‘ผักเชียงดา’ กับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เสริมเกราะป้องกันโควิด

‘ผักเชียงดา’ กับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เสริมเกราะป้องกันโควิด

เข้าครัวทำ “เชียงดาไข่ขยี้” เปิดผลการวิจัย “ผักเชียงดา” มหัศจรรย์ผักพื้นบ้านภาคเหนือกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

นาทีนี้การกินอาหารเพื่อเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายยังคงเป็นสิ่งที่ควรทำบ่อยๆ เมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกี่เข็ม หรือยังไม่ได้ฉีด เพื่อที่หากโชคร้ายติดเชื้อโควิดขึ้นมาจริงๆ อาการจะได้ไม่รุนแรง

แหล่งที่มีสารอาหารช่วยเพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันที่หารับประทานได้ง่ายที่สุดคือ ผัก  “เมนูสู้โควิด”วันนี้ พามาทำความรู้จัก ผักเชียงดา ผักพื้นบ้านพบมากทางภาคเหนือของไทย มีสรรพคุณน่าสนใจมาก

‘ผักเชียงดา’ กับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เสริมเกราะป้องกันโควิด

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดหมวดหมู่ให้ ผักเชียงดา อยู่ในกลุ่มผักที่มี วิตามินซี และ สารอนุมูลอิสระสูง สามารถช่วยกระตุ้นเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านการติดเชื้อไวรัส เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงและเป็นเกราะป้องกันตนเองจากไวรัสโควิด-19

ผักเชียงดา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.) Decne. มีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเมื่อยังอ่อนมีเขียวเข้ม ใบเดี่ยว ออกคู่ตรงกันข้าม ใบรูปหอกกว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบโค้งสอบแคบโค้งมน หรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน

‘ผักเชียงดา’ กับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เสริมเกราะป้องกันโควิด

เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุสรรพคุณอันน่าทึ่งของผักเชียงดาว่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน โรคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด

ประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจผักเชียงดาของไทยมาก มีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ลดน้ำตาลในเลือดและลดไขมันจากผักเชียงดา ทั้งรูปของเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 

นอกจากคำว่า gymnema มีรากศัพท์มาจากคำว่า “gurmar” ในภาษาฮินดู ซึ่งหมายถึง “ผู้ฆ่าน้ำตาล” ในผักเชียงดาพบสารสำคัญในกลุ่มไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อ gymnemic acid  ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็กอีกด้วย
 

ชาวเหนือนำยอดอ่อนผักเชียงดามาประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ใส่แกงปลาแห้ง แกงแค ผัดน้ำมันหอย แต่สำหรับ เมนูสู้โควิด วันนี้เราจะนำผักเชียงดามาปรุงร่วมกับไข่ไก่ตามสูตรที่สร้างสรรค์โดยนักกำหนดอาหารวิชาชีพ แววตา เอกชาวนา เจ้าของ blog 'กินดี by แวว' และที่ปรึกษา ‘โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม’ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)

‘ผักเชียงดา’ กับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เสริมเกราะป้องกันโควิด

เมนูนี้ชื่อ ผักเชียงดาไข่ขยี้  สิ่งที่ต้องเตรียมคือ ไข่ไก่ 1 ฟอง (เท่ากับมีไข่แดงแล้ว 1 ฟอง) เพิ่มโปรตีนด้วยการใช้ ไข่ขาว อีก 4 ฟอง ซื้อไข่ขาวกล่องได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต และ ผักเชียงดา 2 กำ

วิธีทำง่ายมาก เหมือนผัดผักใส่ไข่ ผัดผักเชียงดากับน้ำมันเล็กน้อย ใส่น้ำปลานิดหน่อยเพื่อให้ผักยังคงสีเขียว พอผักเริ่มสลบ ใส่ไข่แดงและไข่ขาวที่เตรียมไว้ลงขยี้กับผักในกระทะ ปรุงรสด้วยซอสปรุงรสและน้ำปลาพอประมาณ

คุณแววตาเขียนถึงคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยาของ ผักเชียงดา ไว้ดังนี้

  • กินผักเชียงดา ลดความเสี่ยงโรคโควิด 
  • เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันระดับน้ำตาลสูง
  • มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
  • มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • มีวิตามินซีและวิตามินอีสูง
  • เป็นแหล่งคาโรทีนอยด์และสารฟีนอลิค

‘ผักเชียงดา’ กับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เสริมเกราะป้องกันโควิด

เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีรายงานการศึกษาทางคลินิกใน อาสาสมัครปกติ เกี่ยวกับการดื่ม ชาเชียงดา (ใบเชียงดาอบแห้ง 1.5 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร) พบว่า 

  1. เมื่อดื่มทันที หรือที่เวลา 15 นาทีหลังการทดสอบน้ำตาล มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ
  2. การดื่มชาเชียงดา วันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่อง 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด (peak plasma glucose concentration) ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการศึกษาใน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ดื่มชาที่เตรียมจากใบเชียงดาแห้ง 1.2 กรัม ชงในน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หลังมื้ออาหาร 15 นาที ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง กลับไม่พบฤทธิ์รักษาเบาหวาน ของชาเชียงดา

จะเห็นได้ว่า การศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดายังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน แต่ผักเชียงดามีแนวโน้มที่ดีที่จะใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลขั้นต้น

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กินยาแผนปัจจุบันและต้องการกินผักเชียงดา ควรใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอาจเสริมฤทธิ์กับยา จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปก็ได้

‘ผักเชียงดา’ กับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เสริมเกราะป้องกันโควิด

ขณะที่ ดิสไทย เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลงานวิจัย มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษของผักเชียงดา ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ 'ไม่พบ' ความเป็นพิษแต่อย่างใด จากการให้กลุ่มตัวอย่างดื่มชาเชียงดาทุกวัน เป็นระยะเวลา28 วัน แล้ววัดระดับกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose) พบว่า ไม่มีการลดลงของระดับกลูโคสในพลาสมาในร่างกาย และไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของตับ แสดงให้เห็นว่าการดื่มชาชงจากผักเชียงดาไม่มีพิษต่อตับ

ภาษาเหนือ “ผักเชียงดา” เรียกกันหลายชื่อ อาทิ ผักเซี่ยงดา เซ่งดา เจียงดา ผักกูด ผักม้วนไก่ ผักเซ็ง เผื่อใครจองที่พักไปเที่ยวภาคเหนือปลายปีนี้ ได้ยินชื่ออาหารแล้วจะได้ไม่งง ส่วนภาคกลางเรียกกันว่า “ผักจินดา” ก็มีให้ได้ยิน

ขอบคุณข้อมูลและภาพ

*  *  *  *  *  *  *

เมนูสู้โควิดที่คุณอาจสนใจ