มูลค่าของ NFT มาจากไหน | อิทธิ กวีพรสกุล

มูลค่าของ NFT มาจากไหน | อิทธิ กวีพรสกุล

รูปแบบการรับรองเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ NFT ในปัจจุบันได้รับการยอมรับในฐานะ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ประเภทหนึ่ง ที่กลุ่มนักลงทุนกำลังให้ความสนใจ ซึ่งมาพร้อมกับ “ตลาดซื้อขาย” ที่ทำให้หลายคนเกิดความฉงนฉงายอย่างมาก

แม้ NFT หรือ Non-Fungible Token ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “สิ่งที่ไม่สามารถทดแทนได้” ทำให้ผู้คนตาลุกวาวและการประเมินมูลค่าที่น่าจับตา แต่ก็มีตรรกะของการสร้างมูลค่าอย่างไร (how) และเมื่อใด (when) 
    การสร้างระบบพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ NFT เปลี่ยนพื้นฐานตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างสิ้นเชิงและเป็นไปได้ที่จะเกิดการทำธุรกรรมประเภทใหม่ ท่ามกลางการลงทุนใหม่ ๆ จำนวนมาก ซึ่งยากที่จะบอกได้ว่าสิ่งใดสร้างมูลค่าและอะไรเป็นการโฆษณาเกินจริง

บริษัทที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มีบางอย่างเหมือนกันคือ ใช้เทคโนโลยี NFT อย่างมีความหมายด้วยตัวเอง เพิ่มความสามารถการลงทุนของชุมชนผู้ใช้และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะรักษาการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำเสนอ “ช่องทาง” การเข้าถึงสำหรับผู้ใช้ใหม่และรับมือความผันผวนของตลาด crypto ได้  

บทความในวารสาร Harvard Business Review เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2021 โดย Steve Kaczynski และ Scott Duke Kominers กล่าวถึงการสร้างมูลค่าของ NFT ดังนี้

Everydays: The First 5000 Days

    ในมีนาคม 2021 มีการประมูลงานศิลปะชื่อ Everydays: The First 5000 Days ที่ Christie's Auction House ในราคา 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะเห็นการขายงานศิลปะในราคาแปดหลัก แต่งานชิ้นดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากเพราะเป็นการขายหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Token) ซึ่งบันทึกในรูปแบบดิจิทัล หรือ NFT กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีคนจ่ายเงินเกือบ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อภาพบนอินเทอร์เน็ต

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา NFT ก็เริ่มแทรกซึมผ่านวัฒนธรรมป๊อป โดยถูกนำไปหยอกล้อในรายการ Saturday Night Live และได้รับการตอบรับจากผู้มีชื่อเสียงเช่น Snoop Dogg ศิลปินเพลงแรปและ Stephen Curry ดาราบาสเก็ตบอล NBA ในแต่ละสัปดาห์มีการซื้อขาย NFT หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านตลาดสาธารณะ เช่น Foundation, OpenSea และ Nifty Gateway รวมทั้งแอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นเองเช่น NBA Top Shot และ VeVe

หลายคนสงสัยว่าโทเคน (ใบสำคัญคู่จ่าย) บนอินเทอร์เน็ตถูกประเมินมูลค่าเป็นเงินได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทเคนเป็นตัวแทน “ความเป็นเจ้าของ” ของรูปภาพออนไลน์หรือภาพเคลื่อนไหว (animation) โดยหลักการแล้วเราสามารถดาวน์โหลดและทำสำเนาได้ฟรี NFT เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและความสงสัยเนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสินทรัพย์แปลกใหม่และเราไม่ค่อยเห็นสินทรัพย์ใหม่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งนัก

แล้วอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนมูลค่าของสินทรัพย์ที่เป็นเพียงโทเค็นดิจิทัลที่ผู้คนสามารถส่งต่อกันได้ เพื่อทำความรู้จัก NFT อย่างถูกต้อง เราต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนว่ามันคืออะไร? มีกี่ประเภทและสร้างโอกาสทางการตลาดอย่างไร เราถึงจะเข้าใจวิธีสร้างธุรกิจจาก NFT ซึ่งเปลี่ยนแปลงพื้นฐานสำคัญของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ในอดีตเราไม่มีทางที่จะแยก “เจ้าของ” งานศิลปะดิจิทัลออกจาก “บุคคล” ที่เพิ่งบันทึกสำเนาไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ของตน ตลาดจะขับเคลื่อนไม่ได้หากสิทธิในทรัพย์สินไม่ชัดเจน ก่อนที่ใครสักคนจะซื้อสินค้าได้ต้องมีความชัดเจนว่า ใครเป็นผู้มีสิทธิในการขายและเมื่อมีคนซื้อจะต้องสามารถโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ขายไปยังผู้ซื้อได้

NFT แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการมอบสิ่งที่ทุกฝ่ายตกลงกันได้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ โดยสร้างตลาดจากการทำธุรกรรมประเภทใหม่ เช่น การซื้อและขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถขายได้มาก่อน หรือทำให้การทำธุรกรรมเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพและมีมูลค่ามากขึ้น

ตามความหมายตรงตัวแสดงว่า NFT เป็นรายการดิจิทัลที่ไม่เหมือนใครและถูกเก็บไว้ในบัญชีแยกประเภทดิจิทัลที่เปิดเผยต่อสาธารณะที่เรียกว่าบล็อคเชน  ซึ่งสามารถสามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นเจ้าของ NFT ในขณะนั้นและสามารถสืบสาวไปถึงเจ้าของก่อนหน้านี้ การโอน NFT จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งทำได้ง่ายดายแบบเดียวกับที่ธนาคารโอนเงินข้ามบัญชีและยากต่อการปลอมแปลง เนื่องจากการรับรองความเป็นเจ้าของและการโอน NFT ทำได้ง่าย เราจึงใช้ NFT สร้างตลาดซื้อขายสินค้าอย่างหลากหลาย

NFT ไม่ได้เป็นแค่ “ตราสารดิจิทัล” การที่เราสามารถตั้งโปรแกรมบนบล็อคเชน จึงเป็นไปได้ที่จะขยายคุณสมบัติของ NFT หรือแม้กระทั่งให้บริการโดยตรงแก่ผู้ถือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง NFT สามารถทำ หรือปล่อยให้เจ้าของทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ทั้งในพื้นที่ดิจิทัลและโลกทางกายภาพ ในแง่นี้ NFT ทำหน้าที่เหมือนบัตรสมาชิกหรือตั๋วสำหรับการเข้าถึงกิจกรรม สินค้าและส่วนลดพิเศษ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นกุญแจดิจิทัลสำหรับพื้นที่ออนไลน์ที่ผู้ถือสามารถมีส่วนร่วมได้

มูลค่าของ NFT มาจากไหน | อิทธิ กวีพรสกุล

 ความเป็นสาธารณะของบล็อกเชนม ทำให้สามารถส่งผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมให้ทุกคนที่เป็นเจ้าของโทเคนโดยตรง ผู้ถือครอง NFT จะได้รับมูลค่ามากกว่าความเป็นเจ้าของธรรมดา ส่วนผู้สร้างทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมากเกี่ยวกับตราสินค้า (Brand) ของตน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้สร้างจะจัดการพบปะแบบตัวต่อตัวกับผู้ถือ NFT ของตนเช่นเดียวกับการประชุม NFT NYC ครั้งล่าสุด

กรณีอื่น ๆ อาจต้องมี NFT เฉพาะในกระเป๋าเงินออนไลน์เพื่อเข้าถึงเกมออนไลน์ ห้องสนทนาหรือร้านขายสินค้า บางครั้งทีมผู้สร้างก็ให้โทเค็นเพิ่มเติมแก่ผู้ถือ NFT ของตนเพื่อขยายระบบนิเวศของผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น เจ้าของ goat NFT (เกมแพะผี) จะมีสิทธิได้รับโทเคน baby goat NFT ที่ให้ประโยชน์มากกว่าโทเค็นดั้งเดิมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ถือ bear NFT จะได้รับโทเคนน้ำผึ้ง

การเป็นเจ้าของ NFT อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เราเป็นนักลงทุน สมาชิกสโมสร ผู้ถือหุ้นตราสินค้าและเข้าร่วมโครงการสร้างความภักดีต่อตราสินค้าในเวลาเดียวกัน ความสามารถในการตั้งโปรแกรมของ NFT ช่วยสนับสนุนตัวแบบทางธุรกิจและผลประโยชน์ใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น NFT ทำสัญญาค่าลิขสิทธิ์รูปแบบใหม่ โดยทุกครั้งที่มีการขายงานต่อ ส่วนแบ่งของธุรกรรมจะคืนกลับไปยังผู้สร้างดั้งเดิม

ตลาดที่ใช้ NFT เป็นพื้นฐานจะปรากฏขึ้นและมีแรงฉุดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ crypto อื่น ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะ NFT มีมูลค่าในตัวเอง เราอาจซื้องานศิลปะ NFT เพราะความชอบ เนื่องจาก NFT จำเป็นต้องสร้างมูลค่าให้กับชุมชนของผู้เป็นเจ้าของ (ซึ่งอาจมีขนาดค่อนข้างเล็ก) ขณะที่สกุลเงิน คริปโตจำเป็นต้องได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บมูลค่าและ/หรือเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (ติดตามต่อตอน 2).