ยกเลิกขนบเก่า"อัญเชิญพระเกี้ยว" ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เข้าใจ?

ยกเลิกขนบเก่า"อัญเชิญพระเกี้ยว" ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เข้าใจ?

การ“อัญเชิญพระเกี้ยว”ในยุค 64 ถูกตั้งคำถาม และมีมติจากคนรุ่นใหม่ให้ยกเลิก เรื่องนี้ ศิษย์เก่าจุฬาฯหลายรุ่น มีคำถามและคำอธิบายในมุมที่แตกต่าง

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปและคำอธิบายที่แตกต่าง ล่าสุดเรื่องที่เกิดขึ้นในรั้วสีชมพู กรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ มีมติเห็นควรให้ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญ พระเกี้ยว ในงาน ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

จึงเกิดวิวาทะของคนสองรุ่นกับความเห็นที่ต่างกัน

ยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยว ?

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ออกแถลงการณ์ คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญ พระเกี้ยว ในงาน ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนความไม่เท่าเทียม

โดยระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวจำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก มี “ผู้อัญเชิญ พระเกี้ยว” สัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม ค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

ยกเลิกขนบเก่า\"อัญเชิญพระเกี้ยว\" ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เข้าใจ? งานฟุตบอลประเพณี

ส่วนรูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ถูกมองว่าเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง

ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญฯ ยังกังขาว่า เป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชน ผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม ยังพบว่า มีการใช้อำนาจบังคับคนต้องมาแบกเสลี่ยง อ้างว่า มีผลต่อคะแนนคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก

คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า เป็นกิจกรรมล้าหลังขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้ยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญ พระเกี้ยว ในงาน ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป

แถลงการณ์นี้ได้เกิดปรากฎการณ์ถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังไม่มีผู้เข้าใจและเห็นความสำคัญของ พระเกี้ยว

ยกเลิกขนบเก่า\"อัญเชิญพระเกี้ยว\" ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เข้าใจ? พระเกี้ยว

พระเกี้ยว คืออะไร

พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเกี้ยว เป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระเกี้ยว เครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก เป็นเครื่องหมายของโรงเรียน ต่อมาโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระเกี้ยว เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว เป็นคำนามแปลว่าเครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน “จุฬาลงกรณ์” แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ

ประวัติพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว

ในการจัดงาน ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในแต่ละปีจะมีขบวนอัญเชิญ พระเกี้ยว และตราธรรมจักร สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยของทั้งสองสถาบัน จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงว่าการเปิดงานได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

การอัญเชิญตราสัญลักษณ์ เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 กล่าวว่า มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

ยกเลิกขนบเก่า\"อัญเชิญพระเกี้ยว\" ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เข้าใจ? ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในอดีต

“พระเกี้ยว” สัญลักษณ์ความเสมอภาค

24 ตุลาคม 2564 วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊คว่า

“จอร์จ ออร์เวลล์ (ผู้เขียน 1984, Animal Farm) เขียนว่า “The most effective way to destroy people is to deny and obliterate their own understanding of their history”แปลว่า ทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำลายประชาชน คือปฏิเสธและกวาดทิ้งความเข้าใจของพวกเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนต่อกรุงเทพฯในชั้น ม.ศ. 4 ที่โรงเรียนบดินทรเดชา...ปักอักษรย่อ กลัดตราสีทองเรียกว่า พระเกี้ยว... ผมมีโอกาสเข้าเรียนในสถาบันที่ใช้ตรา พระเกี้ยว อีกครั้ง คือจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย...เน็กไทเด็กปี 1 ปักตรา พระเกี้ยว ชุดนิสิตหญิงก็มีตรานี้ที่กลัดบนเสื้อและหัวเข็มขัด พระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎเป็นสัญลักษณ์...

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกซึ่งล้วนใช้ตราที่มีความหมาย ในเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มโครงการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ พระนามของพระองค์ก็เป็นที่มาของนามมหาวิทยาลัย และใช้สัญลักษณ์ พระเกี้ยวประจำมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีรากฐานเดียวกันนี้ ล้วนใช้ตรา พระเกี้ยว พระเกี้ยวก็คือที่ระลึกชิ้นเล็กๆ ที่เชื่อมนักเรียนและนิสิตกับพระองค์ มันเป็นรากของเรา

พระเกี้ยวไม่ใช่และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ตรงกันข้าม มันเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าคนฐานะใดก็ได้เล่าเรียนเท่ากัน เป็นสัญลักษณ์ของความรู้ เป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญู ปราศจากเจ้าของตรา พระเกี้ยว ก็ไม่มีเรา ไม่มีเราก็ไม่มีอนาคตของเรา

ใครก็ตามที่ชอบอ้างถึงอนาคตที่ดีกว่า โดยละทิ้งอดีต พึงสำนึกเสมอว่าอนาคตที่ไร้รากแห่งอดีตก็เหมือนคนที่ไร้เงา “ปฏิเสธและกวาดทิ้งความเข้าใจของพวกเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง” คุณค่าของมนุษย์เราอยู่ที่ความกตัญญูกตเวทิตา มีคุณให้ทดแทน และหากไม่ทดแทน อย่างน้อยก็ไม่เนรคุณ

วินทร์ เลียววาริณ รากปี 2516 / 24 ตุลาคม 2564

...............

ยกเลิกขนบเก่า\"อัญเชิญพระเกี้ยว\" ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เข้าใจ? ขบวนของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

25 ตุลาคม 2564 ทางด้าน ศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา ก็ได้ยก 6 ประการ เกี่ยวข้องกับพระเกี้ยว ผ่านเฟซบุ๊ค “หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม” ว่า

"พระเกี้ยว จึงไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจเก่า การกดขี่ และความไม่เท่าเทียม แต่ พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทย

ผมสดับตรับฟังเรื่อง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ยกเลิกขบวนอัญเชิญ พระเกี้ยว อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยใน งานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ ปี 2564 นี้ โดยอ้างว่ามันเป็นการสำแดงรูปแบบของอำนาจเก่า ต้องเกณฑ์คนมาแบกหาม แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ผมจึงใคร่ขอให้เราท่านพิจารณาเรื่องนี้ให้สุขุมรอบคอบ

ประการที่ 1 พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้เป็นตราของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้พวกเราชาวจุฬาฯ อันเป็นประชาชนคนธรรมดาได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอหน้ากันสนองพระราชปณิธานของพระราชบิดา ซึ่งแต่เดิมจำกัดเฉพาะลูกขุนนาง

ประการที่ 2 รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกระบบไพร่ ตามใจนายจนตาย จะย้ายนายไม่ได้ เมื่อนายตายก็ตกเป็นไพร่หลวง ไม่มีสิทธิเสรีภาพใดๆ การยกเลิกระบบไพร่ให้เป็นไทแก่ตัว เท่ากับทรงขัดผลประโยชน์เจ้านายขุนนางทั้งแผ่นดิน แต่เพื่อความเสมอภาคของราษฎร พระองค์ก็ทรงเสี่ยงกับเสถียรภาพของราชบัลลังก์

ประการที่ 3 รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส ความป่าเถื่อน กดขี่ข่มเหงเสมือนมนุษย์เป็นสัตว์เดียรฉาน ต้องขายตัวขายลูกเมียมาเป็นทาส ลูกทาสก็เป็นสมบัติของนาย ทรงเลิกระบบทาสที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานานหลายศตวรรษ โดยไม่มีสงครามกลางเมือทาสและไพร่จึงได้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เท่าเทียมกันทั้งแผ่นดิน

ประการที่ 4 ทรงยกเลิกระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากระบบจตุสดมถ์ (เวียง วัง คลัง นา) สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สถาปนาระบบราชการเป็นกระทรวง ทบวง กรม กระจายพระราชอำนาจ ให้ไพร่ทาสราษฏรได้รับราชการ มีรายได้ มีเกียรติยศ ออก พ.ร.บ. เกณฑ์ทหาร 2 ปีแล้วปลดออกไปทำงานมีรายได้ของตน สามารถสะสมทรัพย์ให้ร่ำรวยมั่นคงในอนาคตได้เสมอหน้ากัน

ประการที่ 5 รัชกาลที่ 5 ทรงเอาชีวิตเกียรติยศและพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์เป็นเดิมพัน ยอมสละดินแดน ครึ่งหนึ่งของประเทศ เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเอาไว้ มิให้อังกฤษและฝรั่งเศสฉีกประเทศไทยออกเป็นสองเสี่ยงตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา เสด็จรอนแรมไปเจรจาหามิตรภาพกับนานาประเทศถึงรัสเซีย นอร์เวย์ ถึงแปดเดือน มาช่วยค้ำจุนบ้านเมืองเพื่อศักดิ์ศรีแห่งเสรีภาพและเอกราชของคนไทย

ประการที่ 6 ทรงให้เลิกหมอบคลาน เสด็จประพาสต้นแบบสามัญชนไปเยี่ยมเยียนราษฎร นี่คือจิตวิญญาณของมนุษย์ผู้มีความเท่าเทียมอยู่ในพระกมลสันดาน

ดังนั้น “พระเกี้ยว” จึงไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจเก่า การกดขี่ และความไม่เท่าเทียม แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทย

การอัญเชิญ พระเกี้ยว ไม่ใช่เพียงการประกาศเกียรติภูมิจุฬาฯ แต่เป็นการประกาศว่า เราคนไทยจักธำรงความเป็นคนที่มีกตัญญูกตเวที พร้อมใจกันยึดถือพระราชมรดก ความเท่าเทียมกันของมนุษย์นี้เป็นอุดมคติร่วมแรงร่วมใจกันทำนุบำรุงนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคต จากเด็กกำพร้ายากจนคนเกิดกลางสงรามโลกครั้งที่สองได้ดีมีอนาคตมาถึงจุดนี้ ก็เพราะโอกาสแห่งความเท่าเทียมที่ทรงพระราชทานไว้

..................

ยกเลิกขนบเก่า\"อัญเชิญพระเกี้ยว\" ความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เข้าใจ? ขบวนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มุมมองของคนรุ่นใหม่

Jay Pattajit Tangsinmunkong ได้โพสต์ถึงกรณีนี้ในเฟซบุ๊คว่า

“...พูดตรง ๆ ว่า ตอนที่ไปสมัครคัดเลือกผู้อัญเชิญฯ หรือแม้แต่ตอนที่นั่งบนเสลี่ยงที่มีคนจำนวนมากแบกหาม เรายังคงเป็น ignorant ที่คิดเพียงว่า นี่เป็นกิจกรรมนึงของมหาวิทยาลัย และดีใจเหลือเกินตอนที่ผ่านด่านสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์กลุ่ม กิจกรรมกลุ่ม สัมภาษณ์เดี่ยว มาได้อย่างยากเย็นจนสุดท้ายได้รับเลือก...

เราไม่ทันคิดด้วยซ้ำ ว่า นี่คือเครื่องสะท้อนและเป็นการผลิตซ้ำระบอบอำนาจนิยม

ในฐานะนิสิตเก่าคนนึง เราดีใจนะ ที่เห็นจุฬา ฯ ก้าวหน้าไปขนาดนี้ เห็นนิสิตรุ่นนี้ อบจ. รุ่นนี้ที่มีความคิดและ awareness ต่อสังคมไปไกลกว่าตอนที่เราอายุเท่าพวกคุณมาก...เรานับถือในความกล้าตั้งคำถามและกล้าเปลี่ยนแปลง...ทั้ง ๆ ที่รู้ทั้งรู้ว่าจะต้องเผชิญแรงต้านจากศิษย์เก่ามากมาย...

เราหวังเหลือเกินว่า สิ่งนี้จะแปลว่า ตัวมหาลัยและสังคมไทยเองได้เดินมาไกลมากจากจุดที่มันเคยอยู่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทุกค่านิยมย่อมมีวันหมดสมัย

และเมื่อมันหมดสมัยแล้ว ก็ควรถูกปฏิรูป หรือแทนที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ...ก่อนที่ค่านิยมที่ล้าหลังนั้น จะกลายเป็นตรวนโซ่ยึดตัวเองกับอดีต หรือกลายเป็นกรงขังตัวเองไปในที่สุด

เราเชื่อนะว่างานบอล version ใหม่ที่ “ให้คนเท่ากัน”จะมีสีสันและมีอะไรให้รอคอยยิ่งกว่าเดิม

รอติดตามค่ะ

เจ...อดีตผู้อัญเชิญ พระเกี้ยว งานบอล 64

..............

เหล่านี้คือ ปรากฎการณ์การปะทะกันทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคม  และได้มีการตัดสินสิ่งที่ตกทอดมาจากอดีตอย่างง่ายๆ โดยไม่ได้ศึกษาที่มาที่ไปอย่างถ่องแท้