‘ทมยันตี’ นักเขียนในดวงใจคนไทย และนวนิยายเล่มสุดท้าย

‘ทมยันตี’ นักเขียนในดวงใจคนไทย และนวนิยายเล่มสุดท้าย

ถ้าให้ทายว่าทั้งชีวิต "ทมยันตี" เขียนหนังสือทั้งหมดกี่เล่ม นวนิยายเล่มสุดท้ายชื่ออะไร และทำไมปฏิเสธการรับรางวัลทั้งปวง...เรื่องเหล่านี้ คงมีคนตอบถูกน้อยมาก...

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คว่า “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, มายาวดี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555”

เมื่อข่าวความสูญเสีย 'ทมยันตี' ที่จากไปอย่างสงบในวัย 85 ปี (13 กันยายน 2564) ได้รับรู้ในวงกว้าง เหล่าแฟนคลับ ต่างแสดงความเสียใจและพูดถึงความรู้สึกต่อผลงานของท่านไว้ต่างๆ นานา อาทิ

 

"อ่านคู่กรรมแล้ว จะตายตาม โกโบริ ไป หมั่นไส้ยัย อังศุมาลิน มากถึงมากที่สุด จะมานั่งเสียใจทำไม ทำตัวเองนี่หว่า, คำมั่นสัญญา คือที่สุดของผม อ่านหลายรอบมาก, ชอบงานเขียนยุคแรก คู่กรรม,ทวิภพ อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบที่ไม่ใช่งานยุคแรกก็คือเรื่อง ราชินีชีบา,

นิยายเรื่อง ถนนสายหัวใจ ทำให้ดั้นด้นมาเที่ยวยุโรป ตามรอยนางเอกที่เดินตามถนนสายหัวใจไปหาพระเอกถึงสวิตเซอร์แลนด์, เรื่อง ล่า ก็สนุกมาก ฆ่าแต่ละคน เพิ่มความครีเอท, เรื่อง อย่าลืมฉัน คิดถึงกาแฟดำใส่มะนาวที่นางเอกชงให้พระเอก...”

‘ทมยันตี’ นักเขียนในดวงใจคนไทย และนวนิยายเล่มสุดท้าย ทมยันตี Cr.Lanna Devalai

ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เกิดเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 รวมอายุ 85 ปี ชื่อเล่น อี๊ด เกิดที่กรุงเทพมหานคร บิดาเป็นทหารเรือ มารดาเคยเป็นชาววัง สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายในราชวงศ์เวียงจันทน์ ถูกกวาดต้อนมาสยามเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3

การศึกษา 

ระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์,  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา

เริ่มเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และเขียนต่อเนื่องถึง 11 ปี เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

มี 6 นามปากกา  

-โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า 'กุหลาบราชินี' ใช้เขียนเรื่องรักพาฝัน จินตนิยาย นามปากกานี้นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ

-ลักษณวดี ใช้เขียนนวนิยายรัก มีเนื้อหาเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า 'ลักษณวดี' มีความหมายว่า 'นางผู้มีลักษณะดี, นางผู้งามเลิศ' เป็นชื่อของนางในวรรณคดี มเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง 'ลิลิตพระลอ'

-กนกเรขา ใช้เขียนเรื่องตลกเบาสมอง มีความหมายว่า 'อักษรอันวิจิตร' เป็นชื่อนางในวรรณคดีเรื่อง 'กนกนคร' ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) มาใช้เป็นนามปากกา

‘ทมยันตี’ นักเขียนในดวงใจคนไทย และนวนิยายเล่มสุดท้าย ทมยันตี Cr.Lanna Devalai

-ทมยันตี (ทะ-มะ-ยัน-ตี) ใช้เขียนเรื่องสะท้อนชีวิตและสังคม เรื่องแนวจิตวิญญาณ ใช้ใน 'รอยมลทิน' เป็นเรื่องแรก ทมยันตี แปลว่า 'นางผู้มีความอดทนอดกลั้น' เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง 'พระนลคำหลวง' ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

-มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ เรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ และเขียนคอลัมน์ 'สนธยากาล' ลงในนิตยสาร ขวัญเรือน

-วิม-ลา เป็นนามปากกาล่าสุด ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ เรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ 'ล้านนาเทวาลัย' โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

อดีตนักโต้วาที

วิมล ศิริไพบูลย์ สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับ สมัคร สุนทรเวช และ ชวน หลีกภัย เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง และตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญ

ขณะเรียนอยู่ในปีที่ 3 เพื่อนได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จึงลาออกไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาจึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

ช่วง เหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 มีบทบาทเป็นแกนนำของชมรมแม่บ้าน กลุ่มภรรยาข้าราชการ ปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษา ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ คือ สหรัฐ

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิมลได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิก สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในปีถัดมา วิมลได้เป็นสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ปี พ.ศ. 2522 เป็น สมาชิกวุฒิสภา, ปี พ.ศ. 2527 ได้เป็น ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม (ทั้งสองภาค), ทวิภพ, พิษสวาท, ในฝัน, ดั่งดวงหฤทัย, เลือดขัตติยา, คำมั่นสัญญา, ล่า, ดาวเรือง, ใบไม้ที่ปลิดปลิว, รอยอินทร์, ร่มฉัตร เป็นต้น

นวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิต

มีนวนิยายเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ‘จอมศาสดา’ เธอเคยประกาศบอกแฟนๆ ว่าจะไม่ได้อ่านหรอก ตอนที่คนเขียนยังมีชีวิตอยู่

“เขียนเสร็จตายแล้วค่อยพิมพ์ เดี๋ยวจะเหมือนเรื่องของ แดน บราวน์ ที่เขียนแล้วมีคนเถียง แต่ถ้าด่าคนตายไม่รู้เรื่อง คนยุ่งอยู่นอกโลง เรานอนในโลงแล้ว มีความสุข”

ส่วนนวนิยายอีกเรื่องที่หลายคนรอคอย คือเรื่อง ‘เปลวสุริยัน’ ที่พูดถึงเรื่องดาราศาสตร์ เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ ...คนไม่เชื่อว่ามีดาวดวงที่ 12 ผ่านวงดาวเสาร์เข้ามา... หลังจากนั้นมหันตภัยของโลกเริ่มขึ้น... โลกมันจะเกิดกลียุค ที่หนาวจะหนาวจัด ที่ร้อนจะร้อนจัด เมืองไทยบางแห่งจะแล้ง บางแห่งจะน้ำท่วม ที่พูดอย่างนี้ก็ทำนายจากดาราศาสตร์ทั้งหมด โรคต่างๆ จะเกิดมากขึ้น แผ่นดินจะแยก...”

‘ทมยันตี’ นักเขียนในดวงใจคนไทย และนวนิยายเล่มสุดท้าย ทมยันตี Cr.Lanna Devalai

ทำไม‘ทมยันตี’ปฏิเสธการรับรางวัล

แม้งานเขียนของ ทมยันตี จะไม่เคยได้รับรางวัลสำคัญ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และได้รับความนิยมอย่างสูง เหตุที่ไม่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมใด ๆ นั่นเป็นเพราะว่า ไม่ประสงค์ให้นำผลงานของตนไปส่งประกวด และปฏิเสธการรับรางวัลทั้งปวง ดังที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า

“ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มาแล้ว นั่นคือรางวัลสูงสุดในชีวิต จากนั้นไม่เคยอยากได้รางวัลใด ๆ อีกเลย”

นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่เธอเขียนก่อนเข้าสู่ความสงบใต้ร่มพระศาสนาก็คือเรื่อง ‘จอมศาสดา’

ผลงานในนามปากกา 'ทมยันตี' 

คู่กรรม, กษัตริยา-แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน-อธิราชา, เถ้ากุหลาบ, กฤตยา, ใยเสน่หา, แม่ดอกสวะ, เมียน้อย, เวียงกุมกาม, ร่มฉัตร, รอยลิขิต, ยอดอนงค์, รักลวง, รักที่ต้องมนตรา, ราชาวดี, แก้วกลางดง, มงกุฎหนาม, เจ้าแม่, โซ่สังคม, เทพบุตรสุดแสบ, แนวสุดท้าย, ใบไม้ที่ปลิดปลิว, แผลหัวใจ, เพลงชีวิต, วันที่รอคอย, สะพานดาว, สองชีวิต, สายรุ้ง, สำรองรัก, ศิวาลัย, สตรีหมายเลขหนึ่ง, มณีร้าว, สุริยวรมัน, สุดหัวใจ, อย่าลืมฉัน, อันธการ, อตีตา, ล่า,ไวษณวี , คำมั่นสัญญา, คู่กรรม 2, คุณหญิงนอกทำเนียบ, จิตา, จดหมายถึงลูก(ผู้)ชาย, ชามี, ฌาน, ดาวเรือง, ดาวนภา, ตราบาป, ตะวันลา, ถนนสายหัวใจ, ทิพย์, นายกหญิง, นางเอก, บาป, ประกาศิตเงินตรา, พิเธีย, พี่เลี้ยง, พิษสวาท, ทวิภพ, คลื่นชีวิต, รายากุนิง, รอยมลทิน, มายา, พ่อไก่แจ้, จิตตเทวะ, ชามาช, เปลวสุริยัน, นากพัทธ์ (2560)

ผลงานในนามปากกา 'โรสลาเรน' 

ในฝัน, เมฆขาว,โสมส่องแสง, รอยอินทร์, ม่านหัวใจ, รอยอาลัย, มาลาเค, เงา, ทางรัก, สายสัมพันธ์, สิ้นสวาท, ค่าของคน, ตราบแผ่นดินกลบหน้า, บัลลังก์เงา, มงกุฎกุหลาบ, ริมหัวใจ 

ผลงานในนามปากกา 'กนกเรขา' 

แรงรัก, เดชแม่ยาย, แต่งกับงาน, สมาคมม่าย, อุบัติเหตุ, ไอ้คุณผี, บิ๊กเสี่ย, พ่อม่ายทีเด็ด, พ่อครัวหัวป่าก์, พ่อปลาไหล

ผลงานในนามปากกา 'ลักษณวดี' 

มหารานี, ดั่งดวงหฤทัย, รัศมีจันทร์, ราชินีชีบา, เลือดขัตติยา, เจ้าแห่งรัตติกาล, สายใจ, หนี้รัก, จักรพรรดินี, ธุวตารา, มงกุฎที่ไร้บัลลังก์, สรวงฟ้า (บาดาล-เทวปักษี-เทพอวตาร), มนตราแห่งดารา

ผลงานในนามปากกา 'มายาวดี' 

สนธยากาล (รวมเรื่องสั้น), ทิพยอาภา คัมภีร์มรณะ, จดหมายจากวิญญาณ, ชีวิตหลังความตาย, ทิพยนิยาย

ผลงานเรื่องสั้น

ตุ๊กตายอดรัก, กระดูกคู่, ค่าของเงิน, คุณหมอ, คนชั่ว, คนเถื่อน, หัวใจเถื่อน, ผสมสิบ, ชุมทางชีวิต (รวมเรื่องสั้น 10 เรื่อง 1)เรื่องของคุณแต๋ว 2)คนใช้ 3)12 ปี แห่งความหลังของศรีวิทย์ 4)ชีวิตของดารณี 5)36-22-36 ของยาหยี 6)คนที่มีค่าของปรางทอง 7)กามเทพของเจ้าหล่อน 8)ผมชื่อ“ตูบ” 9)หัวใจของหนู 10)วิชยา)

ผลงานปัจจุบัน

-นากพัทธ์ (ทมยันตี) สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์รวมเล่มในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560

-ณ ปลายฟ้า (ภาคต่อริมหัวใจ) เปิดตัวหนังสือในเดือน ต.ค.2562

หนังสือเกี่ยวกับประวัติและผลงาน

ที่รวบรวมโดย ประพนธ์ วิพัฒนพร (เจ้าของนามปากกา วิศวนาถ, ภูเตศวร) มีดังนี้

1.กว่าจะถึงวันนี้ของทมยันตี

2.กลวิธีการเขียนนวนิยายสไตล์ทมยันตี

...............