ก่อนซื้อ "กล่องสุ่ม" เช็คเงื่อนไขร้านค้าให้ดี ซื้อยังไงไม่ให้เสียใจทีหลัง

ก่อนซื้อ "กล่องสุ่ม" เช็คเงื่อนไขร้านค้าให้ดี ซื้อยังไงไม่ให้เสียใจทีหลัง

"กล่องสุ่ม" รัก 1 จาก "พิมรี่พาย" กลายเป็นดราม่าอีกครั้ง เมื่อผู้บริโภคบางคนได้สินค้าไม่สมราคา 10,000 บาท บ้างก็ได้สินค้าหมดอายุ เป็นต้น ชวนรู้ก่อนตัดสินใจซื้อ "กล่องสุ่ม" ในฐานะผู้บริโภคควรเช็คเงื่อนไขอะไรบ้าง?

เมื่อ "กล่องสุ่ม" ของพิมรี่พาย กลับมาเป็นกระแสแรงในโซเชียลอีกครั้ง เนื่องจากเพื่อนรักที่ซื้อกล่องสุ่มรหัส "รัก1" ราคา 10,000 บาท ไปนั้น บางคนพบว่าสินค้าที่ได้ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป หรือได้สินค้าหมดอายุ หรือได้แก้วน้ำเก่าเก็บที่ขึ้นสนิม เป็นต้น

ประเด็นนี้ทำให้เกิดดราม่าดุเดือดในโลกโซเชียล ถึงขั้นว่ามีผู้บริโภคที่ไม่พอใจกับกล่องสุ่ม "รัก1" รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้พิมรี่พายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

หากมองในมุมกลยุทธ์การตลาดของ "พิมรี่พาย" ที่ทำธุรกิจขายของ และได้แจ้งให้ลูกค้าทราบก่อนแล้วว่ากล่องสุ่มคือ การใส่ของอะไรก็ได้ตามใจแม่ค้า ดังนั้นลูกค้าที่กล้าซื้อกล่องสุ่มในราคาสูง ก็ต้องเข้าใจและยอมรับว่าเมื่อเปิดกล่องแล้วอาจได้ของที่ไม่ถูกใจ หรือของบางชิ้นที่ราคาต่ำกว่าที่คาดหวัง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนเป็นแม่ค้าเองก็ต้องใส่สินค้า (รวมทุกชิ้น) ในกล่องสุ่มให้มีมูลค่าเท่ากับราคาที่ตั้งขาย รวมถึงของทุกชิ้นต้องมีคุณภาพดี ไม่หมดอายุ และไม่เก่าเก็บจนขึ้นสนิมด้วย

 

ประเด็นนี้ทางพิมรี่พายได้ออกมาชี้แจง และทยอยชดเชยค่าเสียหายให้แก่ลูกค้าที่ซื้อกล่องสุ่ม "รัก1" ไปบางส่วนแล้ว โดยจ่ายเงินคืนให้ลูกค้าที่ไม่พอใจทุกบาททุกสตางค์ และขอรับสินค้าคืน มีรายงานว่าพิมรี่พายทยอยคืนเงินไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท

ล่าสุด.. วันนี้ 24 ธ.ค. 64 เวลาประมาณ 19.00 น. ยังมีผู้บริโภคบางรายที่ได้รับความเสียหายจากกล่องสุ่มดังกล่าว และกำลังรวบรวมหลักฐานจะไปแจ้งความ และร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 

เอาเป็นว่าในฐานะของผู้บริโภคเอง หากไม่อยากซื้อกล่องสุ่มแล้วเสียใจทีหลัง ก็ควรรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดแบบ "กล่องสุ่ม" ก่อนว่า อย่างไรเสียเจ้าของธุรกิจย่อมไม่มีทางที่จะให้ธุรกิจตัวเองขาดทุนแน่นอน และควรเช็คเงื่อนไขของร้านค้าที่ทำกล่องสุ่มให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

เรารวบรวมเงื่อนไขที่ผู้บริโภคควรพิจารณาให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อ "กล่องสุ่ม" จากร้านค้าออนไลน์ มาให้เช็คลิสต์ดังนี้ 

1. ผู้บริโภคควรเลือกร้านค้าที่น่าเชื่อถือ

ผู้บริโภคควรเลือกร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้ เช่น ร้านวัตสัน, อีฟแอนด์บอย, คอนวี (Konvy) ฯลฯ หรืออื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าอย่างกว้างขวางว่าสินค้าดีมีคุณภาพจริง เป็นของแท้ และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

2. ร้านค้าต้องระบุราคาจริงของสินค้า

ผู้บริโภคควรเลือกร้านค้าที่ระบุราคาจริงของสินค้าที่รวมมาให้ในกล่องสุ่ม (โดยประมาณ) ให้ลูกค้าทราบ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้คิดคำนวณได้ว่าหากซื้อกล่องสุ่มเจ้านี้แล้ว คุ้มค่ากับการตัดสินใจซื้อหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ร้านวัตสัน (Watson) จะมีการขาย "กล่องสุ่ม" ของใช้และเครื่องสำอาง ในราคากล่องละ 500 บาท (ขายเฉพาะช่องทางออนไลน์ในวันที่ 25 ธ.ค. 64 10.00 น. เป็นต้นไป) ซึ่งมีการระบุมูลค่าสินค้าที่จะใส่ในกล่องสุ่มชัดๆ ว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 4,000 - 7,000 บาท เป็นต้น

ก่อนซื้อ \"กล่องสุ่ม\" เช็คเงื่อนไขร้านค้าให้ดี ซื้อยังไงไม่ให้เสียใจทีหลัง

 

3. ควรเลือกร้านค้าที่รับประกันสินค้าของแท้

สำหรับกลยุทธ์การขายแบบ "กล่องสุ่ม" ส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง, น้ำหอม, สกินแคร์ หากผู้บริโภคอยากได้สินค้าที่เป็นของแท้ และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ให้สังเกตร้านค้านั้นๆ ว่ามีการยืนยันว่าสินค้าที่จะขายเป็นของแท้ 100% และต้องมีช่องทางให้ตรวจสอบสินค้าได้ด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Konvy เป็นร้านที่ยืนยันว่าขายสินค้าของแท้ 100% ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์ น้ำหอม เครื่องสำอาง โดยเป็นร้านที่ผู้บริโภคยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าสินค้าเป็นของแท้จริงๆ และมีคุณภาพ

ก่อนซื้อ \"กล่องสุ่ม\" เช็คเงื่อนไขร้านค้าให้ดี ซื้อยังไงไม่ให้เสียใจทีหลัง

4. ร้านค้าควรระบุแบรนด์สินค้าที่จะใส่ในกล่องสุ่ม

สิ่งต่อมาที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อข้างต้นคือ ผู้บริโภคควรเลือกร้านค้าที่ระบุชื่อแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่จะให้มาในกล่องสุ่มชัดเจน เช่น ถ้าเป็นเครื่องสำอางหรือสกินแคร์ ก็ต้องระบุชัดเจนว่า จะใส่ของยี่ห้อไหน แบรนด์อะไรลงไปในกล่องสุ่มบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น ร้าน GbeautySelected ที่ทำกล่องสุ่มขาย ในหมวดเครื่องสำอางเกาหลีแบรนด์แท้ โดยทางร้านมีการรับประกันเรื่องสินค้าของแท้ และมีการแจ้งยี่ห้อหรือแบรนด์สินค้าให้ลูกค้าทราบก่อนด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีร้าน Eve and Boy (กล่องสุ่มน้ำหอม) และ ร้าน Nice to meet box (กล่องสุ่มสกินแคร์+น้ำหอม) ที่โชว์สินค้าแบรนด์ของแท้ให้ลูกค้าดูก่อนการเปิดขายกล่องสุ่ม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

ก่อนซื้อ \"กล่องสุ่ม\" เช็คเงื่อนไขร้านค้าให้ดี ซื้อยังไงไม่ให้เสียใจทีหลัง

ก่อนซื้อ \"กล่องสุ่ม\" เช็คเงื่อนไขร้านค้าให้ดี ซื้อยังไงไม่ให้เสียใจทีหลัง

5. ผู้บริโภคต้องพิจารณาความสมเหตุสมผล

ลูกค้าที่อยากซื้อ "กล่องสุ่ม" ควรพิจารณาราคารวมของสินค้าที่คาดว่าจะได้มาในกล่องสุ่ม เทียบกับราคาคุณจะต้องจ่าย ควรสมเหตุสมผลกัน

6. เลือกร้านที่รับประกันวันหมดอายุของสินค้า

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อ "กล่องสุ่ม" ร้านค้าที่รับประกันวันหมดอายุของสินค้าที่จะใส่ในกล่องสุ่มให้ชัดเจน หากทางร้านค้าไม่มีการแจ้งวันหมดอายุของสินค้า ที่ชัดเจนก็ให้ระวังไว้ก่อนจะดีที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์