ประกาศภาพยนตร์ไทย 11 เรื่อง "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" ปี 64

ประกาศภาพยนตร์ไทย 11 เรื่อง "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" ปี 64

หอภาพยนตร์ และกระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือก "ภาพยนตร์ ไทย" ที่มีคุณค่าเป็น "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" 11 เรื่อง มาประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ตรงกับ วันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ประกาศ 11 ภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2564 ที่จัดขึ้นโดย หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม แม้ว่าจะยังอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่ประชาชนก็ยังให้ความสนใจ

“ในปีนี้ถือปีที่ 11 ของกิจกรรมขึ้นทะเบียน มรดกภาพยนตร์ของชาติ เป็นปีที่สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้การเปิดให้ประชาชนได้เสนอรายชื่อภาพยนตร์ส่วนใหญ่ต้องเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ก็ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เสนอรายชื่อกว่า 1,500 คน เป็นภาพยนตร์จำนวน 317 เรื่อง

นำมาคัดเลือกร่วมกับภาพยนตร์ในการอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์จากหลายหลายสาขาอาชีพจำนวน 38 ท่าน มาพิจารณาให้คะแนนแบบออนไลน์ (ไม่มีการพิจารณาแบบอภิปรายเช่นปีที่ผ่านมา)ซึ่งผลปรากฏว่ามีภาพยนตร์จำนวน 11 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อรวมกับปีที่ผ่านมาจะมีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 221 เรื่อง”

ประกาศภาพยนตร์ไทย 11 เรื่อง "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" ปี 64

ภาพยนตร์เรื่อง ห้วงรักเหวลึก (2498)

หลักเกณฑ์ในการพิจารณา

คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ : เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ สถานที่ กาลสมัย บุคคล เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและสังคมไทย ในมิติต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มหรือมวลชน สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจมิติเหล่านั้นในเชิงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ

คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ : เป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ อันแสดงถึงศิลปะวิทยาทางด้านภาพยนตร์

มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ : ไม่ว่าการถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ ฯลฯ มีความคิดริเริ่ม ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในภาพยนตร์อื่นๆ

บูรณภาพ : ความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่ฉายแล้วอาจถูกตัดทอน ถูกเสริมเติมแต่งเพิ่มเติม ถูกดัดแปลงไปด้วยเหตุต่างๆ

ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน : เป็นภาพยนตร์ที่ยังมีฟิล์มต้นฉบับหรือสำเนาในรูปแบบอื่นใดอยู่ แต่อยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะสูญเสีย เช่น มีต้นฉบับหรือสำเนาเพียงชุดเดียว หรือกำลังเสื่อมสภาพ

อิทธิพลต่อคนและสังคม : ภาพยนตร์สามารถส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อปัจเจกชนและสังคม ไม่ว่าด้านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ฯลฯ ก่อเกิดกระแสสมัยนิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ว่าระยะสั้นหรือยาว

ประกาศภาพยนตร์ไทย 11 เรื่อง "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" ปี 64 ภาพยนตร์เรื่อง ทอง (2516)

มรดกภาพยนตร์ของชาติ 11 เรื่อง

โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (2471)

ภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และพระราชพิธีเกษากันต์ ของหม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์ ฉายให้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระราชพิธี พระอิริยาบถของเจ้านายพระองค์น้อย ๆ มีค่าหายาก พระราชพิธีโกนจุกพระโอรสธิดาและพระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน (https://fapot.or.th/main/archive/812)

ห้วงรักเหวลึก (2498)

ภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายของ หลวงวิจิตรวาทการ สะท้อนค่านิยมเรื่องสิทธิสตรีในสังคมไทยยุคแรกเริ่ม การตอบโต้การกดขี่ทางเพศ เดินเรื่องโดยผู้หญิงซึ่งไม่ได้เป็นกุลสตรีตามขนบ เป็นบทบันทึกของวงการภาพยนตร์ไทย ช่วงก่อน พ.ศ. 2500 เป็นประจักษ์พยานฝีมือการแสดงภาพยนตร์ยุคแรกของ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นักแสดงหญิงผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ 'ราชินีแห่งการละคร' (https://fapot.or.th/main/archive/813)

คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503] (ไม่สมบูรณ์) (2503)

ภาพยนตร์บันทึกการอ่านคำปราศรัยของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2503 ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดความสามารถนักปราศรัยของจอมพล สฤษดิ์ เป็นอนุสรณ์ผลพวงของรัฐประหารล้างระบบทางการเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ออกไป และสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ขึ้นมาแทน (https://fapot.or.th/main/archive/814)

สุรีรัตน์ล่องหน (2504)

ภาพยนตร์ที่สร้างจากบทละครวิทยุที่ได้รับความนิยมมากของ สมสุข กัลย์จาฤก นักเขียนบทละครวิทยุที่ยิ่งใหญ่ เป็นหลักฐานความเฟื่องฟูของละครวิทยุที่ยุคหนึ่งนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์จำนวนมาก ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัล ในฐานะภาพยนตร์แนวนิยายวิทยาศาสตร์กึ่งแฟนตาซียุคแรกของไทย ท้องเรื่องและค่านิยมจับใจผู้ชมชาวไทย ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหญิงเป็นหลัก สะท้อนขนบของภาพยนตร์ไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2500 (https://fapot.or.th/main/archive/815)

นิสิตพัฒนา (ไม่สมบูรณ์) (2505)

ภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เล่าเหตุการณ์การออกค่ายอาสาสมัครจุฬาลงกรณ์ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-14 เมษายน 2505 ที่หมู่บ้านแกใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นบันทึกการออกค่ายอาสาพัฒนาในยุคแรกของนิสิตนักศึกษาไทย มีจุดประสงค์โฆษณาชวนเชื่อ ถ่ายทอดการร่วมแรงร่วมใจ มีชีวิตชีวา อุดมคติของหนุ่มสาวที่ต้องการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม ในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมที่สุดของนิสิตนักศึกษาไทย (https://fapot.or.th/main/archive/816)

ประกาศภาพยนตร์ไทย 11 เรื่อง "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" ปี 64

ภาพยนตร์โฆษณา เพียว

โฆษณาเพียว [2506-2508]

ภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มยี่ห้อ เพียว ผลงานสร้างสรรค์ของ ปยุต เงากระจ่าง ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ผลิตโดย 'สำนักโฆษณาสรรพสิริ' ของ สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้บุกเบิกการผลิตภาพยนตร์โฆษณาการ์ตูนไทยรายแรกจุดเด่นของโฆษณาชิ้นนี้ ใช้ตัวละครเป็นตัวการ์ตูนชุด 'ตุ๊กตา' ของ พิมน กาฬสีห์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กในเมืองไทย มีเพลงประกอบบรรยายสรรพคุณสินค้าที่ติดหู ดัดแปลงจากทำนองเพลงคลาสสิก In a Persian Market มีคุณค่าเป็นอนุสรณ์ผลงานของนักวาดการ์ตูนไทยถึงสองคน ป็นภาพยนตร์โฆษณาที่มีอิทธิพลต่อผู้คนจนป็นมรดกความทรงจำของสังคม (https://fapot.or.th/main/archive/817)

การเดินทางอันแสนไกล (2512)

ภาพยนตร์บันทึกการมาเยือนเมืองไทย พ.ศ. 2512 ของ นีล อาร์มสตรอง พร้อมคณะนักบินอวกาศชาวอเมริกันที่ไปสำรวจดวงจันทร์ได้เป็นกลุ่มแรกของโลก สร้างโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เล่าผ่านเรื่องราวของ อรนุช ภาชื่น เด็กหญิงจากจังหวัดสุรินทร์ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพเฉพาะกิจ แสดงให้เห็นความรู้สึกชาวไทยที่ตื่นเต้นกับข่าวพิชิตดวงจันทร์ และการมาเยือนของมนุษย์จากดวงจันทร์ มีคุณค่าเป็นบทบันทึกเหตุการณ์ สัมผัสถึงอารมณ์โฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามเย็น (https://fapot.or.th/main/archive/818)

ทอง (2516)

ภาพยนตร์ที่ ฉลอง ภักดีวิจิตร ทุ่มทุนสร้าง นำดาราดังจากต่างประเทศมาร่วมงาน เต็มไปด้วยฉากบู๊ลุ้นระทึก ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ เป็นหนังแอ็คชั่นไทยที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เป็นจุดเปลี่ยนอาชีพของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นความทะเยอทะยานของคนทำหนังไทยต้องการไปสู่ตลาดสากล เป็นผลงานร่วมสมัยในยุคสงครามเวียดนาม ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (https://fapot.or.th/main/archive/819)

ประกาศภาพยนตร์ไทย 11 เรื่อง "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" ปี 64

ภาพยนตร์เรื่อง วิมานดารา

วิมานดารา (2517)

ภาพยนตร์ที่สร้างโดยตำนานนักร้องคู่ขวัญ สุเทพ วงศ์กำแหง และ สวลี ผกาพันธุ์ ร่วมด้วย ธงชัย วงษ์ประเสริฐ กำกับโดย ชุติมา สุวรรณรัต แต่งเรื่องและเขียนบทโดย รพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลก นักประพันธ์ชื่อดัง เป็นภาพยนตร์ที่กล้าหาญนำเสนอเนื้อหาที่แปลกแตกต่างจากผลงานในยุคเดียวกัน บันทึกบรรยากาศและค่านิยมของสังคมไทยในยุคนั้นไว้หลายแง่มุม เป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์ของตำนานนักกีฬาชื่อดังของประเทศ อย่าง ปรีดา จุลละมณฑล และ โผน กิ่งเพชร มีบทบาทด้านประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย (https://fapot.or.th/main/archive/820)

สาย สีมา นักสู้สามัญชน (2524)

ภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ โดยกลุ่มนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ นำโดย เจน จำรัสศิลป์ และ ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ มีคุณค่ามรดกความกล้าหาญของนักหนังสือพิมพ์ไทยที่ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์ไทย เป็นตัวแทนในโลกภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวของวรรณกรรมอมตะที่ทรงอิทธิพลต่อบรรดานักคิดนักเขียนไทย แฝงด้วยจิตวิญญาณการ 'ปีศาจของกาลเวลา' ไม่ต่างจากบทประพันธ์ (https://fapot.or.th/main/archive/821)

Goal Club เกมล้มโต๊ะ (2544)

ภาพยนตร์ของผู้กำกับ กิตติกร เลียวศิริกุล เล่าเรื่องกลุ่มวัยรุ่นชายยุค 'มิลเลนเนียม' ที่เข้าไปพัวพันกับกระแสการพนันฟุตบอลผิดกฎหมาย แม้ผ่านไปยี่สิบปี ภาพยนตร์ยังมีน้ำหนักและเชื่อมต่อผู้ชมในปัจจุบัน เป็นบันทึกด้านมืดและด้านสว่างความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลในเมืองไทย เป็นความกล้าหาญของคนทำหนังช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (https://fapot.or.th/main/archive/822)

ชมได้ที่ไหน

หอภาพยนตร์ จะจัดโปรแกรมฉายภาพยนตร์ ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกภาพยนตร์ของชาติ ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ที่โรงภาพยนตร์ (ดูรายละเอียดได้ที่ www.fapot.or.th) และรับชมผ่านออนไลน์ทางช่อง Youtube หอภาพยนตร์ playlist มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ที่สำคัญ ภาพยนตร์ทุกเรื่องสามารถมารับชมค้นคว้าได้ที่ 'ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี' ณ หอภาพยนตร์ ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00 น. -17.00 น. ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป