ผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน จะอยู่ส่วนไหนของโลก?

ผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน จะอยู่ส่วนไหนของโลก?

ความจริงที่ว่า ประเทศไทยเรามีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเยอะมากเกินกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต นับเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ด้วยเหตุดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีสร้างสุข มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ : ก้าวต่อไปของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน ผู้สูงอายุไทยอยู่ส่วนไหนของโลก ผ่านโปรแกรมซูมโดยระดมความคิดหลากมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสังคมสูงวัยไทยที่กำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่นานนี้

ดร.ณปภัช สัจนวกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยกข้อมูลรายงานที่มูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนาผู้สูงอายุไทยและสถาบันวิจัยประชากรไทยและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำร่วมกัน โดยในส่วนของอาเซียน 10 ประเทศ มี 7 ประเทศเป็นสังคมสูงวัยแล้ว มีเพียง 3 ประเทศที่ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัย คือ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ สปป.ลาว ทั้งนี้ ประเทศไทยและสิงคโปร์ถือว่าเข้มข้นที่สุด ส่วนประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 ที่จะถึงนี้

ผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน จะอยู่ส่วนไหนของโลก?

“เรากลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งในอีก 10 ปี หรือปี 2574 เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดหรือสังคมสูงวัยระดับสุดยอดเหมือนญี่ปุ่น ซึ่งรุนแรงและรวดเร็วมาก จึงเป็นเรื่องท้าทายมากซึ่งในด้านความมั่นคงทางรายได้ของคนไทย สิ่งท้าทายวันนี้ คือ เรามีคน 3 กลุ่ม 1.ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 9.6 ล้านคน ใช้งบประมาณไปเกือบ 8 หมื่นล้านบาท 2.ผู้สูงอายุที่ได้รับบำเหน็จ 8 แสนกว่าคน ใช้งบประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม 5.9 แสนคน ใช้งบประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละกลุ่มได้รับความมั่นคงทางด้านรายได้แตกต่างเหลื่อมล้ำกัน”

ดร.ณปภัช กล่าวถึงข้อเสนอ 4 ข้อสำหรับรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า คือ 1.เรามีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน อีก 20 ปีข้างหน้ามันจะกลายเป็น 21 ล้านคน ถามว่าจะให้เขาอยู่ที่ไหนดี สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้คนสามารถอยู่ในบ้านของตัวเองได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้ามีโอกาสเสียชีวิตที่บ้านตายอย่างสงบก็ควรจะทำและส่งเสริมคุณค่าแบบนี้ขึ้น ขณะเดียวกันรัฐก็มีหน้าที่ในการเติมบริการเข้าไปให้ด้วย 2.การสูงวัยต้องทำอย่างมีพลัง มีสุขภาพดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีส่วนร่วม มีอิสระ เมื่อใดที่เราทำให้คนยังแอคทีฟหรือมีพลัง ภาระของรัฐและสังคมก็จะน้อยลงตามไป 3.ผู้สูงอายุมีการเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยีน้อยมาก ซึ่งเราก็ต้องพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ และ 4.การสูงวัยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์สังคมสูงอายุที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2565 ซึ่งจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ท้าทายในการกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางที่เหมาะสมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุและครอบครัวในการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ เพื่อให้มีสุขภาพดีช่วยเหลือดูแลตนเองได้อย่างยาวนานแล้ว ประเด็นการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะหลักประกันทางรายได้ของผู้สูงอายุยังเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุยังคงมีรายจ่ายในการดำเนินชีวิต ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐในรูปแบบการจัดสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า การส่งเสริมการมีอาชีพหรือการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการมีกิจกรรมทางสงคม และพัฒนาเรียนรู้ตนเองอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนากิจกรรม กระบวนการเรียนรู้สำหรับวัยสูงอายุที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ รวมถึงการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ Young Happy พัฒนาหลักสูตร เกษียณคลาส ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงเทคโนโลยีควบคู่กับการเรียนรู้ที่หลากหลายก่อนก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล ที่พัฒนาระบบโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการมีสุขภาวะ มีความสุข และเป็นพลังของสังคมอย่างต่อเนื่อง” ภรณี เอ่ย