‘แมว’ มงคลโบราณ 5 สายพันธุ์ไทยแท้

‘แมว’ มงคลโบราณ 5 สายพันธุ์ไทยแท้

เปิดประวัติ “แมว” มงคลโบราณพันธุ์ไทยแท้ 5 สายพันธุ์ ลักษณะเด่นที่มาพร้อมความเชื่อที่ได้รับกาารบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ ค้นพบโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ

เทศกาลไทยๆ ประเพณี สงกรานต์ แบบนี้ ชวนทำความรู้จักเรื่องราวไทยๆ กับ แมวมงคลโบราณพันธุ์ไทยแท้ สัตว์เลี้ยงแสนน่ารักอีกหนึ่งประเภทสำหรับใครหลายๆ คน การเริ่มต้นหาสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน หรือร่วมกันดูแลสัตว์เลี้ยง ยังเป็นกิจกรรมดีๆ ที่สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ เหมาะสำหรับ วันครอบครัว 14 เมษายน ในช่วงวันหยุดแบบนี้ไปในตัว

สำหรับคนที่กำลังจะตัดสินใจเป็น 'ทาสแมว' กำลังคิดว่าจะเลี้ยงแมวสายพันธุ์ไหนดี ลองทำความรู้จักประวัติความเป็นมาและลักษณะ แมวมงคลโบราณพันธุ์ไทยแท้ 5 สายพันธุ์ ซึ่งต่างก็มีลักษณะเด่นน่าชมน่าเลี้ยงแตกต่างกันไป

161838826160

วิเชียรมาศ หรือ แมวแก้ว

 1. แมววิเชียรมาศ 

แมววิเชียรมาศ  ปรากฏหลักฐานในสมุดข่อยโบราณของไทย บางตำราเรียก ‘แมวแก้วเป็นแมวไทยโบราณ มักเลี้ยงไว้ในพระราชสำนักตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะถือว่าเป็นแมวนำโชคลาภ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีโอกาสได้เลี้ยง  เนื่องจากมีมูลค่าสูง ซื้อขายได้ถึงหนึ่งแสนตำลึงทอง ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ถูกนำไปพม่าเพราะเห็นว่าเป็นทรัพย์สินมีค่า จึงสูญหายไปจากไทย

ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม สำรวจเมืองอยุธยาที่ร้างแล้ว ได้พบสมุดข่อยที่ไม่ถูกเผาเอ่ยถึงแมวนี้ จึงให้คนไปเสาะหาจนพบ จึงได้แมวพันธุ์วิเชียรมาศกลับสู่ไทย

แมววิเชียรมาศมีลักษณะเด่น คือมี ตาสีฟ้าสดใสเหมือนตาฝรั่ง ขนลำตัวสั้นแน่นโทนสีขาวแกมสีน้ำตาลอ่อน  และมีแต้มสีเข้มที่เรียกว่า แต้มสีครั่ง (Seal Point) หรือสีน้ำตาลไหม้ ได้แก่ ที่บริเวณหน้า หูทั้งสองข้าง ขาทั้งสี่ข้าง หาง และที่อวัยวะเพศ รวม 9 ตำแหน่ง, ลักษณะ หาง ยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง, ขา ยาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว

แมววิเชียรมาศมีชื่อเสียงมากในต่างประเทศ ชาวต่างชาติเรียกแมวไทยลักษณะนี้ว่า Siamese Cat

ประเทศไทยเคยใช้แมววิเชียรมาศเป็น แมสคอต (mascot) หรือสัญลักษณ์นำโชคในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ปี 2528 ที่กรุงเทพมหานคร และปี 2538 ที่จังหวัดเชียงใหม่

161838865746

แมวสีสวาด หรือ แมวโคราช

 2. แมวสีสวาด 

แมวสีสวาด (Silver Blue) มีถิ่นกำเนิดที่ อ.พิมาย  จ.นครราชสีมา แมวพันธุ์นี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะแมวสีสวาด แมวโคราช แมวมาเลศ หรือแมวดอกเลา

ชื่อแมวโคราช  เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยใช้แหล่งกำเนิดของแมวเป็นชื่อเรียกพันธุ์แมว

มีเรื่องเล่ามากมายหรือเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับแมวโคราช รวมถึงตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงการที่แมวโคราชมีหางหงิกงอมากเท่าใดจะมีโชคลาภมากเท่านั้น แม้ว่าลักษณะหางหงิกงอไม่ใช่มาตรฐานพันธุ์ตามหลักของ CFA ก็ตาม

คนไทยบางกลุ่มเรียกแมวโคราชว่า ‘แมวสีสวาด เนื่องจากสีขนมีสีเหมือนเมล็ดของต้นสวาด คนโบราณมีความเชื่อว่าแมวสีสวาดเป็นแมวนำโชคลาภของคนโคราช และคนเลี้ยงทั่วๆ ไป จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิ์มงคลแก่ผู้เลี้ยง

  • เพราะมีสีขนเหมือนสีเมล็ดสวาดซึ่งมีลักษณะคล้ายสีเมฆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
  • ส่วนศีรษะ ดูจากด้านหน้าเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่และแบน หูตั้ง ปลายหูมน โคนหูใหญ่
  • ผิวหนังบริเวณจมูกและริมฝีปากเป็นสีเงินหรือสีม่วงอ่อน
  • แมวสีสวาดตัวผู้ หน้าผากมีรอยหยัก ทำให้เป็นรูปหัวใจชัดเจนมากขึ้น
  • ตามีสีเหลืองอมเขียวเปรียบประดุจข้าวกล้า ดังนั้นจึงได้รับการคัดเลือกให้ใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในสมัยโบราณ

มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวโคราชในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในระหว่างพ.ศ.1893-2310 กล่าวถึงแมวให้โชคลาภที่ดี 17 ตัวของประเทศไทย มีชื่อแมวโคราชรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันสมุดข่อยนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

แมวโคราชเคยได้รับการนำไปเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกที่รัฐออริกอน โดย Cedar Glen Cattery ได้รับมาจากพี่น้องชื่อ นารา (Nara) และ ดารา (Darra) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 นักผสมพันธุ์แมวโคราชและแมวไทย (วิเชียรมาศ)ชาวรัฐแมริแลนด์ ได้นำแมวโคราชเข้าประกวดในงานประจำปีและ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จน แมวโคราชเป็นที่รู้จักและได้รับนิยมของชาวต่างประเทศมาก

แมวโคราชเคยได้รับเลือกให้เป็น แมสคอต (mascot) หรือสัญลักษณ์นำโชคในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ปี 2550 ชื่อ แคนเมื่อครั้งที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเจ้าภาพ และยังใช้เป็นทั้งสัญลักษณ์และฉายาของสโมสรฟุตบอลนครราชสีมาในชื่อ ‘สวาดแคท

แมวโคราชได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ประจำชาติไทยในปีพ.ศ.2552

161838876966

แมวศุภลักษณ์ หรือ แมวทองแดง

 3. แมวศุภลักษณ์ 

แมวศุภลักษณ์  ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมวทองแดง (Copper)  เนื่องจากมีขนสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงเสมอกันทั้งตัว ตามีสีเหลืองเป็นประกาย  หรือสีอำพัน  หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง บริเวณตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้า หู ปลายขา และ หาง มีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วๆไป แมวพันธุ์ศุภลักษณ์จึงมีสีสะดุดตาอย่างมาก และ มีความสวยงาม สมกับคำว่า "ศุภลักษณ์" ที่แปลว่าลักษณะที่ดี

แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย รักอิสรเสรีเหนืออื่นใด ชอบสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว กับคนแปลกหน้าแล้วดูจะเป็นแมวที่ร้ายพอสมควร

ตำราดูลักษณะแมวของวัดอนงคาราม ระบุถึง่แมวศุภลักษณ์ไว้ว่า

เฉิดโฉมศุภลักษณ์ล้ำ    วิลาวรรณ

สีดังทองแดงฉัน    เพริศแพร้ว

แสงเนตรเฉกแสงพรร    โณภาส

กันสรรพโทษแคล้ว    สิ่งร้ายคืนเกษม

ยังมีแมวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแมวศุภลักษณ์ของไทยที่ว่ากันว่าติดตามเจ้าของที่เป็นคนไทยซึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกในประเทศพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ต่อมาดร.โจเซฟ ซีทอมสัน (Dr. Joseph Thomson) ชาวอเมริกัน ได้นำลูกแมวจากประเทศพม่าไปพัฒนาสายพันธุ์ และจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษ ด้วยเห็นว่ามีรูปร่างลักษณะดี ในชื่อ แมวพม่า (Burmese Cat) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับแมวศุภลักษณ์ของไทย และเป็นที่รู้กันว่า ต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทย

161838892810

แมวโกนจา มีลักษณะคล้ายแมว Bombay

 4. แมวโกนจา 

แมวโกนจา หรือ โกญจา เป็นแมวอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ สีดำสนิทตลอดทั้งตัว ขนสั้น ไม่มีสีอื่นใดปะปนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลักษณะเป็นขนเส้นเล็กละเอียดนุ่มและเรียบตรงทั้งลำตัว ส่วนหัวกลมแต่ไม่โต มีปากเรียวแหลม หูตั้ง นัยตาเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือทองอ่อน อาจเปรียบได้กับสีดอกบวบแรกแย้ม หรือทองดอกบวบ รูปร่างสะโอดสะองคล่องแคล่ว หางยาว ปลายหางแหลมตรง อุ้งเท้าทอดคล้ายเท้าสิงห์ มีความสง่างามขณะเคลื่อนไหว

โบราณเชื่อว่า แมวโกนจาเป็นแมวมงคล ให้คุณกับผู้เลี้ยง ผู้ใดเลี้ยงไว้จะมีสมบัติมากมาย จะช่วยส่งเสริมการงานให้คนเลี้ยงมีอำนาจวาสนา เป็นที่ชื่นชอบของเจ้านาย คิดสิ่งใดทำสิ่งใดก็จะประสบความสำเร็จ ด้วยความที่มีสีดำทั้งตัว จึงมีชื่อลำลองอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ดำมงคล

แมวสายพันธุ์โกนจา มีลักษณะคล้ายกับแมวสายพันธุ์ต่างชาติอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ บอมเบย์ (Bombay)

161838884843

แมวขาวมณี หรือ แมวขาวปลอด

 5. แมวขาวมณี 

แมวขาวมณี หรือ แมวขาวปลอด (Pure White) สันนิษฐานว่าเกิดในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณที่รวบรวมลักษณะแมวมงคล 17 ชนิด มีหลักฐานอยู่บ้างก็ตามจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่างๆในเขตธนบุรี เช่น ในอุโบสถ์วัดทองนพคุณ

  • แมวขาวมณีมีรูปร่างขนาดกลาง ขนสีขาวสั้นแน่น อ่อนนุ่ม ศีรษะคล้ายรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่แบน
  • ดวงตามีสามลักษณะด้วยกัน คือ มีตาสีฟ้าสองข้าง, ตาสีเหลืองสองข้าง และตาสองสี ข้างหนึ่งเป็นสีฟ้าอีกข้างหนึ่งเป็นสีเหลือง

ถึงแม้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ แต่ในปัจจุบันแมวขาวมณี หรือแมวขาวปลอดเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก เนื่องจากมีความเชื่องมาก เหมาะกับการเลี้ยงไว้ดูเล่น และเชื่อว่าจะคอยค้ำ-คูณและนำโชคลาภมาให้เจ้าของได้อยู่เสมอ

หากอยากชมน้องตัวเป็นๆ มีชีวิต เคลื่อนไหวไปมา ขณะนี้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ร่วมกับ ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ โดย อดีตกำนันปรีชา พุคคะบุตร ต้อนรับสงกรานต์ปีใหม่ไทย จัดงาน แมวสยาม เปิดตัวแมวมงคลโบราณพันธุ์ไทยแท้ที่เหลือเพียง 5 สายพันธุ์สุดท้าย ได้แก่ วิเชียรมาศ, สีสวาด, ศุภลักษณ์,  โกนจา และ ขาวมณี  ระหว่างวันที่ 10-18 เมษายน 2564 บริเวณ ชั้น1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา