สรุปดราม่า 'เจ้า เหว่ย' ทำไมโดนแบนในโลกออนไลน์จีน?

สรุปดราม่า 'เจ้า เหว่ย' ทำไมโดนแบนในโลกออนไลน์จีน?

เมื่อจีนออกมาตรการเข้ม ตัดหางดาราดัง "เจ้า เหว่ย" ออกจากสารบบ หลังมีคดีความกับนักลงทุน 67 ราย รวมค่าเสียหาย 7.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และถูกห้ามทำธุรกรรมใดๆ กับตลาดหลักทรัพย์ของจีน

เมื่อสัปดาห์ก่อน หลายคนคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับดาราจีนชื่อดังอย่าง "เจ้า เหว่ย" ที่ถูกแบบจากทุกแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์ของประเทศจีน แฟนคลับชาวจีนต่างพูดถึงประเด็นนี้และสืบเสาะจนพบสาเหตุว่าอาจมาจากเรื่องคดีความติดตัว และอาจจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่ขัดต่อมาตรการพิเศษ "ชิงหล่าง" ของสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (CAC)

มีรายงานจากสื่อต่างประเทศ Global Times ระบุว่า ชื่อของนักแสดงหญิงมหาเศรษฐีชาวจีน "เจ้า เหว่ย" (Zhao Wei) รวมทั้งผลงานในวงการบันเทิงของเธอ ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มวิดีโอสำคัญๆ ของจีน ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ดราม่าเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร? เราสรุปมาให้รู้กัน ดังนี้

1. "เจ้า เหว่ย" ดาราจีนชื่อดัง เจ้าของบทบาทองค์หญิงกำมะลอ

เจ้า เหว่ย เป็นนักแสดงชาวจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จากผลงานซีรีย์เรื่ององค์หญิงกำมะลอ (My Fair Princess) ในปี 1998 ทำให้เจ้า เหว่ย กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ในชั่วข้ามคืน และกลายเป็นนักแสดงที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล 'Golden Eagle Award for Best Actress'

จากนั้นเธอก็มีโอกาสได้ทำงานในวงการบันเทิงต่อเนื่อง เช่น เป็นนักแสดง นักร้อง ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และนางแบบ เธอทำทุกอย่างได้อย่างดีและประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังก้าวขึ้นสู่วงการแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้แก่สินค้าแบรนด์หรูหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Versace, Dior, Mercedes-Benz, Motorola เป็นต้น

2. จากดาราจีน สู่นักธุรกิจหญิงมหาเศรษฐี

จากนั้นเธอก็เริ่มเข้าสู่วงการนักธุรกิจด้านภาพยนตร์ โดยเธอลงทุนในอาลีบาบา พิคเจอร์ส กรุ๊ป ซึ่งทำเงินได้หลายล้านดอลลาร์ในปี 2559 อีกทั้ง เธอเคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงที่ร่ำรวยที่สุดในโลกโดย Forbes ในปี 2014 อีกด้วย

ต่อมาในปี 2020 จ้าว เหว่ย ได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับ Fendi แบรนด์สินค้าแฟชั่นหรูจากอิตาลี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในบุคคลผู้มีชื่อเสียงของจีน ที่พัวพันกับเรื่องอื้อฉาวต่างๆ นานาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

163058618045

3. เหตุการณ์ ลบชื่อ "เจ้า เหว่ย" ออกจากโลกออนไลน์จีน

ชาวเน็ตชาวจีนจำนวนมาก ต่างก็ออกมาพูดถึงประเด็นร้อนแรงนี้ ผ่านโซเชียลมีเดียในประเทศจีนกันอย่างล้นหลาม ตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม 2564 ว่าพวกเขาไม่พบชื่อของ "เจ้า เหว่ย" ในทำเนียบนักแสดงจีน และค้นหาชื่อไม่พบบนเสิร์ชเอนจิ้นต่างๆ ของจีน 

ส่วนผลงานการแสดง เพลง และผลงานอื่นๆ ในวงการบันเทิง ก็ถูลบออกจากแพลตฟอร์มวิดีโอจีนที่สำคัญหลายแห่ง เช่น Tencent Video และ iQiyi โดยเฉพาะไม่พบผลงานชื่อดังที่สร้างชื่อให้เธออย่างละครเรื่อง "องค์หญิงกำมะลอ" อีกด้วย โดยละครเรื่องนี้ถูกถอดออกจากหลายแพลตฟอร์ม โดยไม่ได้คำอธิบายใดๆ 

ตามรายงานของ Jimu News สำนักข่าวในหูเป่ย ระบุว่า เจ้าของแพลตฟอร์มวิดีโอหลายแห่งยืนยันว่า มีการถอดผลงานของ เจ้า เหว่ย ออกไปจริง โดยกล่าวว่าพวกเขาได้รับคำขอจากทางการจีนในเวลาสั้นๆ และไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจน 

4. สาเหตุที่คาดว่าทำให้ เจ้า เหว่ย โดนแบน!

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ เจ้า เหว่ย โดนทางการจีนแบนนั้น มีการคาดเดากันอยู่หลายสาเหตุ เริ่มจากประเด็นแรก มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดจากกรณีที่ เจ้า เหว่ย เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามเกี่ยวกับการสวมชุดที่มีธงทหารญี่ปุ่น ในช่วงต้นปี 2001

ส่วนอีกหนึ่งประเด็น คือ เธอเป็นนักธุรกิจที่หลายๆ คนในวงการธุรกิจทราบกันดีว่า เธอเข้าไปเกี่ยวพันกับคดีความอื้อฉาวหลายกรณี  เธอเคยซื้อ Chateau Monlot (ธุรกิจไวน์) ในเขต Saint-Emilion ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสในปี 2011 โดยเธอและสามีติดอันดับรายชื่อมหาเศรษฐีหนุ่มสาวที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในปี 2016 ซึ่งมีทรัพย์สินประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการเข้าถือหุ้นในอาลีบาบาพิคเจอร์กรุ๊ปด้วย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของเธอ ก็นำมาซึ่งคดีความ เธอตกเป็นเป้าหมายของคดีฟ้องร้องโดยนักลงทุน 67 ราย ที่เรียกร้องค่าชดเชย 50 ล้านหยวน (7.45 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อชดเชยการครอบครองกิจการที่ผิดจรรยาบรรณในปี 2559 และเธอและสามีของเธอถูกสั่งห้ามไม่ให้มีสิทธิ์ดำเนินการใดๆ ในตลาดหลักทรัพย์ของจีน เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเคยละเมิดกฎของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560 ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

5. ลบชื่อ "เจ้า เหว่ย" ตามมาตรการชิงหล่าง

ว่ากันว่าเหตุการณ์ลบชื่อ "เจ้า เหว่ย" ออกจากสารบบในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการของทางการจีนที่เรียกว่า "ชิงหลาง" ซึ่งเป็นการจัดระเบียบข่าวสารบนโลกออนไลน์

โดยชาวเน็ตหลายคนออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ มาตรการ "ชิงหล่าง" (Qinglang Operation / 清朗-饭圈乱象整治) ซึ่งอธิบายว่า "ชิงหล่าง" เป็นมาตรการพิเศษ ของสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (Cyberspace Administration of China : CAC) เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ และดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

มาตรการนี้เริ่มประกาศใช้ เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา โดยหน้าที่หลักของ CAC คือ ดูแลด้านการโฆษณาชวนเชื่อและการต่างประเทศ เช่น การกรองข่าวสารบนโทรทัศน์ การเซ็นเซอร์ภาพข่าว และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม มีความรุนแรง ตามที่เห็นว่าสมควร รวมถึงการจัดระเบียบและควบคุมพฤติกรรมที่ทางการเห็นว่าไม่เหมาะสมของ "ฟ้านชวน" (饭圈) หรือกลุ่มแฟนคลับชาวจีนด้วย

--------------------------------

ที่มา : 

thefamouspeople

globaltimes.cn

KidKorn คิดก่อน

springnews