‘ขิง’ รวมสรรพคุณใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น ต้าน ‘โควิด’ ยังไร้ข้อมูลวิจัย

‘ขิง’ รวมสรรพคุณใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น ต้าน ‘โควิด’ ยังไร้ข้อมูลวิจัย

“ขิง” แม้ยังไร้ข้อมูลวิจัยต้านโควิด แต่เป็นสมุนไพรมีประโยชน์ “กรมการแพทย์แผนไทย” แจก 3 สูตรทำ “น้ำขิง” ดูแลสุขภาพเบื้องต้น พร้อมเตือนใครไม่ควรดื่มมาก

สิงหาคม 2564, นอกจาก ‘น้ำกระชาย’ เชื่อว่าการดื่มน้ำสมุนไพรที่ทำจาก ขิง น่าจะเป็นเครื่องดื่มอีกหนึ่งแก้วที่หลายคนดื่มแล้วรู้สึกดีสุดๆ ไปเลย คือรู้สึกดีที่ได้เลือกเครื่องดื่มที่ดีมีประโยชน์เข้าร่างกาย หรืออย่างน้อยก็สร้างกำลังใจที่ดีให้ตัวเองในช่วงเวลาจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 แตะสองหมื่นคนต่อวัน (4-5 ส.ค.2564)

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยว่า น้ำขิง สามารถต้านโควิด-19 ได้ และระบุข้อเท็จจริงไว้ด้วยว่า ‘ขิง’ เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยได้

162816104695

ขิง สมุนไพรฤทธิ์ร้อน

โดยเฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขิง เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการนำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และช่วยเจริญอาหาร

ใครๆ ก็ทราบ ‘ขิง’ เป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน นั่นก็เพราะขิงมีสารพฤกษเคมี gingerols (6-Gingerol),  shogaols และน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดอาการไอ และยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินหายใจได้

สรรพคุณของ ‘ขิง’ ทางแพทย์แผนไทยระบุเกี่ยวกับการขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ

‘ขิงสด’ ใช้ประโยชน์ในการปรุงอาหาร เช่น หมูผัดขิงใส่เห็ดหูหนู ซอยแล้วโรยหน้าโจ๊ก ขิงอ่อนหั่นเป็นแว่นๆ เป็นผักจิ้มน้ำพริก ทำเป็น ‘ขิงดอง’ ไว้กินแก้เลี่ยนกับหมูกรอบ ไส้กรอกอีสาน ยำแหนมสดข้าวทอด และที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้คือการทำ น้ำขิง ไว้ดื่มเพื่อเสริมสุขภาพ

162816113528

องค์ประกอบหลักๆ ของการทำ "น้ำขิง"

น้ำขิงสำเร็จรูปมีจำหน่ายเพื่อความสะดวกสบายมานานแล้ว แต่ถ้าอยากลองทำน้ำขิงสดๆ ไว้ดื่มเอง เฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำวิธีทำ น้ำขิง สำหรับดื่มไว้ 3 สูตรด้วยกัน

@ ส่วนผสมน้ำขิง สูตร 1  

  • ขิงสด (ไม่แก่นัก)  2  ถ้วย
  • น้ำสะอาด         9  ถ้วย
  • น้ำตาลทราย 1 ½  ถ้วย

วิธีทำ : ปอกเปลือกขิงออก ล้างน้ำ ทุบพอแหลก ตั้งน้ำให้เดือด เอาขิงลงต้ม 15-30 นาที กรองเอากากออก เติมน้ำตาลทราย ชิมรสตามต้องการ รีบยกลงกรองใส่ขวด นึ่งต่ออีก 20-30 นาที เมื่อเย็นเก็บใส่ตู้เย็น การต้มถ้าเดือดนานเกินไปกลิ่นหอมของขิง ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยจะระเหยออกไปหมด ทำให้น้ำขิงที่ได้ไม่มีกลิ่นหอมชวนดื่ม เมื่อจะดื่มน้ำขิง เติมน้ำแข็ง

การเตรียมน้ำขิง ควรใช้ขิงไม่แก่นัก เพราะขิงแก่จัดจะมีสารชนิดหนึ่งมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดจัด เมื่อเตรียมเป็นน้ำขิงแล้ว รสชาติจะไม่กลมกล่อม

ขนาดรับประทาน : วันละ 150 มิลลิลิตร

162816139028

น้ำขิงผสมมะนาว (ภาพ : ศูนย์สารนิเทศทางอาหาร)

@ ส่วนผสมน้ำขิง สูตร 2  

  • ขิงสด (ขิงหั่นขนาด 1 นิ้ว 5-6 ชิ้น) 15  กรัม
  • น้ำสะอาด                 16  ช้อนโต๊ะ  (240 กรัม)
  • น้ำเชื่อม                     2  ช้อนโต๊ะ  (15 กรัม)

วิธีทำ : ปอกเปลือกขิงออกล้างน้ำให้สะอาด ทุบพอแหลกตั้งน้ำให้เดือด เอาขิงที่ทุบไว้ลงต้มให้เดือด 15-30  นาที กรองเอากากออก เติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ชิมรสตามชอบ

ขนาดรับประทาน : วันละ 150 มิลลิลิตร

162816221218

น้ำขิงคั้นสด (ภาพ : medthai.com)

@ ส่วนผสมน้ำขิง สูตร 3  

  • เหง้าขิงสดยาวประมาณ 2 นิ้ว ฝานเป็นแว่น ๆ

วิธีทำ : ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว 15-30 นาที ใส่น้ำตาลเล็กน้อย

ขนาดรับประทาน :  กินครั้งละ 2-5 ช้อนโต๊ะ ตลอดวัน

อ้างอิงจาก : คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

162816240982

ขิง 

ขณะที่ เมดไทย เว็บไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพรฯ พูดถึงประโยชน์ของขิงไว้ถึง 65 ข้อ โดยในข้อที่เกี่ยวกับการเสริมสุขภาพ อาทิ

  • ขิงจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นยอด
  • มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก ช่วยชะลอความแก่และชะลอการเกิดริ้วรอย
  • มีส่วนช่วยในการป้องกัน ต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  • ช่วยลดผลข้างเคียงจากสารเคมีที่ใช้ในการรักษามะเร็ง ดังนั้นควรรับประทานขิงควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งจะเป็นผลดี
  • ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยในการขับเหงื่อ
  • ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ลำต้นสด ๆ นำมาทุบให้แหลกประมาณ 1 กำมือ แล้วต้มกับน้ำดื่ม
  • ช่วยลดความอ้วน ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอล ด้วยการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ
  • การรับประทานขิงจะช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ช้าลง
  • ช่วยแก้หวัด บรรเทาอาการไอ บรรเทาหวัดจับเสมหะ ด้วยการใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาวใส่เกลือนิดหน่อย
  • ไอน้ำหอมระเหยจากน้ำขิงช่วยทำลายไวรัสหวัดในทางเดินหายใจได้

162816265317

ขิง : ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เมดไทย และเว็บไซต์ กรมการแพทย์ทางเลือก มีคำเตือนถึงข้อควรระวังสำหรับการใช้ขิง โดยระบุว่า  ควรระมัดระวังการใช้ ขิง ในกรณีต่อไปนี้

  • การใช้ระยะยาว ควรระวังการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) และยาละลายลิ่มเลือด (antiplatelet) เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าและทำให้เลือดไหลหยุดยาก
  • ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด
  • ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหานิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ไม่แนะนำให้รับประทานในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความร้อนภายในร่างกายอยู่แล้ว เช่นผู้เหงื่อออกมาก เหงื่อออกเวลากลางคืน ตาแดง ถ้าจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ดังนั้นจึงไม่ควรหวังพึ่งสรรพคุณของ ‘ขิง’ เพียงอย่างเดียว หรือดื่มมากเกินพอดี แต่ควรปรับพฤติกรรมอย่างอื่นเพื่อดูแลสุขภาพร่วมด้วย โดยเฉพาะการออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จึงจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมรับมือโรคภัยหากเจ็บไข้ได้ป่วย

* * * * * * * * *

เมนูสู้โควิดที่คุณอาจสนใจ

‘วันพระ’ กินมังสวิรัติเพิ่มโปรตีนด้วย ‘ชิกพี’ กล้ามเนื้อฟิตปั๋ง

‘น้ำผัก’ ทำไมกินแล้วดี เลือกวิธีกินผักแบบที่ใช่ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง

‘แพนเค้ก’ สูตรเพิ่มน้ำหนักคน ‘ผอม’ แบบไม่ทำร้ายสุขภาพ

‘อะโวคาโด’ เติม HDL ป้องกันผนังหลอดเลือดแดงแข็ง

‘ไข่เจียว’ สูตรใส่ ‘ถั่วฝักยาว’ เพิ่ม ‘ไข่ขาว’ เสริมกล้ามเนื้อ