ทำไม "ค่าไฟ" แพงผิดปกติในช่วง "หน้าร้อน" การไฟฟ้าฯ มีคำตอบ

ทำไม "ค่าไฟ" แพงผิดปกติในช่วง "หน้าร้อน" การไฟฟ้าฯ มีคำตอบ

ทำไมค่าไฟเดือนมีนาคม-เมษายนแพง? ชวนหาคำตอบกรณี "ค่าไฟแพงผิดปกติ" ในช่วง Work from home ไขข้อข้องใจจาก "การไฟฟ้า" ออกมาเคลียร์ชัด!

ประเทศไทยยังคงต้องอยู่กับสถานการณ์ "โควิด-19" กันต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยหนึ่งในวิธีป้องกันการแพร่ระบาดคือ การขอความร่วมมือให้ประชาชน Work from home ลดการเดินทาง ลดการแพร่ระบาดในที่ทำงาน แต่ความเดือดร้อนที่ตามมา คงหนีไม่พ้น "ค่าไฟ" ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน

จากกรณีดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจ Biz Insight ได้สอบถามไปยัง จาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการและโฆษกการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งได้ให้คำตอบในหลายๆ ประเด็น ดังนี้

1. Work from Home ทำไม? "ค่าไฟแพงผิดปกติ"

สาเหตุที่ค่าไฟแพงนั้น รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ อธิบายว่าเนื่องจากเวลาที่ประชาชนอยู่บ้าน Work from Home ก็จะมีการเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟแพง

โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนแบบนี้ หลายบ้านก็จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าตัวที่กินไฟมากๆ อยู่หนึ่งอย่างนั่นคือ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด รองลงมาคือ ตู้เย็น และทีวี ที่มีการใช้บ่อย ใช้งานเป็นเวลานานๆ ต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

161959472286

 

2. บางบ้านใช้แอร์ไม่เยอะ แต่ทำไมค่าไฟพุ่งสูงเป็นเท่าตัว?

เนื่องจากว่าโครงสร้างอัตราค่าไฟของประเทศไทย สำหรับบ้านเรือนทั่วไป กำหนดให้ใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟแบบ Progressive Rate หรือ อัตราก้าวหน้า คือ ค่าไฟฟ้าขึ้นกับหน่วยการใช้ไฟฟ้า ยิ่งใช้ไฟฟ้าหลายหน่วย หน่วยหลังๆ ก็จะถูกคิดค่าไฟต่อหน่วยแพงขึ้น ก็ยิ่งเสียเงินค่าไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้นหากใช้ไฟเยอะๆ อัตราค่าไฟก็จะยิ่งแพง  

สาเหตุที่เมืองไทยใช้อัตรานี้เพราะต้องการสนับสนุนให้มีการใช้ไฟกันอย่างประหยัด เพราะฉะนั้น การใช้ไฟฟ้าหน่วยปลายๆ ก็จะมีราคาต่อหน่วยที่แพงขึ้น

161959472394

161959472564

 

3. ในยุค "โควิด-19" รัฐจะมีมาตรการ "ลดค่าไฟ" หรือไม่?

การไฟฟ้านครหลวง สังกัดกระทรวงมหาดไทย ยินดีที่จะปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐ และดำเนินการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนคนไทยอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้การกำหนดส่วนลดค่าไฟฟ้าต่างๆ ต้องรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หารือกัน หากจะมีการตั้งมาตรการส่วนลดจริง ก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

4. วิธีใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ประหยัด "ค่าไฟ"

4.1) เครื่องปรับอากาศ ต้องตั้งอุณหภูมิ 26 องศาฯ : เรื่องการตั้งอุณหภูมิแอร์เป็นเรื่องสำคัญ การไฟฟ้านครหลวงแนะนำให้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 26 องศาฯ เพราะว่าอุณหภูมิ 26 องศาฯ เป็นอุณหภูมิเหมาะสมกับร่างกาย

ถ้าเปิดที่ 26 องศาฯ แล้วรู้สึกว่ายังไม่ค่อยเย็น แนะนำให้เปิดพัดลมช่วย เพราะพัดลมจะทำให้เกิดความเร็วลมหมุนเวียนภายในห้อง ทำให้รู้สึกเย็นสบายขึ้น และพัดลมก็ไม่กินไฟ ดังนั้นจึงทำให้ค่าไฟถูกลงเยอะ

161960908968

4.2) ล้างเครื่องปรับอากาศปีละ 2 ครั้ง : ต้องหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี เพราะการล้างทำความสะอาดภายในเครื่องปรับอากาศ จะทำให้ตัวเครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ทำงานหนักเกินไป จึงเป็นการช่วยประหยัดไฟได้ โดยช่วยลดค่าไฟลงได้ 5%-7%

4.3) อย่างเปิดตู้เย็นบ่อยๆ ตรวจสอบขอบยางประตูตู้เย็น : หากเปิดปิดตู้เย็นทั้งวัน หรือเปิดประตูตู้เย็นค้างไว้นานๆ  ความเย็นก็ไหลออกมาหมด ทำให้เครื่องทำงานหนักและกินไฟมากขึ้น ดังนั้นไม่ควรเปิดตู้เย็นค้างนาน ไม่ควรเปิดปิดบ่อยๆ ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นจนเกินปริมาณที่ระบุ และควรตรวจสอบขอบยางประตูตู้เย็นอยู่เสมอ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากขอบยางปิดไม่สนิทก็จะทำให้ตู้เย็นกินไฟมากเช่นกัน

4.4) อย่าเปิดทีวีพร้อมกันหลายเครื่อง : หลายบ้านมีทีวีหลายเครื่อง แล้วเปิดทีวีพร้อมกันแบบแยกกันดู ก็ทำให้เปลืองไฟ วิธีประหยัดไฟคือ อาจเปิดทีวีเพียงเครื่องเดียวแล้วนั่งดูด้วยกัน ก็จะช่วยประหยัดไฟได้ หรือสลับการใช้งานผลัดเปลี่ยนกันไปจะดีกว่า