"ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม" : โอกาสทางการค้าในโลก"ดิจิทัล" ทำได้มากกว่าที่เห็น

"ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม" : โอกาสทางการค้าในโลก"ดิจิทัล" ทำได้มากกว่าที่เห็น

ในเรื่องความเชี่ยวชาญด้าน"ดิจิทัล" "โปรแกรมเมอร์"คนนี้ต้องบอกว่า ฝีมือขั้นเทพ สมัยเป็นนักศึกษาเคยแฮกเจาะฐานข้อมูลนาซ่าจน FBI บินมาดูตัว เคยปั้นแอพฯลาซาด้า และเคยทำงานกับมูลนิธิอาลีบาบา รวมถึงเคยทำงานบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงาน

ต้องบอกก่อนว่า เรื่องราวของ ตั๊ม-ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม โปรแกรมเมอร์ไทย หรือนายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย (TDTA)และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Thailand e-business center ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ การค้า ยังโยงถึงการพัฒนาชีวิต  

ณัฐพร คลุกคลีกับวงการอีคอมเมิร์ซมานาน เคยทำงานกับมูลนิธิแจ๊คม่า อาลีบาบา ,พัฒนาแพลตฟอร์มการศึกษาในจีน และอีกหลายเรื่อง

ถ้าเห็นโปรไฟล์แล้ว อาจนึกว่า เขาทำแค่เรื่องอีคอมเมิร์ซ ไม่ใช่แค่นั้น เขายังนำความรู้แพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยคนเล็กคนน้อย ไม่ว่าเกษตรกรหรือคนค้าขายที่เรียกว่า SME รวมถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจ ทั้งระบบการค้า ธุรกิจและโลกดิจิทัลมากขึ้น

หากใครยังจำได้ หลายสิบปีที่แล้ว เคยมีนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แฮกหลังบ้านเว็บนาซ่า จนคนที่นาซ่าต้องบินมาดูตัว อาจารย์ต้องไปประกันตัวที่โรงพัก และพ้นสถานภาพนักศึกษา 

นั่นเป็นฝีมือตั๊ม-ณัฐพร โปรแกรมเมอร์คนนี้

ตั๊ม ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม

(ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม โปรแกรมเมอร์ระดับแถวหน้าเมืองไทย)

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาโอนสัญชาติเป็นจีน แลกกับการเข้าไปทำงานในหน่วยงานรัฐในจีน เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดให้คนไทย และก่อนหน้านี้เคยทำงานที่เฟซบุ๊ค ประเทศอินเดีย กูเกิ้ลที่ออสเตรเลีย  และอีกหลายบริษัทที่คนเก่งๆ ในโลกนี้อยากร่วมงาน 

“สิ่งที่ผมได้เรียนและทำงานในจีนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ถ้าใครถนัดเครื่องมือแบบนั้น ก็ทำแบบนั้น เอาชิ้นงานที่อยู่ในหัวออกมา ในศูนย์บ่มเพาะคนของจีน

พวกเขาสอนตั้งแต่การพัฒนาแอพฯ การจ้างคนอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด บริหารคนอย่างไร ผมเองก็ลอกโมเดลจีนมาสอนเด็กไทย” ตั๊ม เล่า

"จุดประกาย-กรุงเทพธุรกิจ" สนทนากับโปรแกรมเมอร์คนนี้ ในเรื่องชีวิตและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแค่เศษเสี้ยวในชีวิตตั๊ม...

 

ย้อนไปถึงตอนเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คุณเคยสร้างวีรกรรม เจาะข้อมูลเข้าไปในนาซ่า?

ตอนเรียนที่ลาดกระบัง  ตอนนั้นชอบหนัง ดิเอ็กซ์ไฟล์ และเอเลียน อยากรู้ว่า มีเอเลียน มียานอวกาศไหม ก็หาทางเจาะเข้าไปในนาซ่า สุดท้ายฝรั่งบินมาดูตัวที่มหาวิทยาลัย เราเข้าระบบหลังบ้านเว็บนาซ่าได้  โดนจับไปที่สถานีตำรวจ อาจารย์ต้องไปประกันตัวแลกกับการสละสิทธิการเป็นนักศึกษา ทั้งๆ ที่ผมกำลังจะเรียนจบ

ตอนนั้นเรียนปี 4  วิศวะคอมฯ เพราะผมใช้ความรู้ไม่ถูกทาง เข้าระบบข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศ (สามารถค้น Google คำว่า “รุ่นพี่ ลาดกระบัง โดน fbi จับ”) ทำให้ผมพ้นจากสภาพนักศึกษา จากนั้นก็ได้อาจารย์ยืน ภู่วรวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยเหลือผม เทียบโอนหน่วยกิต ได้เข้าเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ

เส้นทางการเรียนรู้ของคุณ ทั้งเรียนในระบบและนอกระบบ คุณทำอย่างไร

ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยตรัสว่า “ความรู้เหมือนทราย น้ำ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์” เราก็เลือกเอาว่า จะตักอะไรมาผสมกัน นั่นคือที่มาของคำว่าตักศิลา

พระองค์อุปมาอุปมัย ก็เลยทำให้เราเข้าใจว่า สำนักตักศิลาในสมัยพุทธกาล ก็คือ ถ้าเราชอบวิชาไหนก็เรียน เพราะรู้ว่าเอามาทำมาหากินได้

\"ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม\" : โอกาสทางการค้าในโลก\"ดิจิทัล\" ทำได้มากกว่าที่เห็น

(Encyclopedia of China technologies and trading information)

สเต็บแรก คือ สนใจเรื่องเทคโนโลยี ก็เริ่มเรียนรู้ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความรู้เรื่องเขียนโปรแกรม ซึ่งการซ่อมอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยไทย มีอยู่บ้างที่พระจอมเกล้า ลาดกระบัง มีชมรมหุ่นยนต์ ชมรมประกอบคอมพิวเตอร์ ชมรมติดตั้งเซิร์ฟเว่อร์ ก็เลยต้องไปเรียนที่นั่น

ถัดมาเรียนรู้เรื่องเน็ตเวิร์ค การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Lan สมัยนั้นที่เก่งที่สุด ก็คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใครอยากเก่งเน็ตเวิร์คต้องมาที่นั่น

ย้อนไปตอนเด็กๆ คุณมักก้าวนำเพื่อนๆ ไปหนึ่งก้าว ? 

มีพี่ชายข้างบ้านสนิทกัน กินนอนด้วยกัน พี่ยอด ลูกชายอาจารย์เมธี สรรพานิช เขาเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขาคือคนสร้างแรงบันดาลใจให้ผม เพราะเวลาผมสงสััยเรื่องอะไร พี่เขาจะเปิดตำราสอนผม ตัั้งแต่ผมยังไม่เรียนมหาวิทยาลัย

ตอนผมยังช่วยแม่ทำงานที่บ้าน เสร็จงานก็ไปเรียนคอมฯ และใช้บัตรนักศึกษาของพี่ยอดไปอ่านหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัย ตอนนั้นอยู่มัธยมต้น

พอมัธยมปลายก็อ่านบทเรียนล่วงหน้าที่ครูจะสอน เช่าร้านคอมฯชั้นสองเอาเคสที่ครูจะสอนมาทำ ขณะที่เพื่อนๆ กำลังทำความเข้าใจเรื่องนั้น เราไปบทเรียนอื่นแล้ว

และตอนอยู่มัธยมปีที่ 6 พี่ที่มหาวิทยาลัยจ้างให้ทำโปรเจคจบการศึกษา พอเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็รับจ้างพี่ปี4 ทำโปรเจค

นอกจากรับจ้างทำโครงการให้รุ่นพี่มหาวิทยาลัย ตอนอายุ 14-15 ปีก็ไปทำงานเกี่ยวกับระบบออนไลน์ในห้างฯ ? 

ตอนอยู่ที่หาดใหญ่อายุ 14-15 ปีเลิกเรียนก็เปลี่ยนกางเกงขาสั้นเป็นขายาวใส่เสื้อยืดและแจ็คเก็ตทำงานแล้ว งานไม่ยากเลย แค่เฝ้าเซิร์ฟเว่อร์ระบบออนไลน์ เข้างานหกโมงเย็น เลิกตีสอง เช้าก็ไปโรงเรียน

จนปีคศ. 1998 ได้ทำงานที่เดอะมอลล์บางกะปิ ตอนนั้นผู้บริหารอยากรู้ยอดขายรวมของห้างฯทั้งประเทศแต่ละวัน ต้องวันถัดไปประมาณบ่ายสามโมง 

เมื่อผมเข้ามาทำงาน ผมได้ศึกษาระบบออนไลน์เรื่องนี้จากงานวิจัยของทีมที่ชนะรางวัล การประกวดโครงการของธนาคารกสิกรไทย แต่ผมไม่ได้รางวัล ผมจึงไปขออยู่ในทีมที่ชนะและให้เขาช่วยสอนผม 

ผมก็นำความรู้พวกนี้มาวาง System Engineering  เชื่อมต่อกับเครื่องเซิร์ฟเว่อร์ระบบบัญชี สมัยนั้นเดอะมอลล์เป็นห้างฯแรกๆ ที่ทันสมัย สามารถรู้ยอดขายหลังสามทุ่มภายในหนึ่งชั่วโมง สามารถเอาชนะห้างพาต้าฯ

ไม่ใช่แค่นั้น คุณยังโอกาสไปทำงานกับคนเก่งๆ ทั่วโลก ?

 ไปอยู่อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ทำให้เราเห็นโลกใหญ่ขึ้น ตัวเล็กลง อยากเรียนรู้มากขึ้น และผมเคยทำงานกับผู้บริหารคนไทยที่สอนผมเรื่องการทำธุรกิจและการบริหารจัดการ  ตอนนั้นเขามีธุรกิจเอาของจากเถาเป่า จีน มาขาย

เขาสอนผมเกี่ยวกับวิธีไปจีน หาของมาขาย แล้วเอาโปรแกรมเมอร์จีนเก่งๆ มาทำงานในทีม จนผมเริ่มออกไปบรรยายบนเวทีจีนเรื่องความสำเร็จของอีคอมเมิร์สในไทย ขึ้นเวทีกับพวกบีโอไอที่จีนและฮ่องกง

จนได้มาเจอสามพี่น้องสตาร์ทอัพ ตระกูล Samwer เจ้าของฟู้ดแพนด้า,Zalora ,Lazada (แพลตฟอร์ม E-commerce )

พวกเขาชวนผมมาเป็นหัวหน้าฝ่ายไอทีของ Rocket Internet ประเทศในแถบเอเชีย โดยมีตำแหน่ง Global Venture Development Director มีหน้าที่ setup & build ธุรกิจ startup ที่ยังเป็นแค่ไอเดียให้เกิดขึ้นจริงใน 5 ประเทศ

ทุกครั้งที่เราเข้าไปเป็นผู้บริหาร และกรรมการที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนธุรกิจในหลายๆ โปรเจค ก็จะได้หุ้น 2-3% ตอนนั้นมีcofounder 5 คน

 ส่วนที่ดังมาก ที่ผมทำคือ Lazada  ขายให้ Alibaba ไปแล้ว ตอนนี้เข้าใจว่า Rocket ไม่น่าจะมีหุ้นเหลือแล้วครับ ส่วนหุ้นของผมได้ถูกโยกมาเป็นกองทรัสต์ ในกลุ่ม Rocket Internet แทน หลังจากได้รับการซื้อหุ้นคืนจาก Alibaba ครับ

 ตัวแรกที่ผมทำคือ Zalora ตัวที่สอง Lazada จนมาถึง ฟู้ดแพนด้า และอันที่สี่คือ Easy Taxi แพลตฟอร์มเรียกรถ นอกจากนี้ยังทำระบบเช่าโรงแรม เหมือนอโกด้า จริงๆ ทำมาหลายแพลตฟอร์มตั้งแต่ยุค dot com 1.0 ก่อนระบบ IRC (Pirch กำเนิด)

สมัยก่อนคิดว่าตัวเองเก่งไหม

พอเราไปเจอคนที่เก่งกว่า รวยกว่า คิดได้เยอะกว่า ตอนนั้นเราก็ตามล่าหาบอสเก่งๆ เมื่อก่อนชอบตามหาตำแหน่งงานบริษัทดังๆ แต่พอไปอยู่อังกฤษ ทำให้เปลี่ยนความคิด ต้องตามหาหัวหน้าเก่งๆ ไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่

\"ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม\" : โอกาสทางการค้าในโลก\"ดิจิทัล\" ทำได้มากกว่าที่เห็น

(ฝันเดียวของณัฐพร : แค่ลูกโตขึ้น แล้วมีคนบอกว่า พ่อเธอเก่งมาก และเป็นคนดีช่วยเหลือคนอื่น) 

ตอนนี้ยังตามล่าทำงานกับคนเก่งๆ อีกไหม

ล่าสุดธุรกิจธนาคารไทย ต้องการทำให้เครือข่ายดิจิทัลคล้ายๆ อาลีเพลย์ เราก็เคยทำโครงการกับอาลีเพลย์เกือบสี่ปี  รู้แผนธุรกิจล่วงหน้าปี 2030 ต่อไปชีวิตคนไทยตั้งแต่ตื่นนอน ไม่ต้องใช้มือถือหรือบัตรเอทีเอ็ม แค่มีใบหน้ากับลายนิ้วมือสแกนจ่ายเงินได้เลย 

 อีกไม่นานผมจะเข้าไปทำงานในธนาคาร เพราะเป็นธุรกิจที่ผมไม่เคยทำ เขาถามผมว่า  ถ้ารับผมเข้าทำงาน ธนาคารจะทำรายได้ของปีแรกเท่าไร 

เรื่องนี้ผมขออุบไว้ก่อน ผมยกตัวอย่างการนำสินค้าจากไทยไปจีน ยังมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซอีกรูปแบบหนึ่งที่ธนาคารไทยยังไม่เคยทำ ถ้าวันหนึ่งธนาคารสามารถทำคลิปโตเคอเรนซี(สินทรัพย์ดิจิทัล ...)ได้ ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ผมเสนอ ธนาคารน่าจะทำรายได้ปีละ 8 พันล้านดอลล่าร์

แล้วเรื่องการพัฒนาเยาวชนไทยให้เข้าใจแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อใช้พัฒนาอาชีพ คุณเกี่ยวข้องอย่างไร  

ผมเคยสร้างคนรุ่นใหม่ที่ทำแพลตฟอร์มดิจิทัล 300 กว่าคน และคนเหล่านี้กระจายไปทำงานวงการต่างๆ จาก 300 คนทวีคูณเป็นพันกว่าคน เมื่อก่อนจบปริญญาตรีไอทีได้เงินเดือนสองหมื่นห้าพันบาท

เราปรับมายเซ็ตใหม่ว่า จบปริญญาตรีเงินเดือนต้องได้หกหมื่นบาท ทำงานหนึ่งปีเงินเดือนประมาณแสนกว่าบาท และ 2 ปี เงินเดือนสองแสนห้า ทำให้คนที่เรียนไอทีจากที่ไม่เคยสนใจธุรกิจ จองตั๋ว จองโรงแรม สั่งอาหาร หันมาทำแอพพลิเคชัน สามารถนำเงินจากต่างชาติมาจ้างคนไทยได้ 

และผมเคยไปสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างจัังหวัดหลายแห่งทำโครงการ โดยสอนให้เรียนรู้แพลตฟอร์มออนไลน์ในเรื่องธุรกิจการค้า โดยใช้เงินทุนตัวเองทำโครงการ

เห็นบอกว่า คุณมีฝันอย่างเดียว คืออะไร

ถ้าลูกโตขึ้น แล้วมีคนบอกว่า พ่อเธอเก่งมาก และเป็นคนดีช่วยเหลือคนอื่น แค่นั้นพอแล้ว 

...................

ผลงานเขียนชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 64)