เด็กจบใหม่ต้องสู้ อดีตซีอีโอแนะ อย่ารองานในฝัน แต่สร้างโอกาสเอง

เด็กจบใหม่ต้องสู้ อดีตซีอีโอแนะ อย่ารองานในฝัน แต่สร้างโอกาสเอง

หลายบริษัทไม่รับเด็กจบใหม่ แล้วจะให้มีประสบการณ์การทำงานยังไง? Bonnie Hammer อดีตผู้บริหาร NBCUniversal แนะคนรุ่นใหม่ “อย่ารอแค่งานในฝัน แต่จงสร้างโอกาสด้วยตัวเอง”

KEY

POINTS

  • ตลาดงานไม่ได้ใจดีเหมือนยุคก่อนๆ คนรุ่นใหม่ (เด็กจบใหม่) จำนวนมากเรียนดีแต่หางานไม่ได้ มีใบปริญญาก็อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เมื่อโลกการทำงานวันนี้แข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงเร็ว 
  • AI กลายเป็นด่านแรกก่อนเจอคนจริง หลายบริษัทใช้ระบบ AI คัดกรองใบสมัคร ทำให้ผู้สมัครจำนวนมากไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพให้คนเห็นเลยด้วยซ้ำ
  • อย่าแค่รอโอกาสมาหา แต่ยุคนี้ต้องสร้างขึ้นเอง บัณฑิตใหม่ต้องกล้ารับโอกาสใหม่ๆ แม้ไม่ตรงสาย มองหา-พูดคุย กับผู้คนต่างสายงาน สร้างเครือข่าย และอย่าปฏิเสธโอกาสที่อาจพาไปถึงจุดหมายในอนาคต

เมื่อเร็วๆ นี้ วัยทำงานเพิ่งจะได้รับรู้ข้อมูลชวนอึ้ง เมื่อ "สภาพัฒน์" แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1/2568 โดยอ้างผลการศึกษาของ Hult International Business School ร่วมกับ Workplace Intelligence พบว่า ผู้บริหาร 89% มีแนวโน้มที่จะเลี่ยงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ โดยมีรายละเอียดเจาะลึกลงไปว่า

- นายจ้าง 60% มองว่าเด็กจบใหม่ยังขาดประสบการณ์ในโลกความเป็นจริง
- 51% ของนายจ้างมองว่า ไม่มีทักษะการทำงานที่เหมาะสม
- 55% ของนายจ้างมองว่า ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม
- 50% ของนายจ้างมองว่า มารยาททางธุรกิจยังไม่ดีนัก

สอดคล้องกับตัวเลขการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษานั้นพบว่า มีโอกาสที่จะตกงานสูง ยืนยันจากข้อมูลการว่างงานตามระดับการศึกษาที่ช่วงนี้พบคนรุ่นใหม่มีอัตราว่างงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ โดยคิดเป็นสัดส่วน 1.84% หรือว่างงานอยู่ที่ 131,600 คน 

สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้น่ากังวลแค่ในตลาดแรงงานไทย แต่ตามผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนถึงตลาดแรงงานทั่วโลก ที่พบว่าเกิดกระแสบริษัทหลายแห่ง-ผู้นำองค์กร ไม่จ้างงานบัณฑิตจบใหม่เข้ามาทำงาน ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมโลกการทำงานไปในวงกว้าง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า "ถ้าไม่รับเด็กจบใหม่เข้าทำงาน แล้วจะให้พวกเขามีประสบการณ์วิชาชีพในสายงานนั้นๆ ได้อย่างไร" 

ถ้าอยากมีงานทำ ต้องกล้าเปิดรับทุกโอกาส แม้ไม่ใช่งานในฝัน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก CNBC Make it เมื่อไม่นานมานี้ ได้เปิดเผยคำแนะนำจากอดีตผู้บริหารรุ่นใหญ่จาก NBCUniversal ที่ออกมาสะท้อนความเห็นส่วนตัวในประเด็นนี้ว่า เด็กจบใหม่สมัยนี้ไม่ได้ถูกฝึกฝนมาให้พร้อมรับมือกับตลาดงานที่ผันผวนหนัก แถมยังต้องสู้กับ AI ที่คัดคนก่อนถึงรอบสัมภาษณ์ ดังนั้น ถ้าอยากได้งาน ต้องกล้ายกมือรับทุกโอกาส แม้จะไม่ใช่งานในฝันที่อยากทำก็ตาม

อดีตผู้บริหารคนดังกล่าวก็คือ บอนนี แฮมเมอร์ (Bonnie Hammer) อดีตรองประธาน NBCUniversal ซึ่งได้ออกมาเตือนบัณฑิตจบใหม่ว่า โลกการทำงานตอนนี้ไม่ง่าย และคุณต้องลงมือ ‘สร้างโอกาสให้ตัวเอง’ เพราะเธอเข้าใจดีว่าบัณฑิตใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญกับตลาดแรงงานที่ไม่เป็นใจนัก

“โลกเปลี่ยนไปแล้ว เศรษฐกิจก็เปลี่ยน มุมมองต่อการหางานก็เปลี่ยนไป และเอไอก็เข้ามามีบทบาทอย่างมาก” อดีตผู้บริหารหญิง กล่าวระหว่างร่วมรายการ Squawk Box เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเธอบอกอีกว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย จะต้องมี “ความกล้า ความขยันในการไขว่คว้า มากกว่าที่เคย” 

แฮมเมอร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ “15 Lies Women Are Told at Work” มองว่าบัณฑิตจบใหม่ยุคนี้ มีความพร้อมน้อยกว่ารุ่นก่อนๆ และบางส่วนเป็นเพราะการเลี้ยงดูของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อย่างตนเอง ก็มีส่วนทำให้เด็กรุ่นใหม่มีบุคลิกลักษณะแบบนี้

คนรุ่นใหม่ไม่กล้าคว้าโอกาสงานอาชีพอื่น ที่ไม่ตรงสาย

“เด็กจบใหม่ทุกวันนี้เหมือนถูกจำกัดความสามารถ เพราะคนรุ่นเราไปสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขามากเกินไป แจกเกรด A ให้กับความพยายาม แจกถ้วยรางวัลแค่เพียงไปโผล่หน้าในสนามแข่ง แม้จะไม่ได้ลงแข่งจริงๆ ก็ตาม” เธออธิบาย

สิ่งที่ตามมาคือ คนรุ่นใหม่ไม่กล้าออกไปคว้าโอกาส ไม่กล้ารับงานที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ใฝ่ฝันหรือคาดหวังไว้ พวกเขาคิดว่า ‘ฉันเรียนจบ ฉันมีปริญญา ครูเคยบอกว่าถ้าเรียนดีๆ จะได้งานดี ๆ’ แต่ความจริง โลกการทำงานยุคนี้กลับไม่เป็นแบบนั้นเลย

ข้อมูลเมื่อมีนาคม 2025 ระบุว่า อัตราการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่อยู่ที่ 5.8% ขณะที่อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยรวมอยู่ที่เพียง 2.7% ทั้งนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยทำงานมือใหม่หางานยากขึ้นคือ ระบบคัดกรองด้วย AI ซึ่งหลายครั้งผู้สมัครอาจยังไม่ได้เจอหน้าคนจริง ๆ เลยด้วยซ้ำ จนกว่าจะถึงรอบสัมภาษณ์

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ แฮมเมอร์ ย้ำว่า บัณฑิตใหม่ต้อง “สร้างโอกาสด้วยตัวเอง”

ออกไปหาโอกาส อย่ารอแต่ให้โอกาสวิ่งมาหา ยิ่งเจอ-พูดคุยตัวต่อตัวก็ยิ่งดี

เธอยกตัวอย่างลูกชายของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเพิ่งเรียนจบ เขายื่นใบสมัครไปกว่า 200 ตำแหน่งผ่านเว็บของมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีใครเรียกสัมภาษณ์เลย แต่มีอยู่วันหนึ่ง เขาได้รับคำเชิญให้ร่วมดินเนอร์กับตัวแทนบริษัทต่างๆ แบบกระทันหัน เขาจึงตัดสินใจเช่ารถ ขับไปไกลถึง 200 ไมล์เพื่อไปร่วมงาน

“แค่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในงานดินเนอร์คืนนั้น เขาก็ได้โอกาสเข้าสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัว และสุดท้ายก็ได้งานจริง ๆ” แฮมเมอร์ เล่าในรายการ

เธอบอกว่าการเจอหน้ากันกับผู้คนในสายงานอื่นๆ ได้พูดคุยกันจริงๆ คือสิ่งที่ช่วยให้คนๆ หนึ่งแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด บัณฑิตใหม่ต้องกล้า “ยกมือขอรับโอกาส” อยู่เสมอ

“ต้องกล้าคว้าโอกาสทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พูดคุยกับผู้คนในหลากหลายสายงาน ขอช่องทางการติดต่อพวกเขาเอาไว้ และอย่ากลัวที่จะรับงานที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเส้นทางอาชีพที่ฝันไว้ เพราะนั่นอาจเป็นหนทางสู่อาชีพที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตก็ได้” อดีตผู้บริหาร กล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิง: สภาพัฒน์, Hult International Business School, CNBC Make it