"วันออกพรรษา" 2564 เปิดประวัติ พร้อมเช็ควันหยุดประจำภาคกลาง

"วันออกพรรษา" 2564 เปิดประวัติ พร้อมเช็ควันหยุดประจำภาคกลาง

เปิดที่มาและความสำคัญ "วันออกพรรษา" 2564 ที่ปีนี้ ครม. กำหนดให้เป็น "วันหยุดประจำภาคกลาง" เป็นปีแรก พร้อมส่องประเพณีสำคัญของชาวพุทธอย่างการ "ตักบาตรเทโวโรหณะ"

"วันออกพรรษา" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน  11 ตามปฏิทินทางจันทรคติ และปีนี้ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ตามปฏิทินสากล (หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน) โดยกิจกรรมสำคัญในวันออกพรรษาที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติกันสืบต่อมาทุกปี ได้แก่ การทำบุญที่เรียกว่า "ตักบาตรเทโวโรหณะ" รวมถึงการเข้าวัด ฟังธรรม ไหว้พระ และร่วมงานประเพณีต่างๆ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความรู้จักประวัติ ที่มา และความสำคัญของ "วันออกพรรษา" กันอีกครั้ง ดังนี้

1. วันออกพรรษา 2564 เป็นวันหยุดประจำภาค

ก่อนหน้านี้ ครม. ได้เคาะให้มีวันหยุดประจำภาคขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2564 ซึ่งภายในเดือนตุลาคมนี้ ก็มีการกำหนดให้ "วันออกพรรษา" เป็นวันหยุดประจำภาคกลาง นั่นคือวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2564 

โดยเงื่อนไขของ "วันหยุดประจำภาค" นั้น มีข้อกำหนดว่า เมื่อเป็นวันหยุดประจำภาคไหน ก็ให้หยุดเฉพาะภาคนั้น และ "หยุดเฉพาะหน่วยงานของรัฐ" โดยดูจากสถานที่ตั้งของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน ว่าอยู่ในจังหวัดไหน ก็ให้หยุดตามวันหยุดประจำภาคนั้น เท่ากับว่า 1 คน จะมีวันหยุดประจำภาค 1 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. ประวัติและที่มา "วันออกพรรษา"

วันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถือเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์

 

วันออกพรรษา จึงหมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน  11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

160162810112

3. "วันออกพรรษา" คือวันสิ้นสุดการจำพรรษาของพระสงฆ์

วันออกพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาของพระสงฆ์เป็นเวลา 3 เดือน หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นวันสุดท้ายที่สงฆ์พระต้องอยู่จำพรรษาในแต่ละปี และพระสงฆ์จะต้องอยู่ให้ครบอีกหนึ่งราตรีจึงจะครบถ้วนบริบูรณ์

ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยจิตที่เมตตา เพราะในช่วงระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย

4. วันออกพรรษา = วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก

วันออกพรรษา ยังถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก"  ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ถัดจากวันสิ้นสุดการจำพรรษา 1 วัน) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียกว่า "วันเทโวโรหณะ" หรือ "วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก" เนื่องจากในวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล (นรก) ต่างก็สามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลกนั่นเอง

ชาวพุทธก็ยึดถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะได้มาเฝ้ารับพระพุทธเจ้า ต่างมารอตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่น เพราะเมื่อถึงวันปวารณาออกพรรษา พระพุทธองค์จะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่ บันไดเงิน  บันไดทอง และบันไดแก้ว ซึ่งสักเทวราช (พระอินทร์) ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ประตูเมืองสังกัสนคร 

160162809813

 

5. "ตักบาตรเทโวโรหณะ" สิ่งสำคัญคู่ "วันออกพรรษา"

สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อถึง "วันออกพรรษา" จะนิยมทำบุญตักบาตรกัน เพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบ  "ไตรมาสพรรษากาล" (3 เดือน)  ถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน ก็จะมีการทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ

นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษายังถือเป็นเวลา  "กฐินกาล"  ตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่างๆ ด้วย โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมาก

160162810035

6. รู้จักประเพณียิ่งใหญ่ "วันเข้าพรรษา"

นอกจากการตักบาตรเทโวโรหณะ เข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์แล้วช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ประชาชนสามารถมาถวายผ้ากฐินทานได้ด้วย อีกทั้งเป็นช่วงที่มีการจัดงานประเพณีที่น่าสนใจ และจัดขึ้นเฉพาะในช่วงวันออกพรรษาเท่านั้น ได้แก่ 

 

  • ประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนแห่งสระบุรี

งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ “มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยนแห่งสระบุรี” เป็นประเพณีที่ชาวสระบุรีสืบทอดกันมาในช่วงวันออกพรรษา มีตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และหลังจาก 3 เดือนก็ได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษยที่เมืองสังกัสสะคีรี มีประชาชนต่างมารอเฝ้ารับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรอใส่บาตรจำนวนมากมายมหาศาล

แต่มีประชาชนบางกลุ่มที่อยู่ห่างออกไป ไม่สามารถจะใส่บาตรได้ถึง จึงใช้วิธีการโยนอาหารของตนลงในบาตรของพระพุทธเจ้า และพระสาวก โดยอาหารเหล่านั้นตกลงในบาตรเป็นที่อัศจรรย์  จึงกลายเป็นประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

160162737950

 

  • ประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาค

ในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี ชาวภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างหนองคายและบึงกาฬ จะมีการจัดงานบั้งไฟพญานาคขึ้นมาทุกปี ซึ่งปีนี้ทางจังหวัดหนองคายได้จัด งานประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาค โดยจัดงานขึ้นในพื้นที่หลากหลายแห่ง ได้แก่ 

-  ลานวัฒนธรรมหน้าวัดลำดวน เขตเทศบาลเมืองหนองคาย

-  ลานนาคาเบิกฟ้า อำเภอโพนพิสัย

-  บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอรัตนวาปี

-  บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม

160162738048

 

  • ประเพณีรับบัว วัดบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ

ถัดมาอีกหนึ่งประเพณีสำคัญ เราจะพาไปรู้จักกับ "ประเพณีรับบัว" เป็นประเพณีโบราณของชาวบางพลี จ.สมุทรปราการ จะจัดขึ้นทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยจะมีการอัญเชิญหลวงพ่อโตองค์จำลองจากวัดบางพลีใหญ่ มาลงเรือตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้ และล่องไปตามคลองบางพลี เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะ

มีความเชื่อว่าหากอธิษฐานแล้วโยนบัวลงเรือที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตจะทำให้คำอธิษฐานประสบความสำเร็จ สมปรารถนา ตามที่ได้ขอพรเอาไว้

สำหรับที่มาของประเพณีรับบัวมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งมีกลุ่มคนมอญอาศัยอยู่ย่านปากลัด (อำเภอพระประแดง) แต่ในฤดูกาลทำนาจะเดินทางไปทำนาที่บางแก้ว (หรือบางพลีในปัจจุบัน) เมื่อถึงช่วงเทศกาลออกพรรษา คนมอญกลุ่มนี้จะกลับไปทำบุญที่อำเภอพระประแดง และมักจะมีการล่องเรือมาเก็บดอกบัวหลวงที่อำเภอบางพลี  โดยชาวบางพลีก็จะช่วยอำนวยความสะดวกด้วยการเก็บดอกบัวไว้รอมอบให้คนมอญเพื่อนำไปถวายพระ  เป็นประเพณีที่เชื่อมสัมพันธ์ชาวไทยชาวมอญในชุมชนเดียวกัน

160163220930

 

  • เทศกาลออกพรรษา ประเพณีชักพระ จ.สุราษฎร์ธานี

ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะมีการจัดงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ คือ "ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว" เพื่อเป็นการร่วมทำบุญเนื่องในเทศกาลออกพรรษา ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เก่าแก่ ที่สืบทอดกันมายาวนาน 

โดยวัดและชาวบ้านในชุมชนทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะช่วยกันเตรียมการตกแต่งเรือพนมพระทางบกและเรือพนมพระทางน้ำ สำหรับวัดที่อยู่ติดแม่น้ำลำคลอง ใช้เป็นเรือพนมพระทางน้ำ นำมาประดับตกแต่งลวดลายอย่างประณีต งดงามตามจินตนาการ บวกกับความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี เช่น พญานาค หงส์ พญาครุฑ หนุมาน โดยมีความหมายว่าสัตว์เหล่านี้เป็นราชพาหนะของพระพุทธเจ้า จากนั้นจะนำมาร่วมขบวนแห่ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (หลังวันออกพรรษา 1 วัน)

160163019252

 

  • ประเพณีออกพรรษา จุดไฟตูมกา  จ.ยโสธร

ประเพณีออกพรรษา จุดไฟตูมกา เป็นประเพณีของชาวบ้านทุ่งแต้ จังหวัดยโสธร ที่มีมาแต่โบราณ โดยชาวบ้านจะนำผลตูมกา ซึ่งเป็นผลไม้ป่ามีรูปทรงกลมคล้ายผลส้ม มาคว้านเอาเมล็ดข้างในออก ฉลุลวดลายสวยงาม จุดเทียนไว้ข้างในลูกตูมกา แล้วนำไปถวายเป็นพุทธบูชาในคืนวันออกพรรษา และมีขบวนแห่ไฟตูมกาอย่างยิ่งใหญ่สวยงาม

ปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้หลอดไฟแทนเทียนเพื่อความสะดวกต่อการใช้งานและสามารถนำผลตูมกาไปห้อยไว้ในสถานที่ต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยชาวบ้านจะร่วมกันกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยและสวดมนต์ไหว้พระพร้อมกัน

160163019499

----------------------

อ้างอิง  :  

www.myhora.com/

www.dmc.tv/

travel.trueid.net

https://thailandtourismdirectory.go.th