คุณเลือกเป็น ‘คนแบบไหน’ ในยุคหลังโควิด

คุณเลือกเป็น ‘คนแบบไหน’ ในยุคหลังโควิด

จับตา 4 ลักษณะสำคัญของคนและธุรกิจ ที่จะอยู่รอด ประสบความสำเร็จ หรืออาจถึงขั้นรุ่งได้ ในโลกหลังโควิด-19 จะต้องเป็นอย่างไรบ้าง?

ถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าโควิดจะสร้างความวุ่นวายให้กับชีวิตเราไปอีกนานแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจได้เลยว่าต้องเกิดขึ้นแน่นอนคือ โลกหลังโควิด โดยเฉพาะโลกของธุรกิจและการทำงานจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว โมเดลธุรกิจจะเปลี่ยนไป การล้มหายตายจากและการเกิดใหม่ของธุรกิจมีมากขึ้น ธุรกิจต้องแข่งกันในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ดังนั้น คนที่จะประสบความสำเร็จด้านการงานได้ในโลกหลังโควิดย่อมต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิมด้วยเช่นกัน หากจะแบ่งกลุ่มคนที่อยู่รอดและอาจถึงขั้นรุ่งได้ในยุคหลังโควิดก็แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เก่งนำหน้าปัญญาประดิษฐ์ คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่โปรแกรมเมอร์ระดับหัวกะทิ แต่รวมถึงคนในสาขาวิชาชีพอื่นที่มีทักษะเฉพาะซึ่งปัญญาประดิษฐ์ยังทำไม่ได้ หรือสามารถทำได้ แต่ไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจที่จะพัฒนาและนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในด้านนั้น เนื่องจากขนาดของลูกค้ามีน้อยเกินไป เช่น ศิลปินที่มีลายเส้นเฉพาะตัว พ่อครัวที่มีสูตรอาหารประจำตระกูล นักข่าวที่มีลีลาในการเขียนเป็นเอกลักษณ์ ทีมออกแบบเกมที่รู้จักนิสัยของกลุ่มลูกค้าของตัวเองในมิติที่การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ไปถึงได้

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มซูเปอร์เป็ด เนื่องจากธุรกิจยุคใหม่เน้นความคล่องตัว ให้ความสำคัญกับความเร็วในการปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปและทันกับความต้องการของลูกค้าที่คาดเดาล่วงหน้าได้ยาก สินค้าที่ขายในวันนี้อาจไม่เป็นที่ต้องการในวันพรุ่งนี้ คู่แข่งหน้าใหม่โผล่ขึ้นมาเป็นม้ามืด ความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศ การระบาดของโรคอุบัติใหม่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เตรียมทางออกเป็นสูตรสำเร็จไว้ล่วงหน้าไม่ได้ 

ธุรกิจจึงมองหาคนที่เป็นซูเปอร์เป็ด ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานในหลายตำแหน่งได้ และทำได้ดีในทุกตำแหน่งที่รับผิดชอบ คนแบบนี้จะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้ทันเวลา สามารถตอบสนองต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มอึดถึกทน กลุ่มนี้หมายถึงคนที่ยังพอรักษางานไว้ได้เพราะยอมทำงานหนัก รับค่าตอบแทนน้อย นายจ้างเลยมองว่ายังคุ้มค่าที่จะจ้างไว้อยู่ แต่ภาระงานจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใดที่เกิดปัญหาทางธุรกิจขึ้นมาก็มีสิทธิถูกเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรก หากเป็นฟรีแลนซ์ โอกาสได้งานจะขึ้นอยู่กับค่าตัวที่เสนอไป ซึ่งต้องแข่งกับคนอื่น เลยเรียกค่าตัวสูงไม่ได้ เรียกว่าทำงานหนักไปก็ได้แก่พอยาไส้ มองไปก็ไม่เห็นความก้าวหน้าในอนาคตของตัวเอง

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มหนีตลาด กลุ่มนี้คือคนที่เปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิตจากการเน้นทำงานเพื่อสร้างรายได้ ไปเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการลดรายจ่ายและการเพิ่มรายได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกจะทำได้ และรูปแบบของการหนีจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับทุนเดิมที่มี ถ้าเป็นคนที่พอมีที่ดินก็อาจกลับไปใช้ที่ดินของตนเองทำการเกษตรที่เน้นให้พอมีพอกิน เหลือแล้วค่อยขาย ควบคู่ไปกับการหารายได้เสริมจากอาชีพอื่นควบคู่กันไปด้วย เมื่อสามารถลดรายจ่ายได้ แม้รายได้ไม่สูง ก็ยังพอประคองตัวไปได้

กลุ่มหนีตลาดอาจเป็นการผสมผสานทางเลือกที่แตกต่างกัน เช่นมีที่ดินผืนเล็กๆ ไว้ทำเกษตรแบบพอกินเพื่อลดรายจ่าย มีการทำอาชีพเสริม และมีเงินเก็บสักก้อนที่เอาไปลงทุนเพื่อกินดอกผลจากการลงทุนควบคู่กันไปด้วย

ไม่ว่าคุณจะเลือกเป็นคนแบบไหน ลักษณะสำคัญ 2 อย่างที่คนทั้ง 4 กลุ่มนี้ต้องมีเหมือนกัน ลักษณะสำคัญอย่างแรก คือต้องเป็นคนที่รู้ลึกรู้จริงในบางเรื่องที่ใช้เป็นแกนกลางของชีวิตในโลกของงานยุคใหม่ และสามารถต่อยอดสิ่งที่รู้ลึกให้ลึกขึ้นไปกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง มีแต่คนที่รู้ลึกเท่านั้นถึงจะมองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และเก่งพอที่จะเอาความรู้ของตนไปคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นได้

ลักษณะสำคัญอย่างที่สอง คือต้องรู้หลากหลาย แม้ว่าความรู้หลักจะสำคัญ การมีความรู้หลากหลายย่อมช่วยให้เรามีความคล่องตัวในการปรับตัวไปหาโอกาสใหม่ เพราะบางครั้งโอกาสใหม่หากใช้แค่สิ่งที่เรารู้ลึกอย่างเดียวอาจไม่พอ

โลกหลังโควิดจึงไม่ใช่โลกที่สวยงามสำหรับทุกคน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างผู้ที่พร้อมกับผู้ที่ไม่พร้อม โควิดเลยไม่ได้เป็นแค่ไวรัสที่ส่งผลต่อสุขภาพ อิทธิฤทธิ์ที่แท้จริงของโควิดคือการทำลายสุขภาพทางเศรษฐกิจอย่างไร้ปรานี ใครมีภูมิต้านทานก็รอดไป ใครที่แข็งแรงไม่พอก็จะโดนโควิดลงโทษ ทำให้การใช้ชีวิตในโลกของงานยุคใหม่กลายเป็นเรื่องทรมานแบบไม่เห็นจุดจบ