ทำไม 'ค่าไฟ' แพง? เปิดวิธีคำนวณพร้อมดูอัตรา ‘ค่าไฟฟ้า’ ในบ้าน

ทำไม 'ค่าไฟ' แพง? เปิดวิธีคำนวณพร้อมดูอัตรา ‘ค่าไฟฟ้า’ ในบ้าน

ชวนหาคำตอบว่าทำไม "ค่าไฟฟ้า" ถึงแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อการ Work From Home ในยุคโรคระบาดทำให้คนไทยต้องใช้ "ไฟฟ้า" มากขึ้นกว่าเดิมเกือบเท่าตัว

ในยุคโรคระบาด "โควิด-19" ทำให้เราทุกคนต้องหยุดการเดินทางและกิจกรรมนอกบ้านเกือบทุกอย่าง กลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านกันมากขึ้น รวมถึงการทำงานของบางอาชีพก็ปรับเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านหรือ Work From Home ที่ต้องใช้ไฟฟ้าที่บ้านแทบทั้งวันทำเอาหลายคนโอดครวญว่า "ค่าไฟ" แพงขึ้นแบบผิดปกติ ทั้งๆ ที่หน่วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาไม่เท่าไหร่ จึงเกิดคำถามตามมาว่าทำไม "ค่าไฟฟ้า" ถึงแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด การไฟฟ้ามีการคิดคำนวณค่าไฟยังไงกันแน่?

เรื่องนี้ทาง "การไฟฟ้านครหลวง" และ "การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค" ได้ออกมาให้คำตอบกับประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงในช่วงนี้ว่า การไฟฟ้ามีการคิดคำนวณ "ค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้า" มาตลอด หากใช้เยอะก็จ่ายเยอะ โดยมีตัวแปรสำคัญก็คือ "หน่วยไฟฟ้าที่ใช้" ซึ่งจะมีการคิดค่าไฟเป็นขั้นบันไดโดยแต่ละขั้นก็มีราคาที่แตกต่างกัน หากใช้ไฟฟ้ามากขึ้นก็จะถูกนำไปคิดราคาในช่วงหน่วยไฟฟ้าที่สูงขึ้น ค่าไฟจึงแพงแบบก้าวกระโดด

บวกกับสภาพอากาศในประเทศไทยที่ร้อนขึ้น ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างทำงานหนักและกินไฟมากขึ้นตามไปด้วย เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องฟอกอากาศ พัดลมไอน้ำ เป็นต้น ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีตัวคอมเพลสเซอร์ในการทำงานจะกินไฟอยู่แล้วด้วย สังเกตได้ว่าช่วงหน้าร้อนมิเตอร์ไฟฟ้าจะหมุนเร็วกว่าปกติ

158746808272

รวมถึงการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มากเกินพอดี เช่น เปิดตู้เย็นบ่อยๆ ทั้งวัน, ยัดของใส่ตู้เย็นเยอะเกินไป, เปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน เหล่านี้ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากินพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เป็นต้น เอาเป็นว่า.. ถ้าใครยังไม่ค่อยเข้าใจ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปส่องราคาค่าไฟต่อหน่วย และวิธีการคิดคำนวณค่าไฟในแต่ละแบบ เพื่อให้คุณคิดค่าไฟด้วยตัวเองได้ และสามารถวางแผนการใช้ไฟฟ้าในเดือนต่อไปให้ประหยัดมากขึ้น (หมายเหตุ: เป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉพาะสำหรับใช้ในบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น)

*ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน และติดตั้งเครื่องวัดฯ ขนาดไม่เกิน 5 แอมแปร์ ได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าในเดือนนั้น*

1. หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน

สำหรับค่าไฟฟ้าในอัตราปกติแบบก้าวหน้า หากการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะมีอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละขั้น ดังนี้ 

- 15 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-15) หน่วยละ 2.3488 บาท

- 10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 16-25)  หน่วยละ 2.9882 บาท

- 10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 26-35)  หน่วยละ  3.2405 บาท

- 65 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 36-100)  หน่วยละ  3.6237 บาท

- 50 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 101-150)  หน่วยละ  3.7171 บาท

2. หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน

สำหรับค่าไฟฟ้าในอัตราปกติแบบก้าวหน้า หากการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน จะมีอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละขั้น ดังนี้ 

- 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ  3.2484 บาท

- 250 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ  4.2218 บาท

- หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป ราคาหน่วยละ  4.4217 บาท

158746812431

3. ค่าไฟฟ้าอัตราตามช่วงเวลาการใช้ (TOU)

สำหรับแรงดัน 12-24 กิโลโวลต์ หากใช้ไฟฟ้าช่วง On Peak จะมีราคาหน่วยละ 5.1135 บาท ส่วนในช่วง Off Peak ราคาหน่วยละ 2.6037 บาท

สำหรับแรงดันต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ หากใช้ไฟฟ้าช่วง On Peak จะมีราคาหน่วยละ 5.7982 บาท ส่วนในช่วง Off Peak ราคาหน่วยละ 2.6369 บาท

(หมายเหตุ: On Peak คือ 09.00 - 22.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ ส่วน Off Peak คือ 22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์ - วันอาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ วันหยุดราชการตามปกติ)

158746808146

4. วิธีคำนวณค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย 

ยกตัวอย่างวิธีการคิดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย หากใช้ไฟฟ้า 100 หน่วย สามารถคำนวณ และคิดค่าไฟโดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้

ส่วนที่1 คิดค่าไฟฟ้าฐาน 

- 15 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-15) หน่วยละ 2.3488 บาท แปลว่าขั้นนี้มีค่าไฟอยู่ที่ 15 x 2.3488 = 35.23 บาท 

- 10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 16-25)  หน่วยละ 2.9882 บาท แปลว่าขั้นนี้มีค่าไฟอยู่ที่ 10 x 2.9882 = 29.88 บาท 

- 10 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 26-35)  หน่วยละ  3.2405 บาท แปลว่าขั้นนี้มีค่าไฟอยู่ที่ 10 x 3.2405 = 32.41 บาท 

- 65 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 36-100)  หน่วยละ  3.6237 บาท แปลว่าขั้นนี้มีค่าไฟอยู่ที่ 65 x 3.6237 = 235.54 บาท 

รวมทั้งหมด = 333.06

มีค่าค่าบริการอีก 8.19 บาท

ดังนั้นสรุปว่าค่าไฟฟ้าฐาน (ค่าพลังงานไฟฟ้า+ค่าบริการ) จึงอยู่ที่ 341.25 บาท

158746808132

ส่วนที่2 คิดค่า Ft

ค่า Ft คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นค่าที่กำหนดขึ้นเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า เช่น ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง, ค่าซื้อไฟฟ้า, ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ค่า Ft นี้จะเป็นค่าบวกหรือค่าลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา โดยจะมีการปรับทุก 4 เดือนซึ่งจะถูกปรับค่าทุกๆ 4 เดือน

สำหรับช่วงนี้มีการกำหนดค่า Ft อยู่ที่ -11.60 บาท เมื่อนำค่าไฟฟ้าฐานมาหักลบกับค่า Ft ก็จะได้ดังนี้ 341.25 - 11.60 = 329.65 

ส่วนที่3 ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

ค่าภาษี 7% คิดคำนวณจาก [ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft] x [7/100] = 23.08 

จากนั้นนำค่าในส่วนที่2 มาบวกกับค่าภาษี ก็จะได้ค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายจริง คือ 329.65 + 23.08 = 352.73 บาท (*หมายเหตุ: จำนวนนี้ยังไม่รวมส่วนลด 3% จากนโยบายรัฐบาล เป็นราคาประมาณการเท่านั้น) หรือถ้าอยากให้ง่ายกว่านี้ ก็สามารถเข้าไปใช้ระบบคำนวณค่าไฟฟ้าแบบออนไลน์ได้ที่ การคิดค่าไฟฟ้าประเภทต่างๆ การไฟฟ้านครหลวง และ ระบบประมาณการค่าไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

--------------------

อ้างอิง: 

https://www.mea.or.th/profile/109/111

https://www.mea.or.th/aboutelectric/116/280/form/11

https://www.pea.co.th/Portals/0/Document/attachment/Knowledge/knowft.pdf

https://www.pea.co.th/Portals/0/demand_response/Electricity%20Reconsider.pdf?ver=2018-10-01-155123-370