ธรรมะ"วันออกพรรษา" : สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

ธรรมะ"วันออกพรรษา" : สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

"วันออกพรรษา" นอกจากทำบุญตักบาตร ยังมีแก่นธรรม สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองและกระบวนการวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือ ความจริงของธรรมชาติ

คำพูดที่ว่า “กาลเวลาพิสูจน์คน” คงใช้ได้สำหรับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมื่อ 2,600 ปี กฎของธรรมชาติ ความจริงที่ไม่อาจปฎิเสธได้ 

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกซึ้ง แก่นพุทธธรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง สอนให้คนพ้นทุกข์โดยเข้าใจกฎธรรมชาติ  หลักการเหล่านี้ต้องปฎิบัติด้วยตัวเอง จึงจะเห็นผล แม้กระทั่งกระบวนการวิทยาศาสตร์ก็ใช้หลักพุทธศาสนาในการสังเกต ทดลอง เพื่อให้ประจักษ์แจ้งต่อสมมติฐานที่ตั้งไว้

เนื้อแท้พุทธศาสนา

หากมองตามหลักเหตุและผล พุทธศาสนาในเมืองไทยไม่ได้เสื่อม สิ่งที่เสื่อมคือ ความไม่เข้าใจเนื้อแท้ของพุทธศาสนา นำไปตีความ สั่งสอนตามความเชื่อของตนเอง โดยไม่ถูกตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน

ธรรมะ\"วันออกพรรษา\" : สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ท่านอธิบายวิธีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมชาติ 2,600 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่าคนที่ปฏิบัติตามได้ผลตลอด ดังนั้นจึงเป็นข้อพิสูจน์ หลักธรรมที่นำมาใช้ ทำเมื่อไหร่...จริงเมื่อนั้น หลักการนี้ไม่มีวันเปลี่ยน

แต่ค่านิยมและความเชื่อของคนแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนตลอด เมื่อมีการปรับวัฒนธรรม ก็เอาความเชื่อดั้งเดิมเข้ามาตีความ” พระอาจารย์ครรชิต คุณวโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน อดีตวิศวกร  เคยเล่าให้ผู้เขียนฟัง

อ่านข่าว : "วันออกพรรษา" 2564 เปิดประวัติ พร้อมเช็ควันหยุดประจำภาคกลาง

ท่านเคยทำหน้าที่สอนธรรมะแก่พระนวกะ เคยเป็นพระวิทยากรบรรยาย และที่ปรึกษาโครงการต่างๆ ที่นำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้กับคนในสังคม

โดยก่อนหน้านี้ พระอาจารย์ครรชิต ตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนเราเกิดมา เรียนหนังสือ มีครอบครัวแล้วตายไป แค่นี้เองหรือ

"จริงๆ แล้วชีวิตมีอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า แล้วทำไมชีวิตถึงมีความสุขชั่วครั้งชั่วคราวแล้วหายไป จากนั้นเราก็วิ่งหาต่อ พอได้มาก็ไม่ยั่งยืน"

ทุกข์เพราะยึดติด

ช่วงหนึ่งของชีวิตอยากรู้ว่า กระบวนการความทุกข์ที่เกิดจากภาวะจิตใจเป็นอย่างไร แล้วความสุขที่ยั่งยืนมีไหม จึงพยายามศึกษา

"ลองศึกษามากขึ้นและสังเกตใจตัวเอง อ่านสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จนได้คำตอบที่เราสงสัย ถ้าเราสังเกตอย่างละเอียด เมื่อรับรู้ผ่านหู ตา จมูก ลิ้น และกาย ทำไมใจปรุงแต่งต่อ เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ก็ทุกข์ทันที เพราะเรายึดติด คาดหวัง อยากได้สิ่งที่เราชอบใจ ให้คงอยู่ พอไม่คงอยู่ ก็ทุกข์

ทุกข์เพราะการปรุงแต่ง ยึดติดและคาดหวัง เป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในชีวิต เรื่องนี้หากเข้าใจกฎธรรมชาติที่พระพุทธองค์ค้นพบ ก็จะปล่อยวางความทุกข์ได้ตามระดับของการปฎิบัติ เพราะเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ท่าทีที่มีต่อสิ่งนั้น"

ธรรมะ\"วันออกพรรษา\" : สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

“สิ่งต่างๆ แปรเปลี่ยนตามธรรมชาติ อาการที่เราวิ่งเข้าไปจับและเพลิดเพลิน ยึดติด พระพุทธเจ้าเรียกว่า ตัณหา อยากจะให้ได้อย่างนั้น เมื่อใดก็ตามที่ฝืนกฎธรรมชาติ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องเปลี่ยนมุมมอง มองโลกตามความเป็นจริง” พระอาจารย์ครรชิต บอกไว้เช่นนั้น

"ถ้าคนเราจิตใจเป็นอิสระจากกิเลส ความสุขที่แท้จริงก็เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจก็จะสามารถใช้ปัญญาจัดสรรสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นและเกิดความเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์

การสอนธรรมะให้ญาติโยม ก่อนอื่นต้องทำให้พวกเขาคลายจากความเศร้า สังเกตสภาวะในจิตใจตัวเอง แล้วเขาจะเห็นคำตอบ ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ อาตมาจะใช้คำอุปมามากกว่าศัพท์บาลียากๆ แล้วให้เขาทดลองด้วยตัวเอง โดยให้ร่างกายและจิตใจเป็นห้องทดลอง

ตถาคตผู้ชี้ทาง

เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ผู้ปฎิบัติต้องมือทำ สังเกต ทดลอง แล้วผลจะปรากฏ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าสอน จะค่อยๆ ชี้ให้เห็นแต่ละขั้นของความจริง เพราะเห็นความจริงแล้ว"

เมื่อพบหลักธรรมแล้วพาผู้คนไปรู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ นั่นคือสิ่งที่พุทธองค์สอนไว้

ธรรมะ\"วันออกพรรษา\" : สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

ถ้าอย่างนั้นจำต้องทำความเข้าใจกับคำว่าศรัทธาด้วย พระอาจารย์ครรชิต บอกไว้ว่า ศรัทธาในตัวบุคคลใช้ได้แค่เบื้องต้น เพื่อให้คนฟังลงมือทดลองทำ จากนั้นต้องพาเขาไปพบความจริง เพื่อให้เกิดปัญญา

"ความจริงในระดับจริยธรรม ยังไม่ทำให้คนพ้นทุกข์ เพราะชีวิตยังยึดติดกับสิ่งภายนอก ซึ่งมีความไม่แน่นอนตลอดเวลา ไม่สามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง เพราะยังมีความสุขที่มากกว่าความสุขที่เกิดจากการตอบสนองทางหู ตา จมูก ฯลฯ หรือความสุขที่ได้อยู่ในธรรมชาติและสังคม"

ผู้เขียนยังจำได้ว่า ไม่ว่าจะคุยเรื่องใดก็ตาม ท่านจะโยงไปเรื่องการสังเกตตัวเองและกฎธรรมชาติ โดยผ่านการปฎิบัติตามแนวพุทธ ซึ่งไม่ใช่การตีความหรือการนึกคิดด้วยตัวเอง

“มีการกระทำย่อมมีผลของการกระทำ อาตมาจะไม่อธิบายแบบชาตินี้ ชาติหน้า ในแง่กฎแห่งกรรม คำว่า กรรม หมายถึงเจตนาหรือการปรุงแต่งจิตที่คนตั้งขึ้น การเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าทำกรรมไม่ดี สภาพจิตก็ไม่ดี

ลองนึกถึงเวลาโกรธใคร จิตเศร้าหมองไหม ทุกข์ทันที ทำเมื่อไหร่เกิดผลเมื่อนั้น นี่แหละกฎแห่งกรรม เห็นผลในปัจจุบัน ไม่ต้องรอชาติหน้า”

ทดลองหาความจริง

สังเกต ทดลอง และประมวลผลสิ่งที่เกิดขึ้น คือ สิ่งที่พระพุทธองค์ใช้เป็นเครื่องมือค้นหาความจริงในธรรมชาติ ซึ่งต่างจากหลักวิทยาศาสตร์ที่ต้องตั้งสมมติฐาน ทดลองหาความจริง

"วิทยาศาสตร์ไม่มีคำว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เมื่อทดสอบมากขึ้น แต่พระพุทธเจ้าลงมือทดลองและสังเกตธรรมชาติ บำเพ็ญทุกวิธีที่มนุษย์ยุคนั้นคิดว่าดีที่สุด แล้วทำให้พ้นทุกข์

ซึ่งการทดลองของพระพุทธเจ้าต่างจากนักวิทยาศาสตร์ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สังเกตแค่ตา หู จมูก ลิ้นและกาย แต่สังเกตลึกไปถึงกระบวนการในจิตใจของมนุษย์

ไม่ว่ามนุษย์ยุคไหนก็เป็นอย่างนี้ ดังนั้นพุทธศาสนาจึงอธิบายได้ทั้งแนวทางวิทยาศาสตร์และนามธรรม ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นชัดในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน"

อย่างไรก็ตาม ในโลกใบนี้มีสิ่งยั่วยวน ทำให้หลงใหล ยึดติด ไม่ว่าจะลัทธิ ความคิด ความเชื่อ และคำอธิบายที่ใช้หลักเหตุผลหักล้างโต้ตอบมากกว่าการทดลองปฎิบัติ ทำให้มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงกฎธรรมชาติตามแนวพุทธได้

"เพราะก้าวไม่พ้นความคิด ติดอยู่ในคำพูดและความหมายในเชิงบัญญัติ คนรุ่นใหม่มักจะโต้ตอบหรือใช้คำพูดสื่อสารถึงความจริงมากกว่าการเข้าไปสังเกตความจริง นั่งเถียงกันแทบเป็นแทบตาย เพื่อให้เห็นว่าเหตุผลของใครดีกว่า ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าจึงปฎิเสธการหาความจริงโดยการโต้เถียง หากคนยังติดอยู่กับบัญญัติหรือทิฐิของตัวเอง จะเป็นได้แค่แพ้ชนะด้วยวาทะ แต่ไม่เห็นความจริง"

นี่คือสิ่งที่พระอาจารย์ครรชิต เคยตั้งคำถามให้คิดต่อ ่และท่านเคยอธิบายไว้ว่า เพราะคนไม่ชอบเข้าหาความจริงของธรรมชาติ

“แทนที่ผู้สอนธรรมจะช่วยให้คนเข้าหาความจริง บางคนเอาความเชื่อตัวเองมาเผยแพร่ นี่ไม่ใช้หลักพุทธ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเป็นเมืองพุทธโดยบัญญัติ ไม่เป็นพุทธที่เข้าถึงแก่น หลักการพุทธ ลองใช้ตัวเองเป็นห้องทดลอง พระพุทธเจ้าสอนมาตั้งนานแล้ว ให้สังเกตภาวะของธรรมชาติ เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา”

และไม่ใช่ปัญญาจากการอ่านและท่องจำ แต่เป็นปัญญาในแง่การสังเกต ทดลอง จนเห็นความจริงของธรรมชาติ