“เนรมิตเกษตร"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ

“เนรมิตเกษตร"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ

นอกจากปลูกเมล่อนและสตรอว์เบอร์รีลูกโตๆใน“เนรมิตเกษตร”แดนเนรมิต(กรุงเทพฯ)ยังเตรียมปลูกดอกไม้เมืองหนาว ผู้สร้างโมเดลสวนเกษตรกลางกรุงคนนี้ ไม่ได้ทำเพื่อความร่ำรวย แต่มีเป้าหมายใหญ่กว่านั้น

ส่วนใหญ่รู้ดีว่า พื้นที่ใช้สอยในเมืองมีมูลค่าแพงแค่ไหน การใช้ประโยชน์ที่ดินจึงต้องคุ้มค่า ดังนั้นคนที่ใช้พื้นที่ในเมืองทำการเกษตรคงมีน้อย ทั้งๆ ที่ทำได้ แต่ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และนี่คือส่วนหนึ่งของโมเดลเกษตรแม่นยำ

 “ถ้าเกษตรกรบ้านเรายังทำเหมือนเดิม ก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลก”ประโยคแบบนี้ ได้ยินบ่อยๆ แล้วรู้ไหมจะไปต่ออย่างไร

ดร.พลรชฎ เปียถนอม อดีตผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคม ที่หันมาทำการเกษตร ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อ 21 ปีที่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีเกษตรกรทำ และ 7 ปีที่ผ่านมา อบรมการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทุกปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของบริษัทบีเอสซีเอ็มฟู๊ด จำกัด ทำโครงการแปรรูปข้าวเพื่อการส่งออก 

“เนรมิตเกษตร\"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ

“เนรมิตเกษตร\"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ  สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ญี่ปุ่น

ล่าสุดก่อตั้ง เนรมิตเกษตร ในแดนเนรมิต กรุงเทพฯ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง สตรอว์เบอร์รี เมล่อน มะเขือเทศ และกำลังจะปลูกดอกไม้เมืองหนาว อาจเป็นกุหลาบเนเธอร์แลนด์ หรือไฮเดรนเยีย บนพื้นที่รวมๆ  3 ไร่

เนรมิตเกษตรที่แดนเนรมิต

จุดเริ่มต้นมาจากเจ้าของแดนเนรมิต ซึ่งมีที่ดินกว่า 30 ไร่ ยินยอมให้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าไม่กี่ไร่ทำสวนเกษตรเพื่อสังคม ต่อมาใช้ชื่อว่า เนรมิตเกษตร ตั้งแต่กลางปี 2562 ดร.พลรชฎเริ่มปลูกมะม่วง โดยคำนึงถึง 3 อย่างคือ สิ่งแวดล้อม+สังคม+พื้นที่สีเขียว 

"ในกรุงเทพฯอากาศร้อน จะขุดหลุมปลูกมะม่วงแบบต่างจังหวัดคงไม่ได้ มีปัญหาเรื่องฝุ่นกับคาร์บอนไดออกไซด์ มะม่วงทนร้อนปลูกในเมืองได้ ต้องการคาร์บอนไดออกไซด์ในการเจริญเติบโต ตอนนี้ในสวนแดนเนรมิตเป็นโรงงานฟอกอากาศชั้นดี มะม่วง 1,500 ต้นฟอกอากาศได้วันละ 2 ตัน กว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลา 3-5 ปี" 

ปลูกมะม่วงแล้วยังมีที่เหลือด้านหลัง เมื่อเห็นว่า คนเมืองไม่รู้วิธีทำการเกษตรให้มีรายได้สูง เขาจึงทำโมเดล สำหรับคนจบปริญญาตรีว่างงาน อยากฝึกเป็นผู้ประกอบการเกษตร

 "ในอดีตเราทำเกษตรแนวราบ แต่ผมทำเกษตรแนวตั้ง โมเดลในพื้นที่ 3 ไร่ พัฒนาสร้างรายได้ให้เท่ากับเกษตรแนวราบ 300 ไร่ได้ยังไง

ยกตัวอย่างปลูกข้าว 300 ไร่ คิดคำนวณแล้วจะได้เงินรวมๆ  2 ล้านกว่าบาท เราก็ใช้แนวคิดนี้ แต่ใช้พื้นที่น้อย ทำรายได้สูงเหมือนกัน สอนให้ผู้ประกอบการเกษตรเป็นเกษตรแม่นยำในเมือง ปลูกสตรอว์เบอร์รี เมล่อน มะเขือเทศ ก็ทำได้หมด  

“เนรมิตเกษตร\"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ

ถ้าเป็นโรงเรือนเมล่อนผมลงทุนไป 1 ล้านบาท โรงเรือนมะเขือเทศ  2 ล้านบาท และโรงเรือนสตรอว์เบอร์รี 7 ล้านบาท สตรอว์เบอร์รีปลูกในกรุงเทพฯจะต้องใช้ระบบควบคุมเยอะ การลงทุนจึงสูง"

โมเดลเก้าอี้สามขาที่เขาทำขึ้นมา ก็คือ  1. ต้องหาเจ้าของพื้นที่ว่างเปล่า 3 ไร่ขึ้นไป ยินยอมจะให้ใช้พื้นที่ 2.บริษัทหรือใครก็ได้อยากสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนทางการเกษตร และ 3. เกษตรกรรุ่นใหม่มาทำงาน ปลูกเองขายเอง

พฤศจิกายนนี้ เตรียมปลูกสตรอว์เบอร์รี

อาศัยประสบการณ์การทำสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองส่งออกญี่ปุ่น และทักษะคิดเป็นระบบ รวมถึงความใฝ่รู้และชอบค้นคว้า วางแผนก่อนลงมือทำ

การทำสวนเกษตรกลางกรุงสำหรับดร.พลรชฎ จึงไม่ใช่ทำเล่นๆ แต่ทำแล้วต้องเห็นผล

เขา บอกว่า ในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ มีพื้นที่ที่ไม่ได้พัฒนาเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเป็นล้านๆ ไร่ ทำไมเราไม่จับคู่ระหว่างเจ้าของที่ดินและคนรุ่นใหม่ตกงานหรือนักศึกษาปริญญาตรีมาฝึก พัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าเป็นสวนเกษตรกลางเมือง เป็นโรงงานฟอกอากาศ มีพืชผักผลไม้ คนที่จบปริญญาตรีไม่รู้จะทำอะไรมาฝึกเป็นผู้ประกอบการการเกษตร”

โรงเรือนเนรมิตเกษตร จะเริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ญี่ปุ่น ต้นเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะได้ผลผลิตเดือนเมษายน 65 และปีใหม่ปีนี้จะมีผลผลิตเมล่อนหนึ่งพันลูก สายพันธุ์ญี่ปุ่น F1 (F One-Hybrid) คนสนใจเข้ามาซื้อ ชมและตัดจากต้นได้เลย 

“เนรมิตเกษตร\"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ ดร.พลรชฎ คนต้นคิดเนรมิตเกษตร ปลูกสตรอว์เบอร์รี เมล่อน กลางกรุงเทพฯ 

 "ลงทุนไปแล้วก็ต้องได้เงินคืน แต่เป้าหมายที่เหนือกว่านั้น คือ การสร้างทุนมนุษย์ ถ้าวันนี้เราไม่สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ แล้วเราจะเป็นครัวโลก มีแต่เกษตรกรที่อายุเกิน 60 ปรับตัวยาก หนี้สินรุงรัง ถ้าทำเหมือนเดิม สุดท้ายเราจะเป็นประเทศที่ไม่เก่งเรื่องเกษตร

อย่างเมล่อนผมลงทุนหนึ่งล้านบาท สามปีคืนทุน ซึ่งการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นเกษตรกร ก็ต้องหาแหล่งเงินลงทุนสนับสนุน 

คนญี่ปุ่นเคยบอกว่า ประเทศไทยแดดดี ทำไมไม่ปลูกเมล่อนไปขายคนญี่ปุ่นหน้าหนาว เพราะพวกเขาปลูกเมล่อนฤดูหนาวไม่ได้

อย่างเนเธอร์แลนด์พื้นที่น้อยกว่าไทย 11 เท่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : gross domestic product) ทางเกษตรมากกว่าไทย 6 เท่า มีผลผลิตสูงกว่าไทย 30 เท่า ปลูกดอกไม้ขายทั่วโลก และขายในเมืองไทยด้วย"

“เนรมิตเกษตร\"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ

(โรงเรือนที่เนรมิตเกษตร ในแดนเนรมิต)

เกษตรกรรุ่นใหม่ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่

 "ทำไมประเทศไทยไม่ฝึกคนรุ่นใหม่ทำการเกษตรที่แตกต่างจากเดิม อาทิ ปลูกดอกกุหลาบไปขายนิวยอร์ค ถ้าจะขายกุหลาบราคาร้อยเหรียญ ต้องทำอย่างไร "ดร.พลรชฎ กล่าวเพื่อให้เห็นว่า จำเป็นต้องสร้างผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ ใช้เกษตรแม่นยำ และหาเทคโนโลยีมาเสริม ซึ่งการผลิตผู้ประกอบการเกษตรสองปีจะใช้งบประมาณห้าแสนบาทต่อคน 

"ผมเองก็ยังไม่มีผู้สนับสนุน ผมมองว่า การสร้างคนเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ แม้จะร่ำรวยขนาดไหน ตายแล้วเราเอาอะไรไปไม่ได้เลย  ผมก็อยากฝากอะไรไว้บนแผ่นดินบ้าง การสร้างผู้ประกอบการเกษตรยังไม่มีใครทำแบบครบวงจร ส่วนใหญ่ทำแค่อบรม ผมคิดว่าต้องให้เขาเข้าใจตั้งแต่จิตวิญญาณและการลงมือทำ

เราอยากให้เกษตรกรพวกนี้ออกไปผลิตผลไม้ส่งออก กลับไปทำที่ในเมืองจังหวัดบ้านเกิด ไม่ทำการเกษตรแบบปู่ย่าตายาย ผมเคยถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรที่อยากปลูกมะม่วงส่งออกมา 7 ปีแล้ว ผมเห็นปัญหาของเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ นั่นก็คือ 1. ไม่มีตลาด 2. ไม่มีความเข้าใจเรื่องการเก็บเกี่ยว 3. การคัดผลผลิตและส่งมอบ ผมสอนเกษตรกรที่สนใจเป็นเวลา 8 วัน ต้องลงมือทำด้วย "

“เนรมิตเกษตร\"แดนเนรมิต สวนเกษตรกลางกรุงเทพฯ

และอีกไม่นาน เนรมิตเกษตรจะปลูกดอกไม้เมืองหนาวในเมืองร้อน ทำโรงเรือนต้นแบบ โดยดร.พลรชฎ ไม่ได้ตั้งใจปลูกเพื่อขาย แต่ต้องการสร้างโมเดลเพื่อให้คนไปทำต่อ 

"ผมจบด้านวิศวะและเคยทำงานสายเทคโนโลยี การทำเรื่องเทคโนโลยีต้องเป็นนักประดิษฐ์ด้วย ผมให้คนรุ่นใหม่ทำเรื่องพวกนี้ด้วย"

สงกรานต์ปีหน้า สตรอว์เบอร์รีออกผล

เกษตรแม่นยำต้องปลูกให้ได้ผลผลิตในช่วงเทศกาลตามที่ตลาดต้องการ ผลผลิตต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคได้

แล้วจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ ดร.พลรชฎยกตัวอย่าง เมล่อน ผลไม้ที่คนญี่ปุ่นมอบเป็นของขวัญแทนความรักความห่วงใย

"คนญี่ปุ่นเคยประมูลเมล่อนคู่ละ 2.7 ล้านเยน คิดเป็นเงินไทย 7 แสนบาท เพราะเมล่อนคู่นั้นมีลักษณะเด่นจริงๆ เราต้องพัฒนาเมล่อนให้เป็นของฝาก ที่อร่อย หวาน ฉ่ำ ไม่ใช่แค่แตงไทย หรือแคนตาลูป ที่ผมพัฒนาได้ขนาดนี้เพราะผมมีเป้าหมายก่อนลงมือทำ ผมเคยค้าขายกับคนหลายชาติในโลก "

ช่วงวันที่ 23 ธันวาคม 2564-18กุมภาพันธ์ 2565 เนรมิตเกษตร แดนเนรมิต ลาดพร้าว จะเปิดให้ชมสวนเกษตร ซื้อเมล่อนญี่ปุ่นตัดจากต้น รวมถึงจองสตรอว์เบอร์รี ที่จะออกผลผลิตเดือนเมษายน 65  และชมโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมง

ดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ค เนรมิตเกษตร

.............

(3 คำถาม กับ ดร.พลรชฎ)

1.ช่วงวัยนี้แทนที่จะใช้ชีวิตสบายๆ ทำไมเอาเงินมาลงทุนทำเนรมิตเกษตร เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ทางการเกษตร

ตอนนี้ผมอายุ 70 แล้ว ผมวางแผนตั้งแต่อายุ 45 ปี พออายุ 55 ปีตั้งใจเกษียณออกมาทำการเกษตรส่งออก ไม่ได้ทำการเกษตรเพื่อขายคนในประเทศ

มีแรงบันดาลใจจากที่ได้เห็นมะม่วงในตลาดที่ญี่ปุ่น ขายแพงมาก ก็มาคิดว่า ถ้าเราจะปลูกให้ได้มาตรฐานญี่ปุ่นต้องทำอย่างไร

เอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง แล้วกลับมาพัฒนาแปลงมะม่วง ระบบการปลูก ผลิต ควบคุม เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ เป็นแนวทางที่ผมทำและเอามาใช้ที่นี่ พัฒนามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมา 21 ปี ตอนนี้ปลูกไว้กว่าร้อยไร่ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

เราทำตามความต้องการตลาด เพื่อให้ได้มะม่วงตามขนาดและสี ผมศึกษาจากผู้รู้หลายๆ คน แล้วเอามาบูรณาการ ไม่มีผู้รู้ที่ไหนจะบอกเราได้ชัดเจนว่า วิธีที่ใช้อยู่ ปลูกที่ไหนได้ผลทุกที่ 

2.อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คิดทำสวนเกษตรในเมือง

คนญี่ปุ่นที่ซื้อมะม่วงสีทอง บอกว่า ไทยเป็นประเทศเกษตร มีแสงแดดตลอดทั้งปี ปลูกอะไรก็ได้ หลายประเทศปลูกพืชได้แค่ 4-6 เดือน

ผมบอกทุกคนที่อยากทำการเกษตรว่า ให้ไปดูก่อนว่า ผู้บริโภคชอบกินอะไร คนทั้งโลกกินไม่เหมือนกัน ข้อเสียของเราคือ ทำการเกษตรตามปู่ย่าตายายที่สอนว่าต้องปลูกข้าว ทำสวนยาง ผมมองว่า เป็นการทำเกษตรตามที่มี

แต่ไม่ได้เอาการตลาดมาทำเกษตร ในบ้านเราการเกษตรเป็นหัวใจทางธุรกิจที่สำคัญ ไม่ว่าเราจะไฮเทคล้ำยุคขนาดไหน เราก็ต้องกิน

ผมไม่ได้จบเกษตร ผมก็ทำสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ ตอนที่ผมทำงาน เวลาไปดูงานในต่างประเทศ เสาร์อาทิตย์ผมก็ไปเดินดูตลาด ผมมีเป้าหมายว่า ผมจะส่งผลผลิตทางการเกษตรไปขายที่ญี่ปุ่นให้ได้

3.ทำการเกษตรกี่ปี ถึงจะคุ้มทุนและมีกำไร

สวนมะม่วงที่เพชรบูรณ์ของผม ทำแบบจัดการแปลง ใช้แรงงานคน จ้างชาวบ้านสองหมู่บ้านมาทำ ผมไม่รู้ว่าทำกี่ปีคืนทุน แต่ผมขยายไปเรื่อยๆ จาก 30-40 ไร่กลายเป็นหลายร้อยไร่ ไม่รู้คืนทุนไหม