่องการเติบโตด้านใน

ผมคิดว่า คนเราต้องขัดเกลาตัวเองก่อน และการทำหน้าที่ครู ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะการอยู่ในระบบโรงเรียน ถ้าจะทำอะไรใหม่ๆ ต่างจากคนอื่น ก็ต้องต่อสู้กับตัวเองด้วย”

“ครู”ในสังคมที่บิดเบี้ยว  ถึงเวลาต้องปรับตัว ปรับวิธีสอน?

ช่วงแรกๆ ที่สัญญาเริ่มมาเป็นครู เขาก็ทะเลาะกับครูที่ทำงานมานาน และไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขา แต่ที่สุดแล้ว ครูรุ่นใหม่เช่นเขา ก็ต้องปรับเปลี่ยนความคิด

"ถ้ายังต้องการทำงานต่อไป แล้วทะเลาะกับคนอื่น ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ ต้องเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา และพวกเขาต้องเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนงานที่เราทำ

ส่วนในเรื่องการสอน จะทำยังไงให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรม ตั้งแต่การคิด การทำ และพวกเขายังเป็นตัวเองได้ กับพื้นที่การเรียนรู้ที่เราออกแบบให้ เราพาเด็กออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน

เคยพาไปโรงเรียนคนพิการ ซึ่งเวลาทำงานศิลปะจะใช้เท้า ปาก รักแร้หนีบวาดรูป เด็กๆที่ผมพาไปเห็นก็ทึ่งในผลงานและได้แรงบันดาลใจ ผมกระตุ้นให้เด็กๆ รู้สึกว่างานศิลปะไม่ได้ยาก ใครๆ ก็ทำได้

ผมเชื่อในศักยภาพเด็กๆ เราสร้างสังคมประชาธิปไตย โดยการสร้างประชาธิปไตยในกลุ่มเด็กๆ เราปลูกฝังเรื่องการรับฟังความคิดเห็น การให้พื้นที่ การให้สิทธิเท่าเทียมกัน แล้วทำกิจกรรมไปตามธรรมชาติ เพื่อให้ทักษะเหล่านี้มีอยู่ในตัวเด็กๆ ”

ในฐานะคนรักอาชีพครู สัญญา วาดหวังไว้ว่า ถ้าคนยุคเขายังมีวิธีคิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ ก็จะไม่ทันโลก

“โดยเฉพาะครูจบใหม่ ถ้าอยากเปลี่ยนวิธีสอน ก็ลงมือทำได้เลยเพราะยังมีพลัง หากอยู่ในระบบไปนานๆ อาจถูกกลืน

ผมคาดหวังว่า ผมน่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เราก็เป็นครูในระบบที่สอนแบบสร้างสรรค์ได้ มีพื้นที่ให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเอง และสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้”