เมื่อ ‘พืชกระท่อม’ ถูกกฎหมาย คนไทยต้องรู้อะไรบ้าง?

เมื่อ ‘พืชกระท่อม’ ถูกกฎหมาย คนไทยต้องรู้อะไรบ้าง?

เช็คข้อควรรู้ "พืชกระท่อม" จากกรณีการปลด “กระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 เรื่องนี้ส่งผลดีต่อคนไทยแค่ไหน กระท่อมมีสรรพคุณอะไรบ้าง และหากต้องการใช้แบบถูกกฎหมายต้องทำอย่างไร?

24 ส.ค. 64 คือวันแรกที่ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย หลังจากที่มีการปลดกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) .. 2564 รวมทั้งมีการปล่อยผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038  ราย โดยถือว่าไม่เคยกระทำความผิด 

  • ทำไมถึงปลดล็อคกระท่อม ออกจากยาเสพติดให้โทษ 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เบื้องต้นภาครัฐจะได้รับประโยชน์เมื่อมีการปลดกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ สามารถลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ต้องหาหรือจำเลย  1,691,287,000 บาท  

โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลเท่ากับ 76,612 บาท ซึ่งคดีข้อหาพืชกระท่อมที่ขึ้นสู่ศาลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 - 30 มิถุนายน 2564 มีอยู่ถึง  22,076 คดี

   

  • ใช้อย่างไรถึงถูกกฎหมาย

แม้ว่าพืชกระท่อมจะมีการปลดล็อคให้ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ระเบียบ และข้อบังคับจะถูกประกาศผ่าน ... พืชกระท่อมต่อไปในอนาคต โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.. 64 ที่ผ่านมามติครม. มีการประกาศ และสรุปสาระสำคัญของพ... พืชกระท่อมดังนี้ 

มาตรการควบคุมและกำกับดูแล มีทั้งการกำหนดให้การปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต การกำหนดอายุใบอนุญาต โดยใบอนุญาตปลูกพืชกระท่อม ใบอนุญาตขายใบกระท่อม มีอายุ 5 ปี 

ส่วนใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม มีอายุ 1 ปี 3) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต เช่น เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาต

หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต คือ 

1.ผู้รับใบอนุญาตปลูกพืชกระท่อม มีหน้าที่ต้องเพาะหรือปลูกในที่ดินหรือสถานที่และพิกัดตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต 

2.ผู้รับใบอนุญาตขายใบกระท่อม นำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม มีหน้าที่ต้องจัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ขาย นำเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม จัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับใบกระท่อม โดยอย่างน้อยต้องระบุแหล่งที่มาของใบกระท่อม คำเตือน หรือข้อควรระวัง 

การคุ้มครองบุคคลและการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด 

1.ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท กรณีมีการขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ หรือสวนสนุก หรือขายโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

2.ห้ามผู้ใดบริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

3.กำหนดให้ผู้ปลูกพืชกระท่อม ขายใบกระท่อม เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม โดยไม่มีใบอนุญาต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  

  • สรรพคุณพืชกระท่อม มีดีแค่ไหน 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (..) โดยคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ ได้ดำเนินงานวิจัยพืชกระท่อมพัฒนาเป็นเภสัชตำรับ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อนำพืชกระท่อมไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติดและทดสอบประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา

การวิจัยพืชกระท่อมพบว่า มีสารสำคัญ ได้แก่ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และ7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) มีฤทธิ์ระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ลดน้ำหนัก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านอาการซึมเศร้า คลายกล้ามเนื้อลาย บำบัดผู้ติดยาเสพติด สามารถยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทานอล ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น โดยปัจจุบันต่างประเทศได้นำพืชกระท่อมใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนสารเสพติด เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ไอซ์ และยาบ้า เพื่อบำบัดผู้เสพยาดังกล่าว

  • กระท่อมไทย ในสายตานานาชาติ

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า การปลดกระท่อม ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินี พ้นจากยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องน่ายินดีและควรทำมานานแล้ว

การทำให้กระท่อมถูกกฎหมายในไทย ปิดฉากการละเมิดสิทธิของการใช้ยาแผนโบราณที่ชุมชนชนบทไทยใช้กันมานานแล้ว

โดยระบุว่าในอินโดนีเซีย แม้กระท่อมใช้ได้อย่างถูกกฎหมายแต่อยู่ในสถานะถูกทบทวน ซึ่งนักการเมืองบางคนพยายามออกกฎหมายห้ามใช้

สำหรับไทย เมื่อปี 2562 เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยรัฐบาลลงทุนในการสกัด กลั่น และทำตลาดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสุขภาพ