"เสียงอิสาน" เดินหน้าใช้ "คริปโทฯ" ดันรายได้ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ดูหมอลำ

"เสียงอิสาน" เดินหน้าใช้ "คริปโทฯ" ดันรายได้ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ดูหมอลำ

ลูกทุ่งหมอลำ "เสียงอิสาน" ประกาศรับชำระบัตรคอนเสิร์ตด้วย "คริปโทฯ" หรือ "สินทรัพย์ดิจิทัล" พร้อมใช้ระบบออนไลน์ปรับตัวเองเพื่อสร้างฐานคนดูหมอลำรุ่นใหม่

Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า "คริปโทฯ" คือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่กำลังได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนในปัจจุบัน และเมื่อเร็วๆ นี้ คณะ "เสียงอิสาน" หนึ่งในวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดวงหนึ่งในประเทศไทย ได้สร้างกระแสความฮือฮาด้วยการประกาศซื้อขายบัตรแสดงคอนเสิร์ตผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งรับชำระผ่านการใช้ "คริปโทฯ" ทั้งสกุลเงิน ETH, BNB, USDT, BUSD 

 

โดยพบว่าบนเฟซบุ๊คแฟนเพจ “เสียงอิสาน นกน้อย อุไรพร” ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการรับชำระค่าบัตรคอนเสิร์ตผ่าน "คริปโทฯ" ไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

\"เสียงอิสาน\" เดินหน้าใช้ \"คริปโทฯ\" ดันรายได้ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ดูหมอลำ ที่มาภาพ : เฟสบุ๊คเสียงอิสาน นกน้อย อุไรพร

นายสุชาติ อินทร์พรหม หรือ “เสี่ยหน่อย” ผู้บริหารวงหมอลำเสียงอิสาน ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ว่า  หลังจากวงเสียงอิสานได้สื่อสารถึงการรับชำระเงินด้วยคริปโทฯ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีผู้สนับสนุนส่งข้อความเห็นด้วยมากมาย เพราะคนเหล่านั้นมองว่าช่วยเสริมภาพลักษณ์ของหมอลำให้มีความทันสมัยมากขึ้น และช่วยเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชาวต่างชาติ หรือคนไทยในต่างประเทศที่รู้สึกสะดวกสบายในการชำระเงินด้วยคริปโทฯ มากกว่าสกุลเงินบาท

นายสุชาติ กล่าวว่า จุดประสงค์สำหรับการจ่ายเงินด้วยคริปโทฯ นี้ คือต้องการให้การใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมของไทยให้คนทั่วโลกรู้จักมากขึ้น  และต้องการเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ คนต่างชาติ ที่สะดวกในการชำระค่าบัตรด้วยสกุลเงินดิจิทัล

นอกจากการเปิดรับจ่ายค่าบัตรคอนเสิร์ตด้วยคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว ในอนาคตทีมงานจะมีแผนใช้คริปโทฯ ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การรับชำระค่าจ้างด้วยคริปโทฯ เมื่อมีการว่าจ้างไปออกงาน, เปิดให้แฟนคลับมอบมาลัยให้ศิลปินที่ชื่นชอบ, การดูเนื้อหาของวงย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น

“เรายังไม่ได้เปลี่ยนวิธีการไปจากเดิม แต่แนวทางนี้คือสิ่งที่เสียงอิสานพยายามพัฒนาไปตามยุคสมัย และต้องการปรับตัวให้เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้สนับสนุนใหม่ๆ มากขึ้น ทุกวันนี้เรามีการใช้สื่อดิจิทัล ใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสาร นำเสนอคอนเทนท์ที่หลากหลายให้กับกลุ่มผู้สนับสนุน ให้เขาเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม อย่างคนไทยในต่างแดนที่คิดถึงบ้าน ก็จะได้มีความสุขที่ได้ยินเสียงแคน เสียงดนตรีหมอลำ ซึ่งการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล หรือสกุลเงินดิจิทัลเป็นตัวกลางทำให้เขารู้สึกเข้าถึงเรามากกว่า และง่ายกว่าที่จะชำระเป็นเงินบาทในช่องทางปกติ”  

\"เสียงอิสาน\" เดินหน้าใช้ \"คริปโทฯ\" ดันรายได้ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ดูหมอลำ
ที่มาภาพ : เฟสบุ๊คเฮียหน่อย เสียงอิสาน

 

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักทำให้การแสดงสดต้องชะลอไปก่อน คณะ "เสียงอิสาน" จึงปรับตัวโดยใช้ออนไลน์เป็นช่องทางที่จะช่วยรักษาฐานผู้ชมมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการแสดงออนไลน์ในกลุ่มปิดที่ต้องชำระค่าสมาชิก แม้จะทดแทนรายได้หลักจากการแสดงจริงไม่ได้ แต่ก็ช่วยรักษาสมาชิกในวง ช่วยให้ยังอยู่ต่อไปได้ในธุรกิจเพื่อรอวันกลับไปแสดงจริงเช่นเดิมเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

ทั้งนี้ในปัจจุบันกลุ่มสนับสนุนคณะเสียงอิสานยังเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.งานเทศกาล งานมหรสพ งานวัด ร้อยละ 80 และ 2. การจ้างจากกลุ่มธุรกิจรับจัดงาน ร้อยละ 20 ซึ่งหากไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง หรือหากสถานการณ์โควิด-19 ไม่แย่ลงกว่าเดิม คณะเสียงอิสานจะเริ่มเดินสายแสดงอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงส่งท้ายปีและช่วงต้นปี 65 เพราะได้รับการจองคิวเรียบร้อยแล้ว

นายสุชาติ ยืนยันว่า แม้ช่วงกลางปี 64 จะมีข่าวว่าแม่นกน้อย อุไรพร ที่ทุกคนรู้จักจะวางมือและมาเป็นที่ปรึกษา แต่คณะเสียงอิสานยังคงรับงานแสดงอยู่เช่นเดิม และพร้อมพัฒนาคุณภาพการโชว์ให้ดียิ่งขึ้น สมกับการได้รับการสนับสนุนมาตลอด

--------------------------------

อ้างอิง : เสียงอิสาน นกน้อย อุไรพร