หนุ่มสาว 'ข้ามเพศ' ก่อนไปฉีด 'วัคซีนโควิด' ต้องงดยาอะไรบ้าง?

หนุ่มสาว 'ข้ามเพศ' ก่อนไปฉีด 'วัคซีนโควิด' ต้องงดยาอะไรบ้าง?

ไม่ใช่แค่ชายจริงหญิงแท้ที่กังวลเรื่องฉีด "วัคซีนโควิด" แต่กลุ่มบุคคล "ข้ามเพศ" ที่ต้องกินยาฮอร์โมนเป็นประจำ ก็มีความกังวลเช่นกัน ดังนั้นก่อนไปฉีด "วัคซีนโควิด" กลุ่มเพศทางเลือกต้องรู้วิธีปฏิบัติตัว

ประเทศไทยยังคงเดินหน้าปูพรมฉีด "วัคซีนโควิด" อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารสุขและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนออกมาให้ทราบแล้ว แต่กลุ่มบุคคล "ข้ามเพศ" (Transgender) หรือเพศทางเลือก อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงชัดเจนเท่าที่ควร

ดังนั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาไปหาคำตอบว่า หากคุณเป็นหนุ่มสาว "ข้ามเพศ" จะต้องงดยาอะไรไหม? หรือต้องเตรียมตัวอย่างไร? ก่อนไปฉีด "วัคซีนโควิด"

1. ใช้ฮอร์โมนข้ามเพศเหมาะสม ก็ฉีดวัคซีนโควิดได้

มีข้อมูลจาก รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โดยทั่วไป บุคคลข้ามเพศที่มีสุขภาพแข็งแรงดี และใช้ฮอร์โมนข้ามเพศอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ ควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. ต้องหยุดยาฮอร์โมนข้ามเพศ ก่อนฉีดวัคซีนไหม?

ไม่มีข้อแนะนำให้หยุดใช้ฮอร์โมนข้ามเพศก่อนการรับวัคซีนโควิด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงปฏิกิริยาของวัคซีนกับฮอร์โมนข้ามเพศ

3. ป่วยโรคเกล็ดเลือดต่ำ/มะเร็ง ควรฉีดวัคซีนไหม?

หากเป็นบุคคลข้ามเพศที่มีความเสี่ยงจำเพาะ เช่น ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับ "วัคซีนโควิด"

4. กังวลเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ควรทำยังไงก่อนไปฉีดวัคซีน?

สำหรับใครที่กังวลเรื่อง "ลิ่มเลือดอุดตัน" ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสุขภาพของบุคคลข้ามเพศว่า ควรเลือกใช้ฮอร์โมนชนิดใดที่ส่งผลต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันน้อยที่สุด

5. ใช้ยาต้านไวรัส HIV แล้วฉีด "วัคซีนโควิด" ได้ไหม?

ในกรณีที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือได้รับยาสำหรับการป้องกันก่อนหรือหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ART,PrEP หรือ PEP) ยังไม่พบข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยากับวัคซีน จึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ปกติ 

6. เช็คอาการผิดปกติหลักฉีด "วัคซีนโควิด"

กลุ่มบุคคลข้ามเพศที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว หลังฉีดวัคซีนหากเกิดอาการแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก ขาบวม ปวดท้องรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

----------------------------

ที่มา : รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (12 มิถุนายน 2564) , springnews