'ศิริวัฒน์ แซนด์วิช' กว่าจะ'ปลดหนี้'ได้ ต้องใช้ชีวิตแบบ survivor

'ศิริวัฒน์ แซนด์วิช' กว่าจะ'ปลดหนี้'ได้ ต้องใช้ชีวิตแบบ survivor

เมื่อโควิดพาเศรษฐกิจย่ำแย่ขนาดนี้ "ศิริวัฒน์ แซนด์วิช"คนเคยเป็นหนี้หลักพันล้าน และ"ปลดหนี้"ได้แล้ว เคยใช้ชีวิตแบบ survivor เพื่อความอยู่รอดไปวันๆ และทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด

การขายแซนด์วิชชิ้นละ 30 บาท(ปี 2540) หลังจาก ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ มีหนี้สินกว่าพันล้านบาท  คงไม่สามารถปลดหนี้ได้

คนในสังคมรู้ดีว่า เขากลายเป็นบุคคลล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ และที่สำคัญคือ เขาเลือกดำเนินชีวิตต่อไปในแบบที่ไม่เหมือนใคร ไม่ยอมให้ชีวิตหยุดนิ่ง 

เลือกสู้ด้วยการขายแซนด์วิช จากวันนั้น (ปี 2540) ถึงวันนี้ (2564) ผ่านมา 24 ปี ใครจะคิดว่า ศิริวัฒน์ แซนด์วิช จะเดินต่อมาได้ยาวไกลขนาดนี้  

และการระบาดของไวรัสโควิด ทำเศรษฐกิจย่ำแย่ ธุรกิจเล็กใหญ่บางส่วนต้องปิดกิจการ เขาเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากคนอื่น  แต่สิ่งที่เขามี คือ ภูมิคุ้มกันชีวิต

แม้คนส่วนใหญ่จะรู้จัก ศิริวัฒน์ แซนด์วิช เป็นอย่างดีแล้ว ลองอ่านมุมคิดของเขาอีกสักครั้ง...

ในฐานะคนเคยเป็นหนี้ อยากให้เล่าถึงชีวิตตอนนั้นสักนิด ? 

ปีนี้ผมอายุ 72 หนี้สินหมดตอนอายุ 59-60 ปี ผมไม่ได้ขายแซนด์วิชแล้วเคลียร์หนี้หมด ยังมีคนเข้าใจแบบนั้น  เป็นไปไม่ได้หนี้ผมเกือบพันล้านบาท

ผมถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ กฎหมายล้มละลายใหม่ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จากเคยเป็นบุคคลล้มละลาย 10 ปีเหลือ 3 ปี ก็เลยได้รับอานิสงค์

ตอนนี้ผมก็ไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่มีหนี้สินแล้ว ผมทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ เลี้ยงลูกน้องแบบเศรษฐกิจพอเพียง

162760984244

(ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ หรือศิริวัฒน์ แซนด์วิช คนเคยเป็นหนี้พันล้านบาท สามารถปลดหนี้ได้ สิ่งสำคัญคือ สู้ชีวิต) 

เช่าพื้นที่บนบีทีเอส ขายของ จนโควิดระบาดรอบ 3 คนใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลง เคยมี 5 สาขา อารี ศาลาแดง ทองหล่อ เอกมัย และอ่อนนุช  ก็ปิดขายชั่วคราวที่สถานีเอกมัยกับทองหล่อ

สถานการณ์ก็เหมือนคนอื่น ยอดขาย SME ตก แต่ตั้งแต่ปี 2561 ผมเคยเอาสินค้าไปขายในห้างสรรพสินค้าอยู่หลายปี จำพวกข้าวเม่าอบกรอบ น้ำเม่าเบอร์รี่จากสกลนคร ฯลฯ กำไรไม่พอค่าใช้จ่าย ก็เลยเลิก

หันมาขายน้ำสมุนไพร โดยเน้นวัตถุดิบต้องมาจากประเทศไทย ขายขวดละ 20 บาทบนสถานีบีทีเอส จนมีสินค้าในกลุ่มเพิ่มขึ้น แต่เลือกสินค้าที่มีอายุยาวขึ้น จำพวกผลไม้อบแห้ง ลำไย สับปะรด กล้วย 

ถ้าตอนนั้นไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คงใช้หนี้ยังไม่หมด ?

ตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 17% ผ่านมา 4-5 ปีดอกเบี้ยทบต้น ถ้าตอนนั้นไม่ล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ ก็ไม่มีปัญญาใช้หนี้สิน 

ตอนนั้นผมเจ๊ง เพราะเอาเงินไปสร้างคอนโดเขาใหญ่ (ปี 2540) และกู้มาเล่นหุ้นที่เรียกว่า มาร์จิ้น กู้โบกเกอร์มาซื้อหุ้น เขาได้คอมมิชชั่นจากผม พอขายหุ้นในพอร์ตก็เอาเงินไปปลดหนี้ พอหุ้นในพอร์ตหมด หนี้ยังอยู่ ผมเจ๊ง

มีคำแนะนำสำหรับคนเป็นหนี้ไหม

ปีที่แล้วมีคนติดโควิดยอดสะสมสามพันกว่าคน แต่วันนี้ยอดสะสมคนติดโควิดห้าแสนกว่าคน

ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ ในระบบคือ กู้สถาบันการเงิน มีหลักทรัพย์ค้ำประกันบ้าง ไม่มีบ้าง ถ้าจะปลดหนี้ต้องไปคุยกับสถาบันที่เรากู้เงิน ตอนนี้ธุรกิจ SME แทบจะไม่มีรายได้ สถานการณ์ปีนี้แย่กว่าปีที่แล้ว ทำไมรัฐไม่พักชำระหนี้จาก 2 เดือนเป็น 6 เดือน

ส่วนคนอีกส่วนไม่ได้กู้สถาบันการเงิน กู้บริษัทฯภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย คิดดอกเบี้ยสูง ทั้งๆ ที่พวกเขากู้มาในอัตราดอกเบี้ยถูกมาก หลายบริษัทมีเครดิตออกหุ้นกู้ ดอกเบี้ย 3-4% แล้วเอามาปล่อย 18-20 %

ผมว่า รัฐบาลมีอำนาจ ควรเข้าไปจัดการ เพราะบริษัทเหล่านั้น ปล่อยส่วนต่างดอกเบี้ยสูงมาหลายปีแล้ว ช่วงเศรษฐกิจดีไม่ว่ากัน แต่คนทำมาหากินไม่ได้ รัฐต้องยื่นมือมาช่วย เอาแค่ให้บริษัทเจ้าหนี้บริหารแบบพออยู่ได้ ลดดอกเบี้ยให้คนทำธุรกิจขนาดเล็ก 

162761049553

(ศิริวัฒน์ตอนนี้ ขอแค่มีธุรกิจเล็กๆ เลี้ยงดูลูกน้องและครอบครัวได้)

เพราะส่วนต่างที่บริษัทเหล่านั้นมีกำไรคือ 10% แล้วชาวบ้านจะมีปัญหาจ่ายดอกเบี้ยหรือ ตกงานทำธุรกิจไม่ได้ ไม่มีรายได้ ภาครัฐควรเข้าไปคุยกับบริษัทเจ้าหนี้ลดภาระให้ประชาชน ไม่ใช่ว่าแจกเงินอย่างเดียว ไม่ไหวครับ 

รัฐต้องเข้าใจปัญหา ถึงบทต้องแทรกแซงก็ต้องทำ เพื่อความอยู่รอดของคนส่วนใหญ่ ถ้าเจ้าหนี้ไม่เมตตาลูกหนี้ คิดดอกเบี้ยเยอะๆ วันหนึ่งเจ้าหนี้ก็เจ๋ง ถ้ายังเป็นแบบนี้ ผมว่าปลายปีนี้หรือปีหน้า เหมือนปี 2540 เจ้าหนี้ก็จะลำบาก

เจ้าหนี้สายป่านยาวกว่าคงไม่เจ๊ง ?

บริษัทเจ้าหนี้วางแผนเป็นเดือน เป็นไตรมาส ยังมีทุนจากกำไรตอนเศรษฐกิจดี อย่างคนขับแท็กซี่ตอนนี้ เคยหาเงินได้วันละพันบาท เหลือวันละ 300-400 บาท จ่ายค่าแก๊ส ก็ไม่เหลืออะไร

ปัญหาคือ ลูกหนี้ แทบไม่เงินเหลือเลย ?   

สถานการณ์โควิดครั้งนี้มีผลต่อเศรษฐกิจ รุนแรงกว่าปี 2540 หลายเท่า เพราะเราไม่รู้ว่าโรคระบาดจะจบเมื่อไร ถึงแม้จะได้วัคซีนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าโควิดจะหายไปทันที อย่าลืมว่า ถึงตอนนั้นผู้ประกอบการก็สะบักสะบอม

ไม่ต้องถึงปลายปีนี้ วันนี้ชนชั้นกลางถึงคนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผมว่าเกินครึ่งไปต่อไม่ไหว แทบจะหมดกำลัง อย่างน้องผู้หญิงคนหนึ่งพยุงธุรกิจเล็กๆ ต่อไปไม่ไหว ต้องเอารถมาขาย เพื่อดูแลลูกน้อง

คุณลองคิดดู ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศ 30-40 ล้านคน ไม่มีเงินซื้อสินค้า ธุรกิจใหญ่ๆ ก็อยู่ไม่ได้ ตอนนี้ทั้งผัวและเมียบางครอบครัวถูกเลิกจ้าง เจ้าสัวที่มีสาขาธุรกิจเยอะๆ จะทำยังไง

คนไทยเกือบครึ่งประเทศมาถึงจุดพึ่งพิงตนเองไม่ได้ แถมมีหนี้สิน ในมุมของคุณมีทางออกไหม

ต้องคิดถึงคนที่หาเงินรายวันก่อน ผมไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน แต่ก็ต้องทำบ้าง รัฐบาลเป็นหนี้ใกล้ 60 %ของจีดีพีแล้ว คณะกรรมการที่กำหนดเพดานเงินกู้ของภาครัฐ ตามพรบ.การเงินการคลัง ปี 2561 ก็ต้องปรับเพดานเงินกู้ เพราะฉะนั้นเงินที่ออกให้ประชาชนต้องต่อยอดได้ เหมือนภาษิตว่า ถ้าจะช่วยคน ต้องสอนให้พวกเขาตกปลา

ผมว่าตอนนี้คนพร้อมที่จะทำงาน แต่ไม่มีโอกาส และกลัวติดโควิด ต้องทำให้ทุกคนมั่นใจว่าโควิดไม่ใช่เรื่องใหญ่ นั่นก็คือ วัคซีนต้องมาก่อน มาให้เร็วที่สุด ภายในสิ้นปีให้ฉีดได้ 70 % เหลืออีก 5 เดือนก็ครบปี เรื่องใหญ่ที่สุดคือ ฉีดวัคซีนให้เยอะๆ

แทนที่จะแจกเงิน น่าจะเอาเงินส่วนหนึ่งมาซื้อประกันชีวิตให้บุคลากรทางการแพทย์ ให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองประกันชีวิตวงเงิน 10 ล้านบาท รัฐก็จ่ายเบี้ยประกันให้บุคลากรทางการแพทย์ เพราะพวกเขาเสียสละเพื่อประชาชน

คุณว่า พยาบาลที่เสียชีวิตมีประกันชีวิตวงเงินสูงๆ แบบที่ผมเสนอไหม ด้วยเงินเดือนของพยาบาล ไม่น่าจะทำประกันชีวิตวงเงินสิบล้านบาทได้ เพราะไม่มีเงินพอจ่ายเบี้ยประกันแบบนี้ รัฐต้องทำตรงนี้

ตอนประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ล็อกดาวน์ไม่ให้คนออกจากบ้าน ประชาชนด่า เพราะเศรษฐกิจแย่ แต่เขาเลือกที่จะเอาชีวิตคนจีนให้รอดก่อน ถ้าประชาชนรอด รัฐบาลก็รอด

แต่คนไทยวันนี้ คนใช้แรงงานถูกปลดออกงาน ผู้ประกอบการSME ก็ไม่รอด ผมว่าวันนี้คนเป็นหนี้หลักแสนก็ล้มละลายได้โดยพฤตินัย เพราะหมดเนื้อหมดตัว ยืมญาติ ญาติก็ไม่มี เรื่องนี้ช้าไปแล้ว แต่ถามว่าแก้ไขได้ไหม...ได้ คนที่แก้ไขคือ ภาครัฐ

ในสถานการณ์แบบนี้ คุณเคยบอกว่า ให้เก็บเงินสดเอาไว้ อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ?

ที่ผมบอกว่า เก็บเงินสดเอาไว้ คือหาเงินได้เท่าไร ใช้จ่ายให้น้อย เก็บให้มาก อะไรไม่จำเป็นไม่ต้องซื้อ อย่างคนใช้แรงงานก็ต้องให้นายจ้างจ่ายเงินรายวันให้เลย

คนเป็นหนี้ต้องมีวิธีคิดแบบไหนถึงจะรอด

ต้องไปคุยกับเจ้าหนี้ ถ้ากู้สถาบันการเงินก็ให้ลดดอกเบี้ย หรือลดหนี้ ถ้าเป็นหนี้นอกระบบ ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวขอความเมตตา เพราะดอกเบี้ยสูงมาก

วันนี้ปัญหาบานปลาย แก้ปัญหาช้า แต่ไม่ใช่แก้ปัญหาไม่ได้ อยู่ที่รัฐบาลจะให้เจ้าหนี้ในระบบผ่อนผันให้ลูกหนี้ยังไง รัฐต้องทำให้ความหวังของประชาชนกลับมาก่อน เพราะประชาชนหมดหวังแล้ว แต่ยังไม่สิ้นหวัง

ผมเองก็ยังไม่อยู่ในสถานะช่วยเหลือสังคม แต่ผมมีแซนด์วิชที่ขายเหลือ ผมก็ให้พนักงานกินฟรี แต่ใครจะกินได้ทุกวัน ดังนั้นผมแช่ตู้เย็นในวันรุ่งขึ้น ผมก็เอาไปแจก แม้กระทั่งคนข้างถนน แต่วันนี้ผมไม่เหลือเยอะ เพราะยอดขายน้อย

การทำแซนด์วิชชิ้นเล็กๆ ทำให้คุณได้คิดอะไร

ภาษาอังกฤษเรียก survivor ก็คือ เพื่อความอยู่รอด ตอนนั้นคิดแค่ว่า อยู่รอดไปวันๆ ต่อมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 พึ่งตนเอง ไม่พึ่งคนอื่น ไม่คิดขยายใหญ่ เครดิตก็ไม่มี ญาติรวยเป็นพันล้านก็ไม่ช่วย 

ในที่สุด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พระพุทธเจ้าก็สอน นาทีนี้ผมไม่มีหนี้ แต่ผมไม่ได้รวยเหมือนสมัยก่อนปี 40 ตอนน้้นผมรวยกว่านี้เยอะ แต่มีหนี้เยอะ ตอนนี้ขายของได้มากได้น้อย ก็ขายไป ดีที่ได้เงินสด

162761102220

24 ปีกับศิริวัฒน์แซนด์วิช ผู้ชายยอดนักสู้

ตอนที่ร่ำรวยกับตอนพออยู่พอกิน คุณได้แง่คิดอะไรบ้าง

มันดีคนละอย่าง ตอนที่มีเงินเยอะๆ มีเครดิต ค่อนข้างประมาท แต่พอทำธุรกิจเจ๊งแล้ว ในที่สุดก็รู้ว่าเงินเยอะๆ เครดิตเยอะ ในที่สุดเราก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี ตอนนั้นโลภ ประมาท คิดว่าเราแน่ ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ เชื่อมั่นในตัวเองสูง หลังจากนั้นปรัชญาพอเพียงก็สอนว่า เราควรทำอะไรพอสมควร

ตอนฟองสบู่ยังไม่แตก ผมซื้อคอนโดในกรุงเทพฯไว้เยอะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ ก็ผ่อนส่ง ซื้อไว้เก็งกำไร ในที่สุดโดนยึดเพราะเราขาดผ่อน คอนโดราคาแพงสุดห้องละ 20 ล้านบาท

ในช่วงโควิด เศรษฐกิจย่่ำแย่ขนาดนี้ ในมุมคุณ อยากแนะนำอย่างไร

ผมพูดไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า มีเงินสดเก็บไว้ดีที่สุด จะฝากธนาคารหรือยังไงก็ได้ ถ้าคุณมีเงินสด จะใช้เมื่อไรก็ได้ แต่ถ้ามีทรัพย์สิน ซื้อมาแล้วจะขายยาก  ใครที่พูดว่าซื้อมาก็ขายได้อยู่ ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น เวลาจะขาย คุณจะถูกกดราคา 

ตอนนั้นผมเอาเพชรของภรรยาไปขาย คนซื้อจะเลือกแต่เม็ดโตๆ ส่วนเม็ดเล็กๆ ไม่เอา ราคาขายเหลือ 50% ซื้อมาห้าแสนบาท ขายเหลือสองแสนห้าหมื่นบาท ตอนนี้ก็เหลือเพชรเม็ดเล็กๆ เก็บไว้

สถานการณ์โควิดระบาดแบบนี้ เศรษฐกิจไม่ดี ผมว่าเก็บเงินสดไว้ดีกว่า ถ้าขายแรงงานวันต่อวัน ก็ขอให้นายจ้างจ่ายเงินสดทุกวัน เชื่อผมเถอะ เก็บเงินสดไว้ในช่วงนี้