"การบูร" คืออะไร? พืชยาให้เกล็ดสีขาว และสรรพคุณที่ต้องรู้!

"การบูร" คืออะไร? พืชยาให้เกล็ดสีขาว และสรรพคุณที่ต้องรู้!

"การบูร" กลายเป็นกระแสแรงชั่วข้ามคืน จากกรณีมีผู้เสียหายถูกกล่าวหาว่ามีสารผงสีขาวคล้ายสารเสพติดไว้ในครอบครอง แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบว่าเกล็ดสีขาวๆ เหล่านั้นเป็นเพียงสมุนไพรให้กลิ่นหอม

จากกรณีมีผู้เสียหายถูกตำรวจด่านตรวจขอเข้าค้นภายในรถเก๋ง พร้อมกล่าวหาว่ามี "สารเสพติด" ในครอบครอง ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด สุดท้ายเมื่อตรวจสอบอีกครั้งกลับพบว่าสารเกล็ดสีขาวดังกล่าวคือ "การบูร" โดยแม่ของผู้เสียหายนำมาวางไว้ในรถเพื่อให้มีกลิ่นหอมเท่านั้น

จากเคสนี้ทำเอาคนไทยทั้งประเทศออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจกันอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงหลายคนให้ความสนใจ "การบูร" อย่างมาก จนกลายเป็นกระแสชั่วข้ามคืน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอพาไปรู้จักพืชยาที่ให้เกล็ดสีขาวชนิดนี้ให้มากขึ้น

1.  "การบูร" คืออะไร? ทำไมมีกลิ่นหอม?

ต้นการบูร เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน พบการกระจายพันธุ์มายังแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาไมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร

เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ ส่วนเปลือกกิ่งเป็นสีเขียวหรือเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ "การบูร" ทุกส่วนของต้นมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะรากและโคนต้น

2. คำว่า "การบูร" มาจากลักษณะที่เหมือน "หินปูน"

แต่เดิมนั้น คำว่า “การบูร” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “Karapur” หรือ “กรปูร” ซึ่งแปลว่า “หินปูน” เพราะโบราณเข้าใจว่าผนึกนี้เป็นพวกหินปูนที่มีกลิ่นหอม ต่อมาชื่อนี้เพี้ยนเป็น “กรบูร” และเป็น “การบูร” ในปัจจุบัน 

อีกทั้งมีข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของต้นการบูร ถูกเรียกว่า สมุนไพรการบูร มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า การะบูน การบูร (ภาคกลาง), อบเชยญวน (ไทย), พรมเส็ง (เงี้ยว), เจียโล่ (จีนแต้จิ๋ว), จางมู่ จางหน่าว (จีนกลาง) เป็นต้น

 

3. เกล็ดการบูรสีขาว มาจากไหน?

จริงๆ แล้ว เกล็ดการบูร คือผลึกสีขาวที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งต้น โดยมักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ และมีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาคือส่วนแก่นของต้น ซึ่งส่วนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนอื่น ทั้งนี้ สามารถนำลำต้น,ราก,ใบ มากลั่นหรือสกัดจนได้ผลึกสีขาวดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย

4. ลักษณะจำเพาะของ "การบูร" ที่น่าสนใจ

ผงการบูรหรือเกล็ดการบูร มีลักษณะเป็นเกล็ดกลมๆ ขนาดเล็ก สีขาว มีความมันวาวและแห้ง มีกลิ่นหอมเย็นฉุน อาจจับกันเป็นก้อนร่วนๆ และแตกง่าย เมื่อทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด มีรสร้อนปร่าเมา

 

5. ประโยชน์ของ "การบูร" ในครัวเรือน

"น้ำมันการบูร" ช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจโล่งและปลอดโปร่ง ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ และทำให้ตื่นตัว ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ วางในห้องหรือตู้เสื้อผ้าช่วยไล่ยุง ไล่แมลง และแก้กลิ่นอับ

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้น้ำมันการบูรทาถู ช่วยแก้รอยผิวหนังแตกในช่วงฤดูหนาวได้ อีกทั้งในส่วนกิ่งก้านและใบของต้นการบูร สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนมได้ เช่น ไส้กรอก เบคอน ข้าวหมกไก่ ลูกกวาด แยม เยลลี่ เครื่องดื่มโคคาโคลา เหล้า ใส่แต่งกลิ่น/รสในเครื่องพะโล้ เครื่องแกงมัสมั่น ผงกะหรี่ คุกกี้ ขนมเค้ก ฯลฯ 

6. สรรพคุณทางยาของ "การบูร" 

การบูรถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรไทย ในตำรับยาหอมต่างๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาประสะไพล ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยามันทธาตุ ยาไฟประลัยกัลป์ ยาประสะเจตพังคี ยาธรณีสัณฑะฆาต ยาธาตุอบเชย หรือใช้ทำน้ำมันไพล ลูกประคบ พิมเสนน้ำ

  • แก้ปวด แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แก้กระตุก แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท
  • เป็นยาบำรุงหัวใจ และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด 
  • แก้พิษแมลงต่อย
  • รักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง ช่วยสมานแผล แก้รอยผิวแตกในฤดูหนาว
  • แก้ไข้หวัด ขับลม ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ
  • ฆ่าเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม 
  • บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

-----------------------------------

อ้างอิง : disthaimedthai