เปิดชีวิต"หมอต้วง-กรพรหม แสงอร่าม" เมื่อไม่ได้บินกับการบินไทย

เปิดชีวิต"หมอต้วง-กรพรหม แสงอร่าม" เมื่อไม่ได้บินกับการบินไทย

บทสนทนาครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องดราม่า"การบินไทย" แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิต สร้างทางเลือกให้ตัวเองเยอะๆ เมื่อเลือกแล้ว ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองรักจริงจัง โดยไม่ลืมที่จะทำเพื่อผู้อื่นบ้าง

การพูดคุยกับ หมอต้วง-กรพรหม แสงอร่าม ​ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกครั้งนี้ คงไม่ได้กลับมาขุดคุ้ยเรื่องการบินไทย หลังจากมีวิวาทะเมื่อเดือนมีนาคม 2564 จนในที่สุดลาออก

ขอย้อนไปถึงชีวิต“หมอต้วง” สักนิด 

เขาเป็นคนที่เรียนเก่ง ตอนเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเทียบเข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ

และตอนใช้ทุนเลือกไปประจำที่โรงพยาบาลเล็กๆ บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี อยู่ที่นั่นหลายปี ช่วงแรกๆ ลูกน้องเกลียดผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนนี้มาก เพราะเป็นคนที่ทำงานลงรายละเอียดในหลายๆ เรื่อง 

หมอต้วง นอกจากเป็นนักบิน ยังเป็นหมอผ่าตัดด้วย

เขาใช้เวลาหลายปีกว่าผู้ร่วมงานจะยอมรับ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่า ต้องการพัฒนาโรงพยาบาลจริงๆ จนได้รางวัลโรงพยาบาลชุมชนดีเด่นภาคตะวันออก

หมอต้วงทำงานโรงพยาบาลอยู่หลายปี จากนั้นผันตัวมาทำงานการบิินไทย เป็นนักบินอยู่ 19 ปีและกัปตัน 6 ปี ระหว่างนั้นก็ไม่ทิ้งอาชีพหมอผ่าตัด ไปช่วยพี่ๆ น้องๆ อาจารย์ในห้องผ่าตัด

และยังเป็นวิทยากรด้าน Non-Technical skill นำความปลอดภัยทางการบินสู่การแพทย์ บรรยายให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ ฟังโดยไม่คิดค่าวิทยากร

ล่าสุดเมื่อไม่ได้เป็นกัปตันขับเครื่องบิน หมอต้วงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องบินขนาดเล็กมาขับ เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ และราคาไม่ได้แพงอย่างที่หลายคนคิด

ส่วนงานในอาชีพหมอ ปัจจุบันหมอต้วงเป็นรองซีอีโอโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรบรรยาย และมีธุรกิจส่วนตัว 

ครั้งนี้เขาให้โอกาสคุยกับ“จุดประกาย-กรุงเทพธุรกิจ” ในเรื่องวิธีคิดและการใช้ชีวิตที่ละเมียดละไมในบางมุมที่หลายคนอาจมองข้าม

เห็นบอกว่า ไม่เคยคิดจะออกจากการบินไทย ?

ตอนนี้ผมไปเป็นรองซีอีโอโรงพยาบาลเอกชน เพราะผมมีเวลา ส่วนงานผ่าตัดหัวใจ ถ้ามีเวลาก็ทำให้โรงพยาบาลรัฐไม่เคยคิดเงินเลย ก็ช่วยอาจารย์ รุ่นน้องและรุ่นพี่ทำงาน แต่ถ้าทำให้โรงพยาบาลเอกชนก็คิดค่าผ่าตัด

ตอนนี้ยังเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้าน Non-Technical skill นำความปลอดภัยทางการบินมาสู่การแพทย์ไหม

มาตรฐานสายการบินทุกสายทำไว้ดี แต่ทางการแพทย์ยังเปราะบาง ในทางการบินพบว่า ต่อให้กัปตันเก่งมีฝีมือ ก็ยังพลาดได้

การขับเครื่องบิน เป็นสิ่งแรกๆ ที่หมอต้วงชอบ

ส่วนใหญ่ผิดพลาดจากความอคติส่วนตัว  ยกตัวอย่าง เวลาขับรถ คนเจอป้ายเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ถึงจะเลี้ยวได้ แต่ถ้าไม่มีป้ายนี้ เราก็ใช้ความเคยชินเลี้ยวซ้ายเลย เรื่องเหล่านี้เกิดความผิดพลาดได้ 

ซึ่งทางการแพทย์ซับซ้อนกว่านั้น วิชา NTS(ทักษะที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากการทำงาน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการจัดการภายในทีม) ผมก็เอาเรื่องความปลอดภัยทางการบินมาสู่การแพทย์

เป็นวิชาที่สอนให้มีทัศนคติที่ดี ยอมรับกระบวนการหรือวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด ยกตัวอย่าง คนขี่มอเตอร์ไซค์เก่งๆมักมั่นใจว่าไม่ล้ม ไม่ใส่หมวกกันน็อคก็ได้

ศาสตร์นี้ไม่ได้สอนให้คนๆ นั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ล้ม แต่สอนให้มีทัศนคติว่า วันหนึ่งคุณอาจขี่มอเตอร์ไซค์ล้มได้

ในทางการแพทย์ก็เช่นกัน ก่อนฉีดยา ถ้าเรียกเพื่อนร่วมงานมาช่วยคอนเฟิร์มยาที่จะฉีดให้คนไข้ว่า ถูกต้องไหม ก็ย่อมดีกว่าฉีดยาผิด ฉีดยาเกินขนาด

ต้องสร้างทัศนคติที่ดีในเรื่องความปลอดภัยก่อนว่า คนเราผิดพลาดได้เสมอ ความผิดพลาดจะมาตอนที่เราเหนื่อยล้า

ในอเมริกาเคยมีกรณีคนไข้เสียชีวิตจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลสองแสนรายต่อปี และไม่มีทีท่าจะลดลง เรื่องนีี้มีข้อมูลยืนยัน

ปกติถ้าโควิดไม่ระบาดขนาดนี้ ผมต้องทำเรื่องบรรยายทักษะ NTS ปีหนึ่ง 100 กว่าวัน แรกๆ ก็ไปขอบรรยาย พอคนเริ่มรู้จัก ก็ติดต่อเชิญไปบรรยาย เราเห็นว่าจำเป็นและทำได้ ก็เลยทำทั้งงานไปช่วยผ่าตัดหัวใจ และบรรยายตามโรงพยาบาล

ยกตัวอย่างการตัดสินใจเพื่อความปลอดภัยในการบินสักนิด ? 

ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ เมื่อไรมีความเห็นไม่ตรงกัน คนจะเชื่อคนที่อาวุโสกว่า ก็ไม่ผิดหรอก แต่ถ้าวันนั้นเขาคิดผิด ก็จบ

หากผ่านการฝึกอบรมด้านนี้มา พยาบาลสามารถเตือนแพทย์ผ่าตัดได้ อาทิ พยาบาลพูดขึ้นในห้องผ่าตัดว่า “เคสนี้ได้เขียนคำยินยอมให้ผ่าตัดข้างนี้”

หมอก็จะบอกว่า “ขอบคุณที่เตือน” ถ้าไม่เคยอบรมเรื่องพวกนี้เลย หมอก็จะพูดว่า “เป็นเด็ก...มาเตือนหมอที่ผ่าตัดตั้งแต่คุณยังไม่เกิดได้ยังไง”

คุณหมอกรพรหม แสงอร่าม อีกบทบาทเป็นรองซีอีโอ โรงพยาบาลเอกชน คุณหมอเคยตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องการบังคับเครื่องบินไหม

สิ่งที่ผมตัดสินใจพลาดในการเป็นกัปตัน แทบไม่มีเลย ก็นี่ไงที่ตอนนั้นเอาน้ำมันเผื่อในการบิน แล้วการบินไทยหักคะแนนผม

ที่ผมตัดสินไม่พลาด ไม่ใช่เก่ง แต่เพราะระบบดี มีเครื่องประกอบการตัดสินใจ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทัศนวิสัยอากาศแบบนี้ต้องทำอย่างไร ทำให้ตัดสินใจง่าย แล้วยังมี Co-pilot ( นักบินผู้ช่วย )

มีคนบอกว่า กัปตันที่ดี ในวันเกษียณต้องไม่เคยมีประวัติทำผู้โดยสารเสียชีวิต หรือเครื่องบินเสียหาย ถ้าไปถามเขาว่า เคยมีเรื่องตื่นเต้นในชีวิตนักบินไหม เขาจะตอบว่า ไม่มีเลย

แต่ถ้าถามกัปตันอีกคน อาจมีเรื่องราว...ลมแรง พายุขวางสนาม น้ำมันไม่พอ ถ้ากัปตันคนไหนเจอแบบนั้นบ่อยๆ แสดงว่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น แล้วฟลุ๊ครอดมาได้ จึงเข้าใจว่าตัวเองเก่ง

กัปตันที่ดีก็เหมือนนักมวย ไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในมุมอับ คือ ไม่พาตัวเองไปสู่จุดที่ใช้ความสามารถสูงสุด ถ้าเมื่อใดพาตัวเองไปสู่จุดนั้นแสดงว่าพลาด ชีวิตไม่จำเป็นต้องเสี่ยงขนาดนั้น สามารถบริหารจัดการก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้

ปัจจุบันไม่ได้เป็นกัปตันสายการบินแล้ว ยังอยากขับเครื่องบินอีก?

ชีวิตนี้คงต้องบินต่อ ถ้าจะสมัครสายการบินอื่น ไม่รู้เขาจะรับไหม ตอนนี้ผมสั่งซื้อเครื่องบินเล็กจากอิตาลีมาขับ ยังประกอบอยู่ รออีกสองเดือนจะส่งมา

ถ้าเครื่องบินมาแล้ว คงบินใกล้ๆ ให้คุ้นก่อน เพื่อดูว่าระบบทุกอย่างใช้ได้ ถ้าถึงเวลาผมจะบินไปอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

อีกอย่างชีวิตผมไม่ได้ขับเครื่องบินเป็นอย่างเดียว ยังเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ สอนหนังสือและบรรยาย เป็นเจ้าของธุรกิจ แล้วผมทำงานบริหารโรงพยาบาลได้ ผมก็หาทางเลือกให้ชีวิต

ปกติเป็นคนที่วางเป้าหมายในชีวิตไหม

ตอนเรียนจบหมอ อยากเป็นนักบิน ก็ไปเรียนขับเครื่องบิน พอได้ขับเครื่องบิน ก็พอใจแล้ว เป้าหมายในชีิวิตผมง่ายๆ สั้นๆ อยู่บ้านกับครอบครัวและลูก 

KPI ผมมีข้อเดียวคือ กลับบ้านแล้วลูกวิ่งกระโดดกอด มีความลึกซึ้งนะเรื่องนี้ ลูกจะกระโดดกอดได้ ลูกผมต้องมีความสุข อารมณ์ดี และรักผมก่อน

การที่ลูกจะมีความสุขและรักผม ข้อหนึ่ง ครอบครัวต้องมั่นคง มีรายได้ ข้อสอง ครอบครัวต้องอบอุ่น ข้อสาม ผมต้องมีเวลาให้ลูกคือผมเป็นคนใส่ใจในรายละเอียดของกระบวนการ แต่ไม่หวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์

แล้วมีวิธีการเลี้ยงลูกอย่างไร

เราแค่ไกด์ให้ลูกคิดเอง ยกตัวอย่างเวลาลูกเล่นเกม เราจะไม่บอกว่าหยุดได้แล้วนะ แต่เราจะยิ่งคำถามไปว่า ลูกตั้งใจจะเล่นเกมถึงกี่โมง ให้โอกาสในการตัดสินใจ 

ลูกก็ผมเรียนเก่งระดับท็อปๆ ของประเทศ เล่นเปียโนเก่ง แต่ผมจะไม่โพสต์อวดลูก เพราะผมจะไม่อยากสร้างบรรทัดฐานว่าเด็กต้องเรียนเก่ง ผมว่าไม่ใช่

ถ้าผมจะโพสต์ ผมจะโพสต์ในเรื่อง ลูกผมเป็นคนประหยัด รู้คุณค่าของสิ่งของ มีเมตตาต่อสัตว์ อยากให้เป็นค่านิยมของสังคม และผมจะมีหลักการและคิดอย่างละเอียด รู้ว่า การกระทำที่เราทำไปจะมีผลอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างการไม่มองข้ามรายละเอียดสักนิด ?

อาทิ เวลาผมจะอาบน้ำก่อนโกนหนวด หนวดจะได้นิ่ม จึงใช้ครีมโกนหนวดน้อยลง และระยะเวลาโกนหนวดสั้นลง ไม่เจ็บด้วย หลังจากเสร็จ ผมจะตากผ้าเช็ดตัวในแบบของผม ให้แห้งเร็ว กลิ่นไม่อับ

ผมทำแบบนี้ทุกวัน ผมมีคำอธิบายเชิงเหตุผล ถ้าใครมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ ผมก็พร้อมจะเปลี่ยนไปเหมือนเขา

มีแบบแผนในการคิดอย่างเป็นระบบ ?

ก็อาจจะใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นระบบมีคำอธิบาย ่มองโลกด้วยความเป็นกลาง ไม่เอาอคติมาเกี่ยวข้อง เราจะเห็นทุกอย่างชัดเจนตามหลักพุทธศาสนา

ทำไมสนใจพุทธศาสนา

เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ คุณตาคุณยาย ทุกคนในบ้านนับถือพุทธ ถือศีล ไม่ฆ่าสัตว์ สอนให้เข้าวัด

พอโตขึ้นได้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คิดว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดเป็นเรื่องจริง ทั้งๆ ที่ แรกๆ ไม่คิดว่ามีพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ

มีเวลาเมื่อไร ต้องไปช่วยอาจารย์ในห้องผ่าตัด ตอนแรกๆ ไม่เชื่อสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ?

คิดว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาสอนคน แต่พอนำสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนมาลองปฏิบัติก็เป็นจริงทุกอย่าง

ผมจึงมองทุกอย่างตามความเป็นจริง อคติให้น้อยที่สุด ผมยังมีกิเลสแบบหยาบๆ แต่พอเราทำเพื่อคนอื่นบ้่าง เราก็ไม่เห็นแก่ตัว ผมไปช่วยผ่าตัดในโรงพยาบาล พอประโยชน์ถึงพร้อม คนก็ชอบ ทำอะไรก็มีคนช่วย

แต่คนเห็นแก่ตัว ต่อให้ใช้ความพยายาม ความเก่งในการคดโกง หลอกลวง สุดท้ายไปไม่รอด ขัดกับหลักธรรมชาติหลักความเป็นจริงของโลก เมื่อทำไม่ดี คนก็ไม่ชอบ

มีเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตอีกไหม

อยากขับเครื่องบิน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3-4 ชั่วโมง เครื่องบินผมค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันไม่แพง ใครๆ ก็คิดว่ามีเครื่องบินจะต้องรวยมากผมก็ไม่ได้มีเงินเยอะ

และเวลาทำงาน ผมถือว่า คนไข้คือนายจ้างผม เป็นคนจ่ายเงิน ผมไม่ได้คิดว่า เจ้าของโรงพยาบาลคือนายจ้างผม ผมไม่เคยกลัวนายจ้างที่เป็นหัวหน้าผมทุกคน ผมเถียงตลอด

โชคดีที่นายจ้างผมน่ารัก อยากได้ความเห็นที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ต่อองค์กร เมื่อผมมีแนวคิดแบบนี้ ผมก็สามารถแสดงความเห็นตรงไปตรงมา ไม่กลัวตำแหน่งหาย เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์คนไข้

 ถ้าวันหนึ่งผมเบื่อๆ งานบริหาร ผมก็ลาออกไปขับเครื่องบิน เดินสายบรรยาย ไปช่วยผ่าตัดบ้าง เพราะผมพอมีธุรกิจที่ทำให้ชีวิตอยู่ได้

อะไรที่ทำให้คุณหมอไม่กลัวทั้งคนมีอำนาจและไม่กลัวตกงาน

เพราะเราสร้างทางเลือกให้ตัวเองเยอะ ไม่ว่าทำเรื่องใดก็ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าผมคิดค่าบรรยายโรงพยาบาลละสองหมื่นบาท ปีหนึ่งผมสอนอยู่ 100 แห่งก็สองล้านบาท ผมก็อยู่ได้สบายๆ แต่ผมเลือกที่จะทำโดยไม่คิดค่าวิทยากร

ใครเป็นตัวอย่างให้คุณหมอเป็นคนใส่ใจในความละเอียด

คุณตาคุณยาย จะสอนเรื่องความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้สอนแบบจ้ำจีจ้ำไช พอนำมาปฏิบัติตาม ชีวิตก็ดีขึ้น

ถ้าคุณทำอะไรแล้วมีความละเอียด สังเกตดีๆ ในทุกสเต็บจะเรียนรู้เร็ว คนอื่นใช้เวลาสิบปีรู้เคล็ดลับ ผมใช้เวลาแค่สามเดือน แค่นี้ชีวิตคุณก็ทำอะไรได้เร็วกว่าคนอื่น อย่างการเล่นเปียโน การผ่าตัด การขับเครื่องบิน ฯลฯ

หลักการคือ คนที่ละเอียด ต้องสังเกต แล้วเอามาคิด ใช้จินตนาการ ตัดอคติออกให้มากที่สุด ก็จะได้โซลูชั่นที่ใกล้เคียงกับธรรมะมากที่สุด ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

วิธีคิดแบบนี้ จะทำให้พัฒนาตัวเองได้ไวกว่าคนอื่น ?

ใช่ ถ้าไม่มีความละเอียด คุณไม่ต้องฝันเลยว่าจะพัฒนาตัวเองได้ ไม่มีทาง ในความเป็นจริง ไม่มีใครมาบอกคุณทุกสเต็บ เพราะความละเอียดทำให้ผมเรียนรู้เร็ว คนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นความสำคัญ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมใช้หลังนิ้วก้อยกดลิฟท์ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด ไม่เคยใช้ปลายนิ้วชี้กดลิฟท์ 

คนส่วนใหญ่จะใช้นิ้วชี้ นิ้วป้อง นิ้วกลางเป็นหลัก เผลอๆ ก็เอานิ้วชี้ขยี้ตา แคะขี้มูก และเราคงไม่ได้มีเวลาล้างมือทั้งวัน

ถ้าเลือกได้ในตอนนี้ อยากทำอะไรเพิ่ม

อยากพัก ทำงานหนักมาตลอด ไม่เคยสบาย เพราะทุกเรื่องเราใส่ใจในรายละเอียด ทุ่มเทตลอด แต่สุดท้ายคนเราต้องอุเบกขา เราช่วยคนทั้งโลกไม่ได้หรอก พระพุทธเจ้ายังช่วยไม่ได้เลย

.........................

ภาพจากเฟซบุ๊ค : Kornprom Saengaram