การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2

การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2

กว่า 15 ปี ที่ไทยเราเผชิญวิกฤติมลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสะสมในบ้านเรามานาน โดยเฉพาะ 17 จังหวัดภาคเหนือที่เปรียบเสมือนฮอตสปอตเผาไหม้ผืนใหญ่ เพราะแทบจะกลายเป็นธรรมเนียมประจำของทุกปี ที่ในช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน ประเทศไทยเราต้องเข้าสู่ช่วง “ฤดูกาลฝุ่น PM2.5”

จากข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่า ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด ตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้สูงสุดอยู่ที่ 166 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นั่นแสดงว่าทำให้คนในพื้นที่ภาคเหนือไทยต้องรับฝุ่นเล็กมหาภัยแต่ละปีสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 11 เท่า!

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด

หากลองสังเคราะห์รากเหง้าปัญหาฝุ่นภาคเหนือของไทย อาจพบว่า ปัญหาฝุ่น แท้จริงแล้วเหมือนไก่กับไข่ เพราะทั้งคนทำและคนได้รับผลกระทบ ล้วนไม่ตระหนักถึงอันตรายแฝง จากความไม่ระแวงระวัง อาจทำให้เรื่องฝุ่นจึงไม่เคยเจือจางห่างหายหมดไป !

เรื่องฝุ่นที่ไม่เล็ก

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) ให้มุมมองเบื้องลึกปัญหาว่า เรื่องมลพิษฝุ่นควันเป็นปัญหาสุขภาพเชิงลึก เนื่องจากโรคหรือปัญหาสุขภาพจากฝุ่นนั้นมักไม่ใช่อาการเฉียบพลัน แต่เกิดจากการ “สะสม” มานาน เราจะทราบอีกที ก็ต้องรอพบว่าป่วยแล้วหรือเป็นเยอะถึงได้มาโรงพยาบาล ซึ่งนั่นอาจแสดงว่า เราได้รับมานานหรือสะสมในปริมาณสูงแล้ว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่เห็นข้อมูลเป็นตัวเลข ไม่เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ จะคิดภาพไม่ออกว่าปัญหามากน้อยแค่ไหน” ศ.ดร.พญ.อรพรรณ เอ่ย

การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2
 

มองว่าที่ผ่านมาคือการตั้งรับ เพราะในประเทศไทยแทบไม่เคยมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บสถิติเชิงลึกมาก่อน แต่โครงการนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราลงทำงานเชิงรุกในเรื่องฝุ่นที่มีผลต่อสุขภาพมากขึ้น

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ เผยแนวคิดของโครงการนำร่อง การลงพื้นที่ตรวจสุขภาพปอด ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ตรวจสุขภาพผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการ “โรงเรียนสู้ฝุ่น” ในพื้นที่จังหวัดลำพูน จำนวน 1,000 คน ที่โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ของทีมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

จีรพงษ์ สนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อำเภอลี้ หนึ่งในโรงเรียนที่ร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในจังหวัดลำพูน กล่าวว่า โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร มีเด็กนักเรียนและครู 272 คน ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านก้อในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เป็นพื้นที่ล้อมรอบด้วยป่าและภูเขา ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเกิดจากไฟไหม้ป่า ที่ผ่านมาโรงเรียนได้จัดตั้งคณะกรรมการนักเรียน เพื่อตรวจดูตัวเลขค่าฝุ่นในแต่ละวัน หากพบค่าฝุ่นอันตรายทำให้ต้องหยุดการเรียนการสอนทันที

ซึ่งหลังการเข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในครั้งนี้ ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เสริมหลักสูตร การเรียนการสอนแบบบูรณาการ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพื่อขยายผลให้เด็กๆ มีความรู้สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และติดธงสีต่างๆ และมีวิธีจัดการตัวเอง โดยงดกิจกรรมกลางแจ้ง และนำความรู้เรื่องการไม่เผาในที่โล่งส่งต่อผู้ปกครอง แนะนำการกำจัดวัชพืชด้วยการหมักทำปุ๋ยทดแทนการเผา เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่

การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2
 

“ความรู้” สู่ “ความตระหนัก”

โรงเรียนสู้ฝุ่น” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนการดำเนินการมาเป็นปีที่สอง ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จกับการนำร่องกว่า 30 โรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อปีกลาย ปีนี้การขับเคลื่อนจึงยกระดับเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทีมแพทย์จากสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมด้วย 9 ภาคีสภาลมหายใจภาคเหนือ ร่วมผลักดัน “โรงเรียนสู้ฝุ่น” ในปีที่สอง สู่ระดับเข้มข้นยิ่งขึ้น

การลงพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นควันครั้งนี้ เป้าหมายของเราคือ อยากให้ชุมชนเห็นปัญหาเชิงประจักษ์ ผ่านตัวเลขสถิติชัดเจน รวมถึงในระยะยาว เรายังมองการเก็บข้อมูล เพื่อนำไปศึกษาวิจัยสาเหตุปัญหาที่แท้จริง ซึ่งต้องรวมถึงศึกษาพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า เขามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่ เช่น การสูบบุหรี่ การใช้เตาเผาในบ้าน เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญมากกว่าการตรวจสุขภาพคือ การถ่ายทอดความรู้ให้ดูแลตัวเองเป็นและส่งต่อ พร้อมกับวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพฤติกรรมไปด้วย เพื่อให้หาถูกจุด และแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ศ.ดร.พญ.อรพรรณ กล่าวต่อว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของ “โรงเรียนสู้ฝุ่น” สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพจะเน้นการเจาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นหลัก โดยคุณหมอเอ่ยว่า เป็นกลุ่มที่เรามองว่าคือ Early Detection การทำให้เขาพบปัญหาได้เร็วขึ้น หรือพบแต่เนิ่นๆ จะทำให้มีโอกาสรักษาเร็วและป้องกันเร็วด้วย ซึ่งหากเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นมันอาจช้าเกินไป

การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2

ปฏิบัติการสร้างลมหายใจสะอาด

อาจกล่าวได้ว่า “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นอีกต้นแบบทางออกของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่เริ่มจากการสร้างความตระหนักให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้เข้าใจรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่นว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ และรู้จักวิธีการป้องกันตนเอง รวมทั้งสามารถเป็นแรงกระเพื่อมขยายไปสู่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง และชุมชนให้หันมาดูแลรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลูกหลานของตัวเอง

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ว่า
หน้าที่ สสส. คือสร้างต้นแบบ ในปีแรกเราสร้าง 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รวม 30 โรงเรียน ปัจจุบันก็มีการรับไม้ต่อไปผลักดันต่อแล้ว สำหรับปีนี้เราจึงขยายผลอีก 110 แห่ง ทั้งใน 7 จังหวัด ภาคเหนือ และภาคอีสานอีก 2 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละจังหวัดบริบทไม่เหมือนกัน แต่เราพยายามทำต้นแบบ หากระบวนการ หาเครื่องมือ เพื่อให้นำไปขยายต่อ เพราะเชื่อว่าเรื่องฝุ่นควันคงอยู่กับเราไปนาน เราหนีไม่พ้น แต่ทำอย่างไรจะให้ปัญหาน้อยที่สุด

ซึ่งผลจากการดำเนินงานโครงการ ห้องเรียนสู้ฝุ่น ยังส่งผลให้ปัญหาการเผาในที่โล่งหรือจุดความร้อนสะสมลดลงในพื้นที่ดำเนินการ 3 จังหวัด ได้แก่

  1. แม่ฮ่องสอน พบจุดความร้อนสะสม 1,497 จุด ในปี 2563 ลดเหลือ 1,273 จุด ในปี 2564
  2. เชียงราย พบจุดความร้อนสะสม 944 จุด ในปี 2563 ลดเหลือ 251 จุด ในปี 2564
  3. แพร่ พบจุดความร้อนสะสม 429 จุด ในปี 2563 ลดเหลือ 234 จุด

ในด้านผลการดำเนินการในปีแรกนั้น ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น เล่าถึงผลงานว่า โครงการ ห้องเรียนสู้ฝุ่น ถือว่าประสบความสำเร็จในการให้ความรู้และตระหนักถึงปัญหา ต่อยอดไปสู่การสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

เหตุผลของการมีโรงเรียนสู้ฝุ่นคือ เราจำเป็นต้องสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง เราเชื่อว่า โรงเรียนสู้ฝุ่นเราปักความรู้ไว้แล้ว เมื่อเราออกมา เขาต้องขยับเองได้ อย่างครูหรือโรงเรียนที่อบรมในหลักสูตรนี้ สามารถไปปรับความรู้ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนของเขาเอง หรือในตัวเด็ก อย่างน้อยเขาจะต้องเป็น Active Citizen ที่สามารถรู้ว่าฝุ่นมีอันตราย อ่านค่าฝุ่นได้ ดูภาพจากฮ็อตสปอต ไปบอกกับพ่อแม่ได้ว่าเขาสร้างแหล่งกำเนิดฝุ่น นั่นคือปลายทางที่เราต้องการ

อย่างไรก็ดี ดร.นิอร กล่าวยอมรับว่า แม้ปัจจุบัน สถานการณ์ด้านมลพิษในพื้นที่อาจยังไม่ได้ดีขึ้นเป็นรูปธรรม แต่การตระหนักรู้นั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

ถามว่าฮ็อตสปอตยังมีไหม อะไรก็ยังมีเหมือนเดิม แต่การรับรู้ของภาคประชาสังคมดีขึ้น อีกสิ่งที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มบุคคลหรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นควันก็ถูกเคาะ  ถูกจับตาจากสังคมมากขึ้น เดิมปัญหาสุขภาพเด็ก เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครสนใจ เพราะมองเรื่องปากท้องสำคัญกว่า รวมทั้งภาคนโยบายก็เริ่มมีการขยับมากขึ้น อย่างตอนนี้ เรามีการพัฒนาแอปพลิเคชันขอจองการเผาแล้ว คือถ้าจะเผาต้องลงทะเบียนไม่ใช่อยากเผาก็เผา” ดร.นิอร เปิดใจ

ว่าที่ร้อยตรีปฏิภาณ อินทเนตร ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่หละป่าป๋วย จ.แพร่ เผยถึงความเปลี่ยนแปลงของการหลังการเข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นปีแรกว่า ตอนแรกเราไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่พอมาอบรมก็ทำให้เราตระหนักเรื่องหมอกควัน ซึ่งโรงเรียนของเราเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่นควันหนักมาก เรารู้แต่เราไม่เคยสนใจ พอเราได้ความรู้จากตรงนี้ก็ไปให้ความรู้ผ่านกิจกรรม โดยเราเน้นให้เด็กเรียนรู้จากการเล่น เราคิดกิจกรรม เกมต่างๆ ในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของเขาก็จะใส่กิจกรรมนี้ไปด้วย เด็กรุ่นพี่เองก็ผลิตสื่อไปสอนน้องๆ ในโรงเรียน ส่วนผู้ปกครองเราก็มองว่าจะทำอย่างไรจะกระจายให้ไปข้างนอกรั้วโรงเรียน เลยจัดทำคลิปลูกหลานเขารณรงค์เรื่องฝุ่น แชร์ผ่านสื่อโซเชียลก็ดึงดูดความสนใจจากผู้ปกครองมากขึ้น ผลพลอยได้คือทำให้เขาเห็นความสำคัญเรื่องปัญหาฝุ่นมากขึ้นและพยายามลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นในพื้นที่

สำหรับ ห้องเรียนสู้ฝุ่น ทั้ง 140 โรงเรียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 นี้ ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 พื้นที่ ดังนี้

  1. ภาคเหนือตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน และพะเยา รวม 50 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านสภาลมหายใจภาคเหนือและสภาลมหายใจของแต่ละจังหวัด
  2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น และอุดรธานี รวม 20 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  3. โรงเรียนตามแนวชายแดนประเทศไทย-ลาว รวม 10 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย–ลาว กองทัพภาคที่ 3 
  4. โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวม 50 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านสำนักการศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร
  5. โรงเรียนนานาชาติ รวม 10 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านสถานกงสุลสหราชอาณาจักร จังหวัดเชียงใหม่

รุก “ปลอดฝุ่น ปลอดภัย ในสถานศึกษา”

ในยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. มุ่งยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อมให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) สสส.พุ่งเป้าและทำงานหวังผลเป็นรูปธรรม จึงพยายามสร้างพลเมืองตื่นรู้ รุ่นเยาว์ที่ทั้งตระหนักปัญหาและทำงานแก้ปัญหาอย่างเข้าใจ หลังเราเห็นผลชัดเจนจาก 3 จังหวัดในเฟสแรก จึงกำลังขยายผลมากขึ้น และยังเคลื่อนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อปลูกสร้างวิธีคิดในการจัดการปัญหาโดยไม่เผา” ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าว

การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2

พร้อมเอ่ยว่า สสส. ให้ความสำคัญกระบวนการสร้างความร่วมมือในพื้นที่ ทั้งภาคนโยบาย ประชาสังคม เครือข่ายนักวิชาการระหว่างประเทศ เอกชน และการสื่อสารสาธารณะ ร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล ส่งต่อองค์ความรู้ และส่งต่อเสียงของเด็กและเยาวชนแก่สาธารณะ (Micro influencer) เพื่อสร้างพลังการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสังคม ลดมลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี ชาติวุฒิย้ำหนักแน่นว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันจะทำโดย สสส. คนเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องร่วมมือกัน กับทั้งพื้นที่และภาคีเครือข่าย รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลวิชาการที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายในระยะยาว

ท้ายสุด ศ.ดร.พญ.อรพรรณ ได้ให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากปัญหาฝุ่น PM2.5 มี 4 วิธี คือ

  1. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95
  2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ
  4. รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ เน้นผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยล้างสารพิษในกระแสเลือด

อาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 สังเกตได้ ดังนี้ 

  1. ผิวหนัง เป็นผื่นแดง คัน
  2. ดวงตา ตาแดง บวม คันตา น้ำตาไหล
  3. ทางเดินหายใจ คันคอ แน่นหน้าอกและโพรงจมูก ไอ จาม มีน้ำมูกใส หากอาการแสบคอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด หรือมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์

ผุด “ศูนย์วิชาการขับเคลื่อนป้องกัน-แก้ไขอากาศ”  

จากความตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรไทย สสส. ยังได้ขับเคลื่อนทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยล่าสุด สสส.ยังได้จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิชาการที่ตอบโจทย์บริบทของสังคม เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เป็นแนวทางการทำงานเชิงพื้นที่

การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2

ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศมีแนวทางการทำงานที่สำคัญ 4 ด้าน ดังนี้ 1.สร้างความรู้ ความเข้าใจในการปกป้องสุขภาวะ และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนชุมชน องค์กร และเครือข่าย เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม 3.พัฒนาระบบบริการและสนับสนุนเครื่องมือป้องกันสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม และ 4.พัฒนามาตรการ นโยบายสาธารณะ และกฎหมายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม”ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวในพิธีเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าว

รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ ศวอ. กล่าวว่า ศวอ. อยู่ระหว่างการพัฒนา “โปรแกรมการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ” ที่ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องมือการบริหารจัดการที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการสูญเสียด้านสุขภาพ ประเมินการสูญเสียด้านเศรษฐกิจ จัดลำดับความสำคัญแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ นำไปสู่มาตรการจัดการมลพิษอากาศเชิงพื้นที่ อาทิ การควบคุมมลพิษจากการจราจรขนส่ง ผลักดันมาตรการกำหนดพื้นที่มลพิษต่ำ โดยส่งเสริมการใช้รถมลพิษต่ำ รถไฟฟ้า รวมถึงการดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า การควบคุมมลพิษจากการเผาในที่โล่ง ผลักดันมาตรการลดการเผาป่าและเผาในที่โล่ง โดยส่งเสริมการใช้รถตัดอ้อย และวิธีไถกลบ เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ศวอ. และเฟซบุ๊กแฟนเพจ รู้ทันฝุ่น

การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2 การเดินทางของขบวนการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เฟส 2