2564 ที่ผ่านไป ปีทองของ “สมุนไพร” พืชสวนหลังบ้านที่กลับมามีค่าดั่งทอง

2564 ที่ผ่านไป ปีทองของ “สมุนไพร” พืชสวนหลังบ้านที่กลับมามีค่าดั่งทอง

โควิด-19 สร้างความเสียหายให้ทุกวงการ แต่แวดวงสมุนไพรกลับคึกคักมาก จนเรียกได้ว่า 2564 ที่เพิ่งจะผ่านไปเป็นปีทองของ “สมุนไพร”

ความรักตัวกลัวตายคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ สมุนไพร ได้รับความสนใจจนกลายเป็นความนิยมตลอดปี 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่ในขั้นวิกฤต และผลวิจัยต่างๆ ก็ยืนยันว่าสมุนไพรหลายชนิดมีผลทางการรักษาและป้องกัน ทั้งที่พืชพรรณเหล่านี้บางทีอาจเคยเป็นแค่ต้นไม้นอกสายตาในสวนหลังบ้านของคุณ

ตัวอย่างสมุนไพรที่กลายเป็นหนึ่งในฮีโร่ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิด ชื่ออาจคุ้นตา แต่สรรพคุณเหลือร้าย เช่น

ฟ้าทะลายโจร - มีการศึกษาวิจัยกันอย่างแพร่หลาย ทั้ง จีน สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย โดยงานวิจัยที่ได้รับการรับรองแล้วพบว่า กลไกต้านไวรัสของฟ้าทะลายโจรป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ ลดการแบ่งตัวไวรัสภายในเซลล์ เพิ่มภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส รวมถึงลดอาการการอักเสบที่ปอดจากการติดเชื้อไวรัส

กระเทียม - มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน สาร allicin ในกระเทียม มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ป้องกันการหลั่งสาร cytokine ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว และช่วยเพิ่มแอนติบอดี้ ชนิด immunoglobulin A (IgA) ซึ่งเป็นด่านแรกของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยพบมากที่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ตามเยื่อเมือกต่างๆ

และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของ B-cell lymphocyte รวมทั้งกระตุ้นการหลั่งของสาร interferon ซึ่งเป็นสารที่สร้างในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต้านไวรัส

ขิง - ซึ่งมีรสเผ็ดร้อน พบฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปแล้วมักนำมากินแก้หวัด ซึ่งขิงนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ (anti–oxidant) และสารต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) อยู่มากมาย เช่น Gingerol, Shogoal และ Paradoal

ขมิ้นชัน - มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ในการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และช่วยยับยั้งการหลั่งสารอักเสบ ทั้งนี้จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่าสารสำคัญของขมิ้นชัน และ demethoxycurcumine แย่งจับกับตำแหน่งของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้

มะขามป้อม - เป็นยาแก้ไอ ละลายเสมหะ โดยพื้นบ้านใช้รักษาหลอดลมอักเสบ วัณโรคปอด หอบหืด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยสารสำคัญในมะขามป้อมจะไปจับกับขาโปรตีนของไวรัสโควิด-19 และตัวรับ ACE2 ซึ่งมีบทบาทการผ่านเข้าเซลล์ปอด และยังเข้าจับกับเชื้อในหลายตำแหน่งที่มีผลต่อการยับยั้งการสร้างและการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส

กระชายขาว - ได้รับขนานนามว่าเป็น "โสมเมืองไทย" มีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ดูแลกระเพาะและลำไส้ ต้านอนุมูลอิสระ งานวิจัย พบว่า สารสกัดกระชายขาว มีฤทธิ์ต้าน COVID-19 ในหลอดทดลอง

แต่ถึงแม้สมุนไพรจะมาจากธรรมชาติ และค่อนข้างปลอดภัยในแง่ผลค้างเขียงและสารตกค้างในร่างกาย ทว่าก็ยังต้องใช้อย่างถูกวิธี

ยกตัวอย่างฟ้าทะลายโจร ผู้ที่ควรได้รับยาฟ้าทะลายโจร คือ 1. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย 2. ผู้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ครั่นเนื้อตัว 3.ผู้เสี่ยงสูง สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด และมีกลุ่มผู้ป่วยที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ คือกลุ่มผู้ป่วยตับอักเสบ ผู้ป่วยไตวายระยะ 4-5 และ ผู้ใช้ยาวาร์ฟารินทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ตั้งครรภ์และอยู่ระหว่างให้นมบุตร

ปัญหาที่พบจากการใช้ยาฟ้าทะลายโจรนั้น ในสถานพยาบาล จะพบว่าผู้ป่วยได้รับยาช้า  ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบใช้ฟ้าทะลายได้หรือไม่ ผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะ เช่น ปัญหาตับ ไต ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ การให้ร่วมกับยาต้านไวรัสได้หรือไม่ ให้ยา 5 วันแล้ว แต่ยังมีอาการ ไข้ เจ็บคอ รับประทานได้ต่อหรือไม่ ให้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับพาราเซตามอล

ขณะที่ในภาคประชาชน จะไม่มียา มียาแต่ไม่ทราบปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ต้องการใช้ใบสด หรือใบแห้ง กินขนาดยาผิด กินระยะเวลาผิด กินร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ กินป้องกันขนาดเท่ากับรักษา และกินรูปแบบยาผิด เช่น ยาต้ม

ดังนั้น การใช้ยาฟ้าทะลายโจร ถ้าเป็นผงฟ้าทะลายโจร 400 mg/แคปซูล พบสารแอนโดรกราโฟไลด์ 12-16 mg/แคปซูล ซึ่งมีฤทธิ์แก้ไข้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ต้านเชื้อไวรัส ลดการอักเสบ ปรับภูมิคุ้มกันได้ จึงแนะนำให้กินฟ้าทะลายโจรที่มาสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 mg ต่อวันเป็นเวลา 5 วัน เป็นต้น

อีกปัจจัยที่ทำให้แวดวงสมุนไพรคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะความที่สมุนไพรอยู่ใกล้ตัว เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยอยู่ทุนเดิม เพียงแค่ปรับพฤติกรรมให้บริโภคสมุนไพรเป็นอาหารในปริมาณมากขึ้น นอกจากอร่อยแล้วยังได้สรรพคุณทางยาซึ่งธรรมชาติคัดสรรมาให้แล้ว