13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 : รำลึกถึงวันทรงผนวช

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 : รำลึกถึงวันทรงผนวช

13 ตุลาคมของทุกปี วันคล้ายวันสวรรคตในหลวง รัชกาลที่ 9 ในด้านพุทธศาสนา พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างมาก และตั้งมั่นที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยทุกประการ

ย้อนไปในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้สิบปี ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้พระองค์ทรงหยุดการเรียนรู้ในศาสตร์และศิลป์เรื่องต่างๆ

ไม่เว้นแม้กระทั่งการปกครองด้วยคุณธรรม เพื่อทำให้ราษฎรสงบสุข ทรงมีพระราชปณิธานที่จะครองแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม 

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 : รำลึกถึงวันทรงผนวช

ทรงผนวชเมื่อพระชนมมายุ 29 พรรษา โดยกำหนดวันทรงผนวชในวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 ) ทรงเป็นพระอุปัชฌาจารย์

และทรงเลือกสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่19 (เมื่อครั้งยังเป็นพระโสภณคณาภรณ์) ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ทำหน้าที่เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการทรงผนวชแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9

ทรงตั้งมั่นศึกษาและปฏิบัติธรรม

คราวที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงตั้งมั่นที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยทุกประการ

และในขณะที่ทรงอยู่ในเพศบรรพชิต สาวกแห่งพระพุทธเจ้า ทรงเป็นพระภิกษุซึ่งมีพระฉายาว่า “ภูมิพโล” จึงต้องเป็นเพียงผู้รับบิณฑบาตภิกขาหารจากประชาชน เพื่อยังพระชนม์ชีพและเผื่อแผ่ไปจนถึง บิดา มารดา อาจารย์ ตลอดจนบุตร ภริยา(ถ้ามี) ตามกฎพระวินัยพุทธศาสนา 

สาเหตุที่พระโสภณคณาภรณ์ในเวลานั้น ทรงได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษครั้งนั้น เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงไว้วางพระทัยในพระปฏิทาและความสามารถว่าจะทรงปฏิบัติที่สำคัญครั้งนี้ได้เรียบร้อยสมบูรณ์

และก็ปรากฏว่า ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาลสนองพระเดชพระคุณได้เรียบร้อยสมบูรณ์ทุกประการ

จากการที่ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาลในการทรงพระผนวชครั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก จึงทรงเป็นที่เคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร( พระบรมราชอิสริยยศปัจจุบัน)มาแต่บัดนั้น

และทรงรับหน้าที่ถวาย พระธรรมเทศนาและถวายธรรมกถา แด่ในหลวง รัชกาลที่9ในโอกาสต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งที่เป็นงานพระราชพิธีและเป็นการส่วนพระองค์ 

เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีความถ่อมพระองค์ จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐานในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็มิได้แสดงพระองค์ว่า เป็นผู้รู้หรือผูู้เชี่ยวชาญกว่าใครๆ แต่มักตรัสว่า “แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”

ช่วงที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ เสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนเยี่ยงพระสงฆ์ด้วยพระอิริยาบถที่สำรวม ทรงหยุดรับบิณฑบาตจากประชาชนด้วยความสงบ โดยไม่มีหมายกำหนดการ ตั้งแต่เวลา 05.50-06.50 น. 

ตลอดเวลาที่ทรงครองเพศบรรพชิต ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นๆ ทรงทำวัตรเช้า และทรงทำวัตรเย็น ทรงสดับพระวินัยและพระธรรม ทรงศึกษาธรรมโดยไปเฝ้าฯสมเด็จพระสังฆราชและพระเถระผู้ประดุจพระอาจารย์ ตลอดเวลาที่ทรงผนวช 15 วัน ทรงปฏิบัติพระองค์ให้อยู่ในกิจวัตรที่สงฆ์ทั้งหลายปฏิบัติ 

จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ตรัสไว้ว่า “พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะได้ทรงผนวชตามราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้

แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า หัวใหม่ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ

แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า บวชด้วยศรัทธา เพราะทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด” 

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในฐานะที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เล่าถึงพระจริยวัตรที่งดงาม ช่วงทรงพระผนวช ว่า  

"อาตมาเคยอยู่ร่วมวัดเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตอนพระองค์ทรงพระผนวชปี พ.ศ. 2499 ตอนนั้นอาตมาเป็นพระใหม่

พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยปฏิบัติด้วยความศรัทธาทรงออกบิณฑบาตทั้งในวัง ส่วนราชการ และทั่วไป

ซึ่งประชาชนก็ไม่คิดว่าจะได้ใส่บาตร  เพราะไม่รู้ว่าพระภิกษุสงฆ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงออกบิณฑบาตวันไหน เมื่อไหร่”

ส่วนในด้านขนบธรรมเนียมของพระภิกษุสงฆ์ สมเด็จพระวันรัต เล่าว่า พระองค์ทรงมีพระขันติ มีคุณธรรมที่ฝึกมาแล้วจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตอนที่ทรงทำวัตรสวดมนต์ พระองค์ประทับนั่งพับเพียบอยู่ด้านเดียว ไม่พลิกพระบาทเลย

เพราะพระองค์ทรงเคารพนับถือพระผู้ใหญ่ที่บวชก่อนพระองค์ตามธรรมเนียมของพระ ทุกๆ เช้าทรงนั่งพับเพียบโดยไม่ขยับเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงและบ่ายอีกชั่วโมง 

“ในฐานะที่อาตมาบวชเณรมาก่อน ก็ยังปฏิบัติสู้พระองค์ไม่ได้ แค่นั่งพับเพียบอย่างเดียว ก็สู้พระองค์ไม่ได้”

นอกจากนี้สมเด็จพระวันรัต ยังกล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า

“มีครั้งหนึ่งตอนที่พระองค์ทรงประทับอยู่ในงานพระราชพิธีที่หัวหิน ทรงมีรับสั่งกับอาตมาว่า เทศน์ดี  ธรรมะดี แต่คนฟังจะรู้เรื่องหรือเปล่า เพราะส่วนมากไม่ฟัง ถ้าอย่างนั้นน่าจะเทศน์เป็นนิทานชาดก "