เผยสถิติความรุนแรงเด็ก-สตรี พุ่งสูงขึ้นทุกปี
วงสัมมนากมธ.สังคมสนช. เผย สถิติความรุนแรงเด็ก-สตรี พุ่งสูงขึ้นทุกปี เหตุทัศนคติเพศชายเป็นใหญ่ พบเหยื่อไม่กล้าฟ้องคดี เพราะอับอาย
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวเปิดการสัมมนาเรื่อง”ยกระดับ...การยุติความรุนแรงในครอบครัว สตรีและเด็ก ว่า สถิติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งการเก็บสถิติเป็นเรื่องยากได้ข้อมูลเมื่อเป็นข่าวและคดี หรือส่งโรงพยาบาลเท่านั้น โดยในปี 2558 เก็บสถิติความรุนแรงกว่า 3 หมื่นราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 มีจำนวนกว่า 28,000 คน โดยแบ่งเป็นเด็กกว่า 19,000 คน สตรีกว่า 12,000 ราย ในกลุ่มของเด็กพบว่าร้อยละ 90 เป็นหญิง อายุระหว่าง 10-15 ปี โดยอันดับหนึ่ง เป็นกระทำรุนแรงต่อร่างกาย ทั้งกักขัง บังคับ ทุบตี อันดับสอง เป็นคดีทางเพศ ทั้งข่มขืน กระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ
นายวัลลภ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญมาจากทัศนคติที่ยังคงมองว่า ผู้ชายมีความเป็นผู้นำ เป็นใหญ่ในทุกเรื่อง ผู้หญิงจึงถูกกดขี่ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด โดยแนวทางแก้ไขคือ ต้องปรับเปลี่ยนจิตสำนึก มีความตระหนัก โดยเฉพาะผู้ชายต้องปรับทัศนคติไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง การไม่ยอมรับ หรือไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำความรุนแรง นอกจากนี้การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงพ.ร.บความเท่าเทียมทางเพศ
นายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองอธิบดีกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว กล่าวว่า สถิติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ปี 2557 ช่วงเดือนเม.ย.-ต.ค. จำนวน 112 ราย ขณะที่ปี 2558 ช่วงเวลาเดียวกันมีจำนวน 250 ราย เพิ่มขึ้น 138 ราย และมีข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคมจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เหยื่อที่ถูกกระทำได้ขอความช่วยเหลือ 600 รายในปี 2557 ขณะที่ปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 1,463 ราย หรือเพิ่มเป็นร้อยละ 143 ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงกรณีที่ไม่เป็นข่าวอีกจำนวนมาก
พ.ต.อ.หญิงปวีณา เอกฉัตร พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าพนักงานสอบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ส่วนใหญ่ไม่มีการร้องขอให้ดำเนินคดีเพราะขึ้นอยู่กับผู้เสียหายที่จะร้องขอ ที่ผ่านมาพบว่ามีไม่ร้อยละ 10 อาจเป็นเพราะสาเหตุหากมีการดำเนินคดีจะทำให้อยู่ร่วมกันต่อไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการร้องขอให้ดำเนินคดีจะมีคดีอาญาตามมาด้วยหรือไม่
ด้านนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ปรากฏว่ามีคดีขึ้นสู่ศาลน้อยมาก ทำให้กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่วนใหญ่ไปจบที่คดีการทำร้ายร่างกาย จากข้อมูลพบว่าคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวที่ขอชันสูตรเพื่อนำไปขึ้นคดีกว่า 800 ราย แต่มีการดำเนินคดีเพียงร้อยละ 12 โดยผู้หญิงที่ได้รับความเสียหาย ไม่เข้าไปแจ้งความ เกิดความอับอาย และไม่ต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหา ดังนั้นจำเป็นหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดปัญหาการกระทำรุนแรงในครอบครัว