เมื่อ K-POP เตรียมบุกตลาด NFT สวนกระแสแฟนคลับต้าน

เมื่อ K-POP เตรียมบุกตลาด NFT สวนกระแสแฟนคลับต้าน

ค่ายเพลง K-POP ชั้นนำ เตรียมออกสินค้าที่ระลึกของศิลปินในรูปแบบของ NFT ภายในปีนี้ ท่ามกลางการต่อต้านของแฟนคลับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ NFT ที่มาแรงแซงทุกสิ่ง จนกลายเป็นเรื่องดรามากันไปพักหนึ่งในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกที่ต่าง พาตัวเองเข้ามาในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน

  • NFT คืออะไร

สำหรับ NFT นั้นมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า “Non-Fungible Token” เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ละเหรียญจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างกันออกไป ไม่สามารถคัดลอก หรือซ้ำทำได้ ต่อให้คัดลอกหรือทำซ้ำไป แต่ต้นฉบับก็มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ จึงทำให้ NFT ถูกนำมาใช้กับผลงานที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก เช่น ผลงานศิลปะ (Crypto Art) ภาพถ่าย มีม (Meme) วิดีโอ เพลง ผลงานทางแฟชั่น ตลอดจนของสะสม และการ์ดเกมต่าง ๆ 

ด้วยเหตุนี้เอง อุตสาหกรรมเพลงจึงได้ใช้ประโยชน์จาก NFT ในการแสวงหารายได้ ศิลปินฝั่งตะวันตกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “คิงส์ ออฟ ลีออน” (Kings of Leon) และ “มิค แจ็กเกอร์” (Mick Jagger) ต่างได้ผลิตงานเพลงออกมาในรูปแบบ NFT และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

  • ค่ายเพลงเกาหลี เตรียมบุกตลาด NFT

ขณะเดียวกันค่ายเพลงในเกาหลีชั้นนำไม่ว่าจะเป็น “ไฮบ์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (HYBE Entertainment) ต้นสังกัดของบอยแบนด์ชื่อก้องโลกอย่าง “บีทีเอส” (BTS), “วายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (YG Entertainment), “เอสเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (SM Entertainment) “เจวายพี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (JYP Entertainment) และ “กาเกา เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (Kakao Entertainment) ต่างออกมาประกาศว่ากำลังร่วมมือกับบริษัทตลาดเทรดคริปโตเคอร์เรนซีในการสร้างแพลตฟอร์มใหม่สำหรับขายและแลกเปลี่ยน NFT 

ในอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีนั้น มีสินค้ามากมายที่สามารถที่สามารถนำเป็นสินค้า NFT ไม่ว่าจะเป็น โฟโต้การ์ดของศิลปินที่แถมมาจากอัลบั้ม และเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับวงการ อีกทั้งยังถูกนำมาขายต่อกันในราคาตั้งแต่หลักสิบ ไปจนถึงแสนบาท รวมไปถึงภาพถ่ายพร้อมลายเซ็นของศิลปิน ตลอดจนการทำเพลง หรือ คอนเทนท์ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสินค้า NFT โดยเฉพาะ

เมื่อ K-POP เตรียมบุกตลาด NFT สวนกระแสแฟนคลับต้าน

โฟโต้การ์ดศิลปินเกาหลี

สำหรับก้าวแรกของไฮบ์จะเริ่มจากการผลิตโฟโต้การ์ดศิลปินในสังกัดอย่าง บีทีเอส, “ทูมอโรว์ บาย ทูเก็ตเตอร์” (Tomorrow X Together: TXT) และ “เอ็นไฮเพน” (Enhypen) ที่จะไม่เป็นเพียงแค่โฟโต้การ์ดอีกต่อไป แต่จะมีทั้งภาพ และเสียง เสมือนกับการนำเว็บแคม (Webcam) หรือ ไฟล์กิฟ (GIF) ของศิลปินเกาหลีมาอยู่บนบล็อกเชน แต่ละใบจะมีการระบุโค้ดที่ไม่ซ้ำกัน โดยอาจจะใช้ “วีเวิร์ส” (Weverse) แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่เอาไว้เชื่อมต่อระหว่างแฟนคลับกับศิลปินของค่าย ในการเป็นพื้นแลกเปลี่ยน หรือซื้อขาย ซึ่งจะเริ่มวางจำหน่าย NFT ชุดแรกได้ภายในครึ่งปีแรกของปีนี้

เมื่อ K-POP เตรียมบุกตลาด NFT สวนกระแสแฟนคลับต้าน

บอยแบนด์วง เอ็นไฮเพน (Enhypen)

-เครดิตรูป: Belift Lab

  • กระแสตอบรับจากแฟนคลับ

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา บอยแบนด์วง “เอซ” (A.C.E) ได้ประกาศว่าจะขายสินค้าที่ระลึกของวงในรูปแบบ NFT ทำให้พวกเขาเป็นบอยแบนด์วงแรกในอุตสาหกรรม K-POP ที่จะออกสินค้าแบบ NFT แต่จนแล้วจนรอดสินค้าเหล่านั้นก็ไม่ได้ออกมา เนื่องจากแฟนคลับต่อต้านและตั้งคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับ และมองว่า NFT ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว ดูยุ่งยากมากเกินกว่าจะเข้าใจได้

เมื่อ K-POP เตรียมบุกตลาด NFT สวนกระแสแฟนคลับต้าน บอยแบนด์วง เอซ (A.C.E.)

-เครดิตรูป: 에이스 A.C.E

ขณะที่ “อาร์มี” (Army) กลุ่มแฟนคลับของวงบีทีเอส ต่างออกมาประท้วงผ่านโซเชียลมีเดียด้วยการใช้ #BoycottHybeNFT และ #ARMYsAgainstNFT เพื่อแสดงถึงการไม่เห็นด้วยและต่อต้านการผลิต NFT ของทางค่าย เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการผลิต NFT นั้นส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทั้งการสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากและมลภาวะจากการผลิต NFT เป็นหนึ่งตัวการให้เกิดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังเห็นว่ายังเป็นการขัดต่อภาพลักษณ์ของบีทีเอสที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ดังที่ได้กล่าวในสุนทรพจน์ ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly - UNGA) เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน

เมื่อ K-POP เตรียมบุกตลาด NFT สวนกระแสแฟนคลับต้าน

บีทีเอส ที่ องค์การสหประชาชาติ

-เครดิตรูป: United Nations

แต่สถานการณ์ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อการผลิต NFT ไม่ได้ใช้ทรัพยากรมากเท่าเดิม โดย “คิม มินจอง” (Kim Min-Jung) ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ NFT ของดูนามู (Dunamu) บริษัทตลาดเทรดคริปโตเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีที่ไฮบ์ร่วมลงทุนในการผลิตสินค้า NFT ได้กล่าวกับ เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ว่า ในปัจจุบัน การผลิต NFT แทบไม่ได้ทิ้ง รอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) ไว้เลย สอดคล้องกับอีกหลายบริษัทในอุตสาหกรรมคริปโท ที่กำลังพัฒนาระบบให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ อีเธอเรียม (Ethereum) กำลังทดสอบการเปลี่ยนวิธีการสร้างเหรียญและตรา ไปสู่ระบบที่เรียกว่า “Proof of Stakes” (PoS) ซึ่งจะใช้พลังงานน้อยลงถึง 99% คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

หากแฟนคลับยอมรับและไม่ต่อต้านกับสินค้า NFT แล้วนั้น ค่ายเพลงต่าง ๆ จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทของตนเองได้อย่างมหาศาล เนื่องจากธรรมชาติของ NFT เป็นสินค้าที่น้อยคนจะสามารถเป็นเจ้าของได้อยู่แล้ว ย่อมทำให้แฟนคลับต้องยอมทุ่มเงินเพื่อให้ได้สินค้าของศิลปินที่ตนเองรักมาครอบครอง และเป็นการประกาศว่าตนเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ของศิลปินนั้น ๆ ทั้งนี้ NFT ยังช่วยลดอัตราการเกิดของเลียนแบบขึ้นมาได้อีก ขณะเดียวกันก็ยังช่วยลดความเสี่ยงที่แฟนคลับจะโดนหลอกขายสินค้าปลอมหรือการโก่งราคาอีกด้วย 

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแฟนคลับเองว่าจะมอง สินค้า NFT มีความคุ้มค่าในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละค่ายยังไงก็เดินหน้าต่ออย่างแน่นอน

 

ที่มา: AsiaOneCryptoSiamForkast, The Standard, Mashable SE AsiaMoney BuffaloNME, The MatterVarasarn Press

 

 

 

​​