'วันสุนทรภู่' 2565 เปิดผลงานกวีเอก ผู้ได้รับยกย่องจากยูเนสโก

'วันสุนทรภู่' 2565 เปิดผลงานกวีเอก ผู้ได้รับยกย่องจากยูเนสโก

วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" ผู้ซึ่งที่ได้รับการยกย่องจาก "ยูเนสโก" ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 ที่ได้รับเกียรตินี้ ชวนส่องผลงานชื่อดังของท่านกว่า 20 ผลงาน

เนื่องใน "วันสุนทรภู่" 2565 ที่ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ชวนมารู้จักประวัติสุนทรภู่แล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปส่องผลงานชื่อดังของท่าน ที่มีมากกว่า 20 ผลงาน และยังคงถูกนำมาสร้างสรรค์ใหม่อยู่ทุกยุคทุกสมัย เพื่อสืบต่อผลงานเหล่านั้นให้ลูกหลานชาวไทยได้ร่วมรำลึกถึง

1. “สุนทรภู่” เกิดที่วังหลัง กรุงเทพฯ

สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของ “พระราชวังหลัง” ซึ่งก็คือบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม

ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น “สุนทรภู่” จึงได้อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'วันสุนทรภู่' 26 มิถุนายน เปิดประวัติกวีดัง ไม่ใช่คนระยอง?

162451632844

 

2. จาก "สุนทรภู่" สู่ "พระสุนทรโวหาร" 

ในประวัติบางช่วงบางตอนของชีวิตท่าน มีการบันทึกไว้ว่า "สุนทรภู่" ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ ครั้งหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงแต่งกลอนบทละครเรื่อง “รามเกียรติ์​” แล้วเกิดติดขัด ไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น “ขุนสุนทรโวหาร”  

จากนั้นไม่นานสุนทรภู่ได้เลื่อนยศเป็น “หลวงสุนทรโวหาร” ได้รับพระราชทานบ้านหลวงอยู่ที่ท่าช้าง ใกล้กับวังท่าพระ และได้เป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่ง “ขุนช้างขุนแผน” ขึ้นมาใหม่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” 

 

3. "สุนทรภู่" บุคคลสำคัญของโลก (ด้านวรรณกรรม)

ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบวันเกิด 200 ปีของ "สุนทรภู่" องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 และเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

ในปีนั้น สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี" และมีการจัดตั้ง "สถาบันสุนทรภู่" ขึ้น เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

4. อนุสาวรีย์และหุ่นปั้น "สุนทรภู่"

ต่อมาพบว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์และหุ่นปั้นของสุนทรภู่ ขึ้นมาหลายแห่ง ได้แก่ 

- อนุสาวรีย์สุนทรภู่ เมืองแกลง : สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกที่ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านบิดาของสุนทรภู่ โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2498 อันเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีการถึงแก่อนิจกรรมของสุนทรภู่ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2513

ภายในอนุสาวรีย์มีหุ่นปั้นของสุนทรภู่ และตัวละครในวรรณคดีเรื่องเอกของท่านคือ พระอภัยมณี ที่ด้านหน้าอนุสาวรีย์ มีหมุดกวี หมุดที่ 24 ปักอยู่

162451633014

- อนุสาวรีย์สุนทรภู่ เมืองเพชรฯ : สร้างขึ้นที่ท่าน้ำหลังวัดพลับพลาชัย ต.คลองกระแชง  อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่สุนทรภู่ได้เคยมาตามนิราศเมืองเพชร อันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน และเชื่อว่าเพชรบุรีเป็นบ้านเกิดของมารดาของท่านด้วย

- อนุสาวรีย์สุนทรภู่ กรุงเทพฯ : ตั้งอยู่ที่วัดศรีสุดาราม บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เชื่อว่าท่านได้เล่าเรียนเขียนอ่านเมื่อวัยเยาว์ที่นี่

- หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ นครปฐม: พบรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ตลอดจนหุ่นขี้ผึ้งในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

- พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ : กุฏิสุนทรภู่ หรือพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ตั้งอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ถ.มหาไชย กรุงเทพฯ เป็นอาคารซึ่งปรับปรุงจากกุฏิที่สุนทรภู่เคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่นี่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และมีการจัดกิจกรรมวันสุนทรภู่เป็นประจำทุกปี

5. ผลงานสุนทรภู่ คงอยู่ส่วนหนึ่ง สูญหายจำนวนมาก

งานประพันธ์ของ "สุนทรภู่" เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นตามจำนวนเท่าที่ค้นพบ ก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าสุนทรภู่เป็น "นักแต่งกลอน" ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก ผลงานของสุนทรภู่เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) : แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง

- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) : แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชา

- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) : แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) : แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) : แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของพัด ภู่เรือหงส์ บุตรของสุนทรภู่

- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) : แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์

- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) : แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท

- นิราศพระปฐม (พ.ศ. 2385) : เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ที่เมืองนครชัยศรี

- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) : แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว  เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี

- นิทานโคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่ เป็นเรื่องราวของ "โคบุตร" ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์

- นิทานพระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่ง ๆ หยุด ๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน

- นิทานพระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง16  กาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385

- นิทานลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง

- นิทานสิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว

- สุภาษิตสวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

- เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

- สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่ เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่าน่าจะเป็นผลงานของภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่เอง

- บทละครอภัยนุราช : เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

- บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม

- เสภาพระราชพงศาวดาร ไม่มีระบุรายละเอียด

- บทเห่กล่อมพระบรรทม : น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ

  • เห่เรื่องพระอภัยมณี
  • เห่เรื่องโคบุตร
  • เห่เรื่องจับระบำ
  • เห่เรื่องกากี