'วันวิสาขบูชา 2566' ส่อง 3 สังเวชนียสถาน ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

'วันวิสาขบูชา 2566' ส่อง 3 สังเวชนียสถาน ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

ชวนชาวพุทธรู้ลึก "วันวิสาขบูชา 2566" ผ่านสังเวชนียสถาน 3 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ, ตรัสรู้, ปรินิพพาน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหมือนกันทั้ง 3 เหตุการณ์ แต่ต่างปีกัน

ชวนพุทธศาสนิกชนไป "เที่ยวทิพย์" ชมสังเวชนียสถาน 3 แห่ง (จากทั้งหมด 4 แห่ง) ที่เกี่ยวโยงกับ "วันวิสาขบูชา 2566" และพุทธประวัติของ "พระพุทธเจ้า" ณ ประเทศอินเดียและเนปาล โดยเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ และสถานที่ปรินิพพาน กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมมาให้รู้จักกัน ดังนี้

 

"วันวิสาขบูชา" กับ 3 เหตุการณ์สำคัญ

คำว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจากภาษาบาลี "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" เมื่อตีความหมายเป็นภาษาไทยแล้ว หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วันวิสาขบูชา มีความสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด , ตรัสรู้ คือสำเร็จ , ปรินิพพาน คือดับ เกิดขึ้นในวันที่ตรงกันทั้ง 3 คราว (แต่ต่างปีกัน) คือ

1. เจ้าชายสิทธัตถะ "ประสูติ" ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี (ปัจจุบันคือลุมพินีวัน ประเทศเนปาล)

2. เจ้าชายสิทธัตถะ "ตรัสรู้" เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี (ปัจจุบันคือพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)

3. พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ "ปรินิพพาน" เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันคือเมืองกุสีนคร แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

"ลุมพินีวัน" ประเทศเนปาล : สถานที่ประสูติ 

ลุมพินีวัน เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ เป็นสถานที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็น "พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นสังเวชนียสถานเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย

แต่เดิมที่นี่เป็นสวนป่าสาธารณะที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองเทวทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราช ได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่ มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า “เสาอโศก” ที่จารึกข้อความเป็นอักษรพราหมีว่า “พระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้” 

ปัจจุบันลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยทั่วไปที่นี่มีสภาพเป็นชนบท มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก มีวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้ง “วัดไทยลุมพินี” ด้วย

162186718973

"พุทธคยา" ประเทศอินเดีย : สถานที่ตรัสรู้ 

พุทธคยา เป็น 1 ใน 4 ของสังเวชนียสถานเช่นกัน ตั้งอยู่ที่ เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า พระศาสดาของศาสนาพุทธ นับตั้งแต่ในอดีต โพธคยาได้สถานะเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาต่อชาวฮินดูและชาวพุทธมาโดยตลอด

ชาวพุทธทั่วโลกปรารถนาไปสักการะให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่ละปีพุทธคยามีผู้ไปเยือนมากกว่าล้านคน โดยมีศาสนสถานสำคัญสูงสุดของพุทธคยา ก็คือ "พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์" ณ จุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ใต้ต้นโพธิ์ ริมแม่น้ำเนรัญชรา (ซึ่งแห้งเหือดไปนานแล้ว) ซึ่งสถานที่ดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยความสำคัญและความเก่าแก่เกือบ 2,600 ปี

162186719130

"กุสินารา" ประเทศอินเดีย : สถานที่ปรินิพพาน

กุสินารา หรือ กุศินคร เป็นอีกหนึ่งสังเวชนียสถานที่สำคัญในพุทธประวัติ ตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำเมืองปาวา เป็นที่ตั้งของ "สาลวโนทยาน" หรือ "ป่าไม้สาละ" ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา ในเขตจังหวัดเทวริยา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

สาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่า "ผุสสะ" เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์

ปัจจุบันกุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญคือ "สถูปใหญ่" ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมี "วิหารปรินิพพาน" ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน อยู่ภายใน และมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย

162186719312