“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต

“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์อาศัยอยู่ในป่า อะไรทำให้มนุษย์ย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง และการสร้างเมืองที่ดีเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์มีคำตอบ

การแพร่กระจายของโรคระบาดไปทั่วโลก ทำให้ เมือง มีความสำคัญน้อยลง มนุษย์ยิ่งออกห่างจากกันไปอาศัยอยู่ในธรรมชาติมากขึ้นทุกที แต่ทว่า เมืองก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นของมนุษย์อยู่นั่นเอง

..............

“เมือง ในศาสนายิว ศาสนาฮิบรู ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีสักเท่าไร พระเจ้าไม่ชอบเมือง ในพระคัมภีร์ฉบับปฐมกาล พระเจ้าบอกว่า อุตส่าห์สร้างพวกมนุษย์ขึ้นมาแล้ว ขอให้ออกไปมีลูกหลานให้เต็มแผ่นดินเลย แต่ผู้คนไม่ทำแบบนั้น กลับไปรวมตัวกัน เข้าไปอยู่ในเมือง แล้วสร้างเมืองเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของความโอหัง”

โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เล่าเรื่องอดีตให้ฟัง ในงาน Night At The Museam 11 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ณ มิวเซียมสยาม

"พระคัมภีร์ไบเบิลเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ที่เมืองจารีโค ในอิสราเอล เคยถูกพระเจ้าสั่งให้ทูตสวรรค์เป่าแตร ทำให้กำแพงพังลงมา หรือเมืองบาเบล ที่มนุษย์รวมกันสร้างหอคอยขึ้นไปจะเอาให้ถึงสวรรค์เลย พระเจ้าก็บอกว่าไม่ได้ ไม่ต้องมารวมกัน พระเจ้าก็ลงโทษ ทำลายหอคอยนั้น ทำให้มนุษย์กระจัดกระจายไปทั่วโลก

“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต โตมร ศุขปรีชา Cr.Museum Siam

แล้วไม่สามารถพูดภาษาเดียวกันได้ สื่อสารกันไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะรวมกัน แล้วสร้างความโอหังบางอย่างท้าทายพระเจ้าอีก พระเจ้าบอกว่าคนที่อยู่ในเมืองพวกนี้ ทำผิดศีลธรรมจรรยาในเรื่องเพศเรื่องต่างๆ เต็มไปหมด

ในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม บอกว่าเมืองในยุคนั้น คือแหล่งที่มาของความรุนแรง และปัญหา เมืองไม่ใช่สิ่งที่น่าอยู่เลย"

“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต Cr.Museum Siam

  • ทำไมมนุษย์ชอบสร้างเมือง

ไม่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่ชอบสร้างเมือง โตมร กล่าวว่า แม้แต่พระเจ้าเองก็มีเมืองในอุดมคติเหมือนกัน

“เมืองเยรูซาเล็มใหม่ หรือ New Jerusalem เป็นเมืองอุดมคติของพระเจ้า แต่ไม่ได้อยู่บนโลก เป็นเมืองที่อยู่ในสวรรค์ พวกเราต้องตายก่อนถึงจะไปถึงเมืองที่อยู่ในอุดมคติได้

ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงศตวรรษที่ 19 เมืองไม่ได้น่าอยู่ ยกตัวอย่าง เมือง แมนเชสเตอร์ เมือง ชิคาโก มีสถิติบอกว่าเด็กที่เกิดทั้งสองเมืองนี้ ตายก่อนอายุ 5 ขวบ มีถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วคนทั้งสองเมือง มีอายุเฉลี่ย 26 ปี

ในช่วงเวลาเดียวกัน ถ้าอยู่ในชนบท อัตราที่ทารกจะตายก่อน 5 ขวบมี 32 เปอร์เซนต์ และอายุไขเฉลี่ย 40 ปี

ฟังดูแล้วเมืองเป็นสถานที่ย่ำแย่ ทุกข์ทน คนที่อยู่ต้องพยายามเอาตัวรอด เจออาชญากรรม เดี๋ยวฆ่ากัน แออัดยัดเยียด สุขภาพไม่ดี แล้วทำไมมนุษย์ถึงยังยืนยันจะสร้างเมืองอยู่เสมอ เพลโต, โธมัส มอร์, ลีโอนาโดดาวินชี, คริสโตเฟอร์เรน หลาย ๆ คน ก็พยายามสร้างเมืองในอุดมคติขึ้นมาในหลายรูปแบบ

“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต Cr.Museum Siam

  • เมืองเกิดขึ้นจากอะไร

โตมร เล่าว่า เมื่อพูดถึงการสร้างเมือง คนมักคิดว่า ต้องมีชุมชนเกษตรกรรมเกิดขึ้นก่อน แล้วถึงจะมีเมือง แต่ความจริงก็คือ

“ในปีค.ศ. 1994 ที่ตุรกี มีการค้นพบสิ่งของในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ที่ชื่อว่า โกเบคลีเทเป (Gobekli Tepe) มี สโตนเฮนจ์ กลุ่มทางหินขนาดใหญ่ ที่มีอายุ 12,000 ปี มากกว่าสโตนเฮนจ์ที่เรารู้จักที่มีอายุแค่ 5,000 ปี

ในช่วงเวลานั้นมนุษย์ยังไม่ได้เป็นชุมชนเกษตรเลย ยังเป็นพวกล่าหาอาหาร เป็นชนเผ่าเร่ร่อน แล้วสร้างพวกนี้ได้ยังไง มีน้ำหนักหลายตัน บริเวณนั้นก็ไม่มีหิน ต้องไปลากจากที่อื่นมา

คำตอบของนักโบราณคดีคือ แรงขับเคลื่อนในการสร้างสิ่งนี้คือ การบูชาเทพ และไม่ใช่ชนเผ่าเดียวที่สร้าง ต้องใช้คน 500 คน จากหลายๆ เผ่าที่เป็นชนเผ่าเร่ร่อนมาร่วมกันสร้าง เมื่อถึงเวลาก็มารวมกันบูชา จากนั้นก็เร่ร่อนต่อ

นักโบราณคดีสรุปว่า วิหาร หรือ ที่บูชา มาก่อนไร่นา ก่อนมนุษย์จะอยู่เป็นหลักแหล่ง ทำไร่ไถนา ทำการเกษตร”

“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต Cr.Museum Siam

  • เทพ คือผู้สร้างเมือง

ตัวอย่างการสร้างเมืองแห่งแรกที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มาจากความศรัทธาในเทพ โตมร เล่าเรื่องนี้ว่า

“เมืองแห่งแรกของโลก คือเมือง Uruk อยู่ในตะวันออกกลาง ดินแดนเสี้ยวจันทร์ที่อุดมสมบูรณ์ ล่างลงไปจากเมืองอูรุค มีเมือง Eridu มีการสร้างวิหารเล็กๆ บนเนินทรายกลางแม่น้ำ เพื่อบูชาเทพ Enki

เทพเป็นผู้เลือกพื้นที่ตรงนี้ เพื่อให้ญาติที่เป็นทวยเทพมาอยู่ แล้วมนุษย์ก็เป็นคนรับใช้เทพ มาทำหน้าที่ดูแลวิหารนี้ จากนั้นค่อยๆ เกิดชุมชนตามมา จนกลายเป็นเมืองอูรุคขึ้นทางเหนือ

เมือง Uruk ก็เกิดขึ้นจากเทพสององค์ แล้วมนุษย์ก็ทำแบบเดียวกันคือ สร้างวิหารแล้วก็มารับใช้ทวยเทพ อยู่กันจนเกิดชุมชน

อูรุค แปลว่าเมือง มีเทคโนโลยีก้าวกระโดดในเรื่องสถาปัตยกรรมหลายอย่าง มีการใช้ น้ำมันดิน ไปลากหินจากที่ไกลๆ มาสร้างระบบระบายน้ำต่างๆ

เมื่อ 2,400 ปีที่แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้บริเวณนี้แห้งแล้งมาก แต่ไม่ได้ทำให้อูรุคล่มสลาย กลับกลายเป็นตัวเร่งให้พัฒนามากขึ้น คนในเมโสโปเตเมีย ก็อพยพเข้ามา เกิดการแข่งขันประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ

สร้าง ไมโครไคลเมท (Microclimate) ภูมิอากาศจิ๋ว เป็นอาคารสูง 2-3 ชั้น มีตรอกเล็กๆ แคบๆ เวลาเดินในตรอก ลมจะพัดเร็วขึ้น ระบายความร้อนในเมืองได้ และสร้างกำแพงเส้นรอบวง 9 กิโลเมตร สูงถึง 7 กิโลเมตร

อูรุค เป็นต้นกำเนิดของงานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุด คือมหากาพย์ กิลกาเมส

“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต Cr.Museum Siam

  • เมืองในอุดมคติ

โตมร เล่าว่า มหากาพย์กิลกาเมส มีตัวละครหลักอยู่ 2 คนคือ เอนคีดู (Enkidu) กับ กิลกาเมส (Gilgamash) เอนคีดู อยู่ในป่า วิ่งไล่สัตว์ป่า มีอิสรเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้ ไปเจอผู้หญิงชื่อ ชามาช ชวนเอนคีดูมาอยู่ในเมืองที่มีกิลกาเมสเป็นกษัตริย์

แทนที่สองคนนี้จะไม่ถูกกันกลับช่วยกันพัฒนาเมือง ผสานมนุษย์ในเมืองกับมนุษย์ชนเผ่าเร่ร่อนรวมพลังสู้กับธรรมชาติ ต่อสู้กับปีศาจยักษ์ร้าย อีกนัยหนึ่งคือการสู้กับพระเจ้า

แต่สุดท้ายสองคนนี้ก็ตาย เหมือนเมืองอูรุคที่ยิ่งใหญ่ก็เสื่อมสลายหายไปในค.ศ.300 เหมือนกับพระเจ้าสาปเอาไว้ ต่อให้อูรุครุ่งเรืองถึง 5,000 ปี สุดท้ายก็ล่มสลาย นี่เป็นสัจธรรม

ข้ามมาที่อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ฮารัปปา (Harappa) มีพื้นที่ 800,000 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ปากีสถาน, อินดีย, อัฟกานิสถาน

เป็นเมืองในอุดมคติ ที่ไม่มีร่องรอยการสู้รบ, การเผา, การสร้างพระราชวัง, วิหาร, วัด ไม่มีทาส หรือการจัดลำดับชั้นทางสังคม ไม่มีคนชั้นสูงคนชั้นล่าง

กระดูกของคนยุคนี้เหมือนกันหมด ไม่ได้มีความแตกต่างเหมือนกระดูกคนยุคสำริดที่คนชั้นสูงกับคนชั้นล่างกินอาหารไม่เหมือนกัน กระดูกจึงแตกต่างกัน

นักโบราณคดีตั้งสมมติฐานว่า ที่นี่คนมีอารยธรรมเท่ากัน มีส้วมที่มีน้ำราดทุกบ้าน มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลไหลตามท่อออกไปนอกเมือง ทำให้ไม่มีโรคระบาดใหญ่ อาคารบ้านเรือนก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่ากันเท่าไร ส่วนใหญ่เป็นอาคารสาธารณะ เช่น สภาเมือง

อารยธรรมเมืองฮารัปปา บ่งบอกว่า ถ้าเราออกแบบเมืองให้ถูกต้องตั้งแต่แรก เมืองจะกลายเป็นสถานที่ที่ดึงเอาคุณสมบัติที่ดีที่สุดของมนุษยชาติออกมาใช้ได้ แล้วทำให้คนที่อยู่มีความสุข”

“โตมร ศุขปรีชา” เล่าเรื่องการสร้างเมืองในอดีต Cr.Museum Siam

  • สวนอีเด็นในโลกมนุษย์

ฮารัปปา จึงคล้ายกับ สวนอีเด็น ของพระเจ้า ที่ไม่ได้อยู่บนสวรรค์ แต่มันอยู่บนโลก โตมร เล่าว่า

“การล่มสลายของฮารัปปา มีข้อสันนิษฐานหลายอย่างว่า อาจมีชาวอารยันมาบุกแต่ไม่มีร่องรอยของการถูกเผา หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วพวกเขาย้ายไปอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคาแทน

ถ้าพระเจ้าบอกว่าเมืองคือความโอหังของมนุษย์ แล้วคนอย่าง เพลโต, โธมัส มอร์, ลีโอนาโดดาวินชี, คริสโตเฟอร์เรน หรือคนที่สร้างปารีสขึ้นมาใหม่ พยายามสร้างเมืองในอุดมคติขึ้นมา เพื่อให้มนุษยได้อยู่ในแบบที่ดีที่สุดไปทำไม 

ประวัติศาสตร์ของเราเต็มไปด้วยแผนการในอุดมคติที่จะรื้อเมืองที่เลอะเทอะทั้งหลาย แล้วแทนที่ด้วยเมืองใหม่ วางแผนด้วยวิทยาศาสตร์และมีสุนทรียศาสตร์ในการที่เราจะอยู่ร่วมกัน

การสร้างเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เราก็ต้องมาดูว่า เราจะเดินหน้าต่อไปยังไงในกรุงเทพมหานคร

เมืองต้องเป็นที่ๆ คนทั่วไปอย่างเรา สร้างมันขึ้นมาเอง แล้วเชื่อมโยงไปหาเทพหรือพระเจ้าในแบบของเราเอง

ด้วยการอยู่ร่วมกันแล้วสร้างสำนึกสาธารณะที่โอบรับเปิดกว้างให้กับความหลากหลายทั้งหลายทั้งปวง กลายเป็นเมืองในอุดมคติ อย่างฮารัปปา ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

จริงๆ ไม่ต้องรอให้พระเจ้าพาเราไปอยู่บนสวรรค์ ไปอยู่ในเมืองเยรูซาเล็มใหม่ เป็นไปได้ไหมว่า เมืองแบบนั้นที่เราสร้างได้ ไม่ใช่ความโอหัง ไม่ใช่คำสาป แต่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยมือของเราเอง”