นักเขียนบทชี้ “ละครไทย” ไม่ขี้เหร่ ความเป็นไทยขายได้

นักเขียนบทชี้ “ละครไทย” ไม่ขี้เหร่  ความเป็นไทยขายได้

‘ละครไทย’ ถูกคนรุ่นใหม่มองว่าล้าหลัง หันไปดูซีรีส์ต่างชาติสนุกกว่า แต่ใครจะรู้บ้าง บางชาติชื่นชอบละครไทยมาก และนี่คือ 6 คำถามที่นักเขียนบทระดับอาจารย์ตอบชัดเจนว่า ธุรกิจละครไทยถึงเวลาต้องปรับตัว

1.ละครไทยคืออะไร.... 

คำถามแรกที่ ดร.สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ เปิดรายการ ‘Live ถามมา ตอบไป กับ ศัลยา สุขะนิวัตต์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์  และ ยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนบทมือรางวัล ผ่านทางเฟซบุ๊ค สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 โดยให้คำจำกัดความว่า

      “ละคร ในแต่ละประเทศ มีความหมายและให้คำจำกัดความต่างกัน ในประเทศจีน ละคร มีความหมายว่า Greatness : ความยิ่งใหญ่, ประเทศญี่ปุ่น Spiritual : จิตวิญญาณ, ประเทศเกาหลี Dream : ความฝัน แล้วของประเทศไทยคือคำว่าอะไร” 

ยิ่งยศ : ละครไทย คือ ไม่เป็นไร never mind (It’s OK) คือการประนีประนอม ยอมรับ ให้เกียรติ ไม่ปะทะ ปลอบใจตัวเอง ยอมรับสภาพ ไม่เฉพาะละครหรือสื่อบันเทิง แต่เป็นการตีความรวม ๆ ของความเป็นประเทศไทย ตัวตนของความเป็นไทย 

ไม่ว่าคนจะบูลลี่เรายังไง คนไทยก็จะยิ้ม ๆ ไม่เป็นไร รับได้ ส่วนในเรื่องความบันเทิง ละครมาแนวไหนก็ดูได้หมด ละครไทยถึงได้มีทุกรสชาติ มันคือการรับ การรวม หัวเราะอยู่ดี ๆ ร้องไห้ได้ด้วย

ศัลยา : ละครไทย คือ ชีวิต คือการเสนอภาพของคนไทย ที่อยู่ในสังคมไทย เสนอความบันเทิงให้กับคนที่มีโอกาสได้รับความบันเทิงในด้านอื่น ๆ ค่อนข้างน้อย ทำให้เขาได้เพลิดเพลินพาตัวเองหลุดออกมาจากโลกความโหดร้าย ความทุกข์ยากลำบากใจ หลีกหนีลืมความทุกข์ชั่วครู่ชั่วยาม ให้ความรื่นรมย์ ให้ความสุข ในช่วงเวลาสั้นๆ

2.ยุคดิจิตอล มีสื่อมากมาย ต้องทำละครไทยยังไงให้คนหันมาดู

ยิ่งยศ : โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ละครเรื่องใดจะรอด ไม่รอด อยู่ที่ เนื้อหา ว่าเจ๋งไม่เจ๋ง เอาอยู่หรือเอาไม่อยู่ สนุกหรือไม่สนุก นี่คือสิ่งที่จะโชว์ภูมิปัญญา จะชนะใจคนดูได้หรือไม่ ต่อให้มีสื่ออื่นอีกมากมาย ไม่น่าใช่ปัญหา อยู่ที่การสร้างเนื้อหา ถ้าสนุก ยังไงก็จับคนดูอยู่ คนดูติดตามอยู่แล้ว ไม่หนีไปไหนหรอก

ศัลยา : ทุกวันนี้เรามีเฟคนิวส์ ละครก็เหมือนกัน ถ้าไม่เฟค ให้ข้อมูลจริง ข้อมูลชัดเจน ดูแล้วรู้เรื่อง การผลิตดี การแอ็คติ้งดี เชื่อว่าตรึงได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่หนักหน่วงก็ตาม

นักเขียนบทชี้ “ละครไทย” ไม่ขี้เหร่  ความเป็นไทยขายได้ 'ศัลยา สุขะนิวัตต์ 'นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์

3.ทำไมละครไทย ชอบทำเรื่องเดิม พล็อตซ้ำๆ  

ศัลยา : ละครทุกชาติก็มีพล็อตซ้ำซากทั้งนั้น พล็อตในโลกนี้ มันมีไม่กี่พล็อต แล้วพล็อตที่คนดูตอบรับ มันคือพาณิชย์ศิลป์ ไม่ใช่การกุศล คนทำละครไม่ใช่สื่อสารสาระอย่างเดียว เราไม่ใช่ครูสอนหนังสือ

ตัวพล็อตอาจจะซ้ำซาก แต่อยู่ที่ วิธีการนำเสนอ ให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด บวกกับความสนุกสนาน เพื่อให้คนดูมีความสุข นำเสนอให้มันจริง อิงกับ FACT ก็จัดได้ว่าต่างจากละครเดิมๆ 

ถ้าอยากเสนอเรื่องที่แหวกไปมาก ๆ เช่น เรื่องอาชีพ ก็ต้องทำรีเสิร์ชเยอะ ๆ คำนึงถึงหลายๆ อย่าง เพราะนี่คือ Industry ที่มีการลงทุน ถ้าลงทุนไม่เต็มที่ มันก็จะได้เท่าที่ลงทุนไป

ยิ่งยศ : ฝรั่งเองก็ทำของเดิมวนเวียนซ้ำซากเหมือนกัน อย่างอาทิตย์ที่แล้วดูเรื่อง PAN เทพนิยายปีเตอร์แพน อาทิตย์ต่อมาก็มีเรื่อง PAN อีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่จินตนาการว่า ถ้า PAN อายุวัยกลางคนแล้วยังมีอิทธิฤทธิ์ไหม 

นี่คือมุมมอง คือ โจทย์เดิมแต่ย่อยใหม่ ถ้าเราจะตำหนิการรีเมคละครสักเรื่อง เราต้องดูบริบทสังคมด้วย ถ้าสังคมมันวนไปสู่ความเป็นไปในลักษณะหนึ่ง แล้วละครเรื่องนั้นรีเมคมาแล้ว 3-4 รอบ แต่มันถูกต้องเหมาะสมที่จะนำเสนอ ละครเรื่องนั้นก็มีค่า 

โดยเฉพาะถ้าถูกตีความใหม่ เช่น เวอร์ชั่นที่แล้ว นางเอกเป็น First คาแรคเตอร์ มาเวอร์ชั่นนี้พระเอกเป็น First คาแรคเตอร์ คนจะไม่สนใจดูเชียวหรือ

ศัลยา : การเอาเรื่องเก่ากลับมาทำใหม่ บางทีไม่ง่ายนะ กำลังจะเขียนบทเรื่อง ‘ผู้ใหญ่ลีกับนางมา’ มีความรู้สึกว่า ยากกว่าเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ เสียอีก เพราะเป็นเรื่องราว พ.ศ.2490 แต่เราเอามาทำในยุคนี้ บริบทของสังคมสมัยนี้ 

โลกการเกษตรสมัยนี้ มันจะออกมาเป็นยังไง เขียนยากมาก นี่คือสิ่งที่เป็นคำตอบว่าแนวละครเดิมมันจะซ้ำซากหรือเปล่า วิธีนำเสนอจะต้องแตกต่างออกไป ต้องคอยดู

นักเขียนบทชี้ “ละครไทย” ไม่ขี้เหร่  ความเป็นไทยขายได้ 'ยิ่งยศ ปัญญา' นักเขียนบทมือรางวัล 

4.ปัญหาวงการละครโทรทัศน์ไทยในตอนนี้คืออะไร

ยิ่งยศ : 1) ขาดบุคลากร ทุกช่องทุกค่ายเปิดกล้องพร้อมกันหลังโควิด ขาดแคลนทุกอัตรา แม้กระทั่งคนทำเสื้อผ้า, แต่งหน้า, ทำผม, คนทำกับข้าวในกอง 2) ขาดแคลนคอนเทนท์ใหม่ ที่มีค่าพอหยิบมาลงทุนทำละคร ยิ่งช่วงนี้ สถานการณ์บ้านเมือง ตัวตนของประเทศเรา โลกเรามันเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่งแล้ว

3) ทุกแขนงการผลิตละคร ควรได้รับการพัฒนายกระดับทั้งองคาพยพ ไม่ใช่โยนความผิดให้คนเขียนบท ถ้าจะพัฒนาวงการละครไทย แม้กระทั่งศักยภาพของนักแสดงไทย ก็ควรจะโกอินเตอร์ได้แล้ว การแสดงของคุณมันต้องเป็นสากล ขนาดที่คนทั้งโลกดูแล้วยอมรับนักแสดงได้ 

ศัลยา : คอนเทนท์คือหัวใจของละคร อุตสาหกรรมละครไทยไม่เหมือนอุตสาหกรรมละครเกาหลี เพราะที่นั่นคนเขียนบทเป็นคนคิดคอนเทนท์ พัฒนาเรื่องขึ้นมา แล้วเอาไปขาย 

ส่วนใหญ่เราทำละครจากนิยาย ถ้านิยายยังอยู่ในกรอบเดิมๆ ไม่แหวกออกไป นั่นคือข้อจำกัดของละครไทย อยู่ที่การนำเสนอคอนเทนท์ ต้องเป็นสตอรี่ที่มีจุดน่าสนใจ สนุกสนาน แล้วประกอบร่างขึ้นเป็นนวนิยายได้ มันถึงจะถ่ายทอดออกมาเป็นบทละครได้

5.ประเทศไทยจะมีโอกาสใช้ละครไทย เป็น Soft Power ได้ไหม

ศัลยา : เชื่อว่า ถ้าเราร่วมมือกัน เราทำได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ควบคุมเรื่องนี้ ศักยภาพของเรา เราทำได้ แต่ต้องมีความเข้มแข็ง ตอนนี้ละครไทยพัฒนาตามมีตามเกิด

ยิ่งยศ : ละครไทยก็คือละครไทย ใครจะมาขอซื้อไปขายต่อ เขาก็ซื้อในความที่มันเป็นละครไทย มันมีตัวตนของมัน สมมติเราทำละครแล้วเหมือนเกาหลีจังเลย แล้วเขาจะซื้อทำไม 

เราขายต่างชาติได้เพราะ เสน่ห์ของความเป็นละครไทย อย่างทีวีช่องหนึ่งซื้อละครอินเดียมาล็อตใหญ่ เพราะคุณภาพไม่ใช่บอลลีวูดแต่เป็นฮอลลีวูด มีตัวตนว่าข้าคือละครอินเดีย

นั่นคือเมื่อดำเนินเรื่องไปถึงจุดหนึ่ง จะต้องมีเพลงและทุกคนพร้อมจะเต้นระบำกันชนิดที่เราต้องทึ่ง มันคือซิกเนเจอร์ของหนังอินเดีย ส่วนจุดแข็งของละครไทยก็มี แต่บางทีเรากระแดะโดดหลบหนี เพราะเรารับมันไม่ได้

6.จุดเด่นของละครไทยคืออะไร

ศัลยา : ‘ร่างทรง’ นี่ล่ะ คือความเป็นไทยที่แท้จริง นำเสนอในแบบที่เรายังไม่เห็น เรามีเรื่องแบบนี้มากมายในประเทศของเรา ที่มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ถึง 4 ภาค มีเรื่องราวซ่อนเร้นอยู่ตามชุมชน ป่าเขาลำเนาไพร นั่นคือความเป็นไทย

ไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจะสร้างละครที่มีโขนเป็นเรื่องใหญ่ มีดุริยางคศิลป์ มีดนตรีไทย มีกีฬาไทย มีอะไรไทย ๆ ออกมาให้มันสุดๆ แล้วมีเรื่องราว มีสตอรี่ ที่มันน่าสนใจมากๆ ต้องทำวิจัยที่เข้มข้นหนักหน่วง แล้วคนสนับสนุนเป็นภาครัฐ เป็นช่อง เป็นบริษัท ผู้จัด ก็ต้องลงทุนตรงนี้เยอะ ๆ แล้วให้ความสำคัญกับการทำรีเสิร์ชการหาข้อมูล

มีหลาย ๆ เรื่องที่เราสามารถเจาะให้ทะลุทะลวงให้มันน่าสนใจ ประกอบกับผู้เขียนนิยายสร้างสตอรี่ที่สนุกได้ เป็นความหวังของละครไทย

การพัฒนาอุตสาหกรรมละครไทย ต้องมีการยกระดับไปพร้อม ๆ กันทุกส่วน เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชน ขอร้องให้หน่วยงานองค์กรที่มีบทบาททางนี้หันมาช่วยกัน ทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้