22 กันยายน "วันแรดโลก" สำคัญต่อธรรมชาติแค่ไหน ทำไมต้องอย่าลืมแรด?

22 กันยายน "วันแรดโลก" สำคัญต่อธรรมชาติแค่ไหน ทำไมต้องอย่าลืมแรด?

22 กันยายน "วันแรดโลก" ชวนรู้ความสำคัญทำไมต้องอนุรักษ์แรด? พร้อมส่องมูลค่าทางเศรษฐกิจของความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติที่สูงถึง 125 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้งเมื่อถึง "วันแรดโลก" ที่ตรงกับวันที่ 22 กันยายนของทุกๆ ปี แล้วทำไมคนเราต้องอนุรักษ์แรด? สัตว์ป่าชนิดนี้มีความสำคัญต่อธรรมชาติและเศรษฐกิจโดยรวมของโลกนี้อย่างไร?

คำตอบของเรื่องนี้ คงต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลจากรายงานดัชนี Living Planet Index 2018 ของ "กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล" (World Wide Fund for Nature : WWF) ที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มนุษย์ใช้งานจากทุกอย่างในธรรมชาติเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งมีการประเมินว่าทรัพยาการทางธรรมชาติเหล่านั้นมีมูลค่าประมาณ 125 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าว ถูกประเมินโดยหลักนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลทั่วโลก ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการระบบนิเวศ (IPBES) โดยใช้ข้อมูลจากดัชนี Living Planet มาช่วยวิเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่น โครงการอนุรักษ์แนวปะการัง Great Barrier Reef ในประเทศออสเตรเลีย สามารถดึงให้ผู้คนร่วมบริจาคเงินได้สูงถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับเศรษฐกิจของออสเตรเลีย และยังสร้างอาชีพด้านการอนุรักษ์ได้ถึง  69,000 ตำแหน่ง 

160070425476

ในขณะเดียวกัน มูลค่าทางเศรษฐกิจของสินทรัพย์ที่ใช้ที่ดินตามธรรมชาติในอเมริกา อยู่ที่ประมาณ 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำปีของภูมิภาค (GDP)

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติมอบสินค้าและบริการที่จำเป็นมากมายให้กับมนุษย์ เช่น อาหาร น้ำดื่ม ที่ดินอยู่อาศัย ผืนป่าที่ช่วยป้องกันน้ำท่วม และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่หากความหลากหลายทางธรรมชาติลดน้อยลง ทรัพยากรพืชและสัตว์ป่าต่างๆ ลดจำนวนลง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ (พื้นที่ป่าลดลง,อาหารลดลง,สัตว์สูญพันธุ์) แต่ยังกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งโลก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่มนุษย์ต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า เพื่อพยุงทั้งความอยู่รอดของเราและเศรษฐกิจโลกไปพร้อมๆ กัน

160070425394

หนึ่งในวาระสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ถูกพูดถึงทุกปีก็คือ “วันแรดโลก” และการอนุรักษ์ “แรด” เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติอย่างมาก และถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ต่างจาก “ช้างสุมาตรา” “เสือดาว” “อุรังอุตัง” หรือ “นกเงือก” 

จากข้อมูลการวิจัยของนักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์พบว่า ขอบเขตพื้นที่ที่แรดมักเลือกอาศัยอยู่นั้น จะสอดคล้องกับสายพันธุ์พืชและสัตว์ป่าสำคัญชนิดอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การอนุรักษ์แรดจึงเปรียบเสมือนการดูแลและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าสายพันธุ์อื่นข้างเคียงไปด้วย 

160070425537

ล่าสุด! มีรายงานจากมูลนิธิแรดนานาชาติ (International Rhino Foundation : IRF) ระบุถึงสถานะและจำนวนประชากรของแรดทั่วโลก โดยพบว่าเหลือแรดที่รอดชีวิตอยู่บนโลกนี้ 5 สายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์ลดจำนวนลงอย่างมาก จนอยู่ในขั้นที่เรียกว่า “เสี่ยงอันตราย” ต่อการสูญพันธุ์ โดยรายงานดังกล่าวสรุปข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้ไว้ดังนี้

  • รายงานสถานะแรดประจำปี 2022 พบว่าประชากรแรดทั่วโลกมีน้อยกว่า 27,000 ตัว
  • ประชากร ‘แรดเขาเดียว’ อยู่ในสถานะ “เปราะบาง” มีประชากรเพียง 4,000 กว่าตัวในอินเดียและเนปาล
  • ประชากร ‘แรดชวา’ อยู่ในสถานะ “เสี่ยงอันตราย” ต่อการสูญพันธุ์ มีแรดชนิดนี้เหลืออยู่เป็นกลุ่มสุดท้ายของโลกโดยเหลือเพียง 76 ตัว และยังคงเผชิญกับภัยคุกคามจากมนุษย์
  • ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ‘แรดสุมาตรา’ ลดลง 13% “เสี่ยงอันตราย” ต่อการสูญพันธุ์ โดยมีแรดชนิดนี้เหลืออยู่น้อยกว่า 80 ตัวในอินโดนีเซีย
  • ประชากร ‘แรดขาว’ อยู่ในสถานะ “ใกล้ถูกคุกคาม” จำนวนแรดขาวในแอฟริกาลดลงต่อเนื่องจากการรุกล้ำที่อยู่อาศัย ประชากรลดลงเกือบ 12% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 18,067 ตัว เหลือเพียง 15,942 ตัวในปัจจุบัน
  • ประชากร ‘แรดดำ’ อยู่ในสถานะ “เสี่ยงอันตราย” พบว่าแรดดำในแอฟริกาเพิ่มจำนวนขึ้น 12% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 5,495 ตัวในปี 2560 เป็นมากกว่า 6,000 ตัวในปัจจุบัน

ที่สำคัญที่ทุกคนควรตระหนักและช่วยกันแก้ไขคือ การค้า ‘นอแรด’ อย่างผิดกฎหมายยังคงเกิดขึ้น ในแต่ละปีมีแรด 1,000 ตัวที่ถูกฆ่าเอานอแรดเพื่อซื้อขายอย่างผิดกฎหมาย ถือเป็นกิจกรรมอาชญากรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก โดยมีมูลค่าประมาณ 7-23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ขณะที่ IRF ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ ในการอนุรักษ์แรดใน 10 ประเทศมายาวนานตลอด 31 ปี โดยมุ่งเน้นที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การต่อต้านการรุกล้ำพื้นที่ป่า การผสมพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ การสนับสนุนชุมชน การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การสืบสวนอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า การฝึกอบรมทางกฎหมาย และการสนับสนุนการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา IRF ได้ลงทุนมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ในการอนุรักษ์และวิจัยแรด

สำหรับในประเทศไทยนั้น มีบันทึกว่าประเทศไทยเคยเป็นเเหล่งที่อยู่อาศัยของแรดป่าสองชนิด ได้แก่ "แรดชวา" และ "แรดสุมาตรา" (กระซู่) แต่สัตว์ป่าทั้งสองชนิดได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนเเล้วว่าเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Extinct in the wild) ในไทยไปแล้ว

160070425438

--------------------------------------

อ้างอิง : weforum.orgliving planet, rhinos.org